Loading...

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนา “ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ : เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต”

 

ฉายภาพความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย กับสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ : เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต” โดยคณะเศรษฐศาสตร์ และศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำฯ

วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

  

          คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาทางวิชาการในหัวข้อ “ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ : เหลื่อมล้ำตลอดชีวิต” เพื่อฉายภาพของความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยว่า “ชีวิตที่เหลื่อมล้ำ” ของคนไทยนั้นมีสภาพอย่างไร คนไทยจำเป็นที่จะต้อง “เหลื่อมล้ำ” ไปจนตลอดชีวิตหรือไม่ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุม ชั้น 5 ศูนย์การเรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย

          งานวิจัยที่นำเสนอประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนแรก “ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจากหลายมุมมองใหม่” เป็นการฉายภาพความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยผ่านการใช้ชุดข้อมูลและเทคนิคการวิเคราะห์ใหม่ อาทิเช่น การนำภาพถ่ายดาวเทียมมาวิเคราะห์ผ่านเทคนิคใหม่ ๆ ของวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science) และการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำจากหลายมิติของคุณภาพชีวิตคนไทยแทนการวิเคราะห์ด้านรายได้เพียงอย่างเดียว เช่น ด้านการศึกษา การสาธารณสุข สินทรัพย์ทางการเงิน และเทคโนโลยี

          ส่วนที่สอง “ความเหลื่อมล้ำจากวัยเรียนสู่วัยทำงาน” เป็นการวิเคราะห์ภาพและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ทางด้านการศึกษา เพื่อตอบคำถามว่าทำไมความสำเร็จของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาโอกาสการเข้าถึงการศึกษากลับไม่สามารถนำไปสู่การลด “ความเหลื่อมล้ำ” ในด้านคุณภาพการศึกษาได้ และยังอธิบายถึงปัญหาการผลิตแรงงานที่ทักษะไม่ตรงกับงานที่ทำของประเทศไทยว่ามักจะเกิดขึ้นกับคนกลุ่มใด เพราะเหตุใด และส่งผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างที่แรงงานได้รับหรือไม่

          ส่วนสุดท้าย “ความเหลื่อมล้ำเมื่อเจ็บป่วยและชรา” คือความเหลื่อมล้ำในมิติทางด้านสุขภาพ โดยมีการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพครอบคลุมทั้งในระดับปฐมวัย และในระดับผู้สูงอายุ รายละเอียดของงานวิจัยในแต่ละภาพส่วนสามารถสรุปได้ดังนี้

“ความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยจากหลายมุมมองใหม่”

          ผศ.ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยโดยใช้ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ” วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือการวิเคราะห์หาตัวกลุ่มของ “คนจน” โดยการใช้ข้อมูลดาวเทียมและภูมิสารสนเทศ (เช่น ภาพถ่ายทางอากาศ)  มาวิเคราะห์ผ่านเทคนิคใหม่ ๆ ของวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data science) แล้วนำมาสร้างเป็นแบบจำลองเพื่อพยากรณ์ระดับความยากจนในประเทศไทย

          แบบจำลองในงานศึกษาใช้ดัชนีตัวแทนความหนาแน่นของเมืองต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นความหนาแน่นของแสงสว่างกลางคืน  ความหนาแน่นของอาคาร ดัชนีพืชพรรณ ความหนาแน่นของถนน มาเป็นตัววัดความยากจนในแต่ละพื้นที่ โดยผลการพยากรณ์ที่ได้มีความแม่นยำสูงมาก แสดงให้เห็นถึงการใช้ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และเทคนิคใหม่เหล่านี้ว่าจะเป็นประตูบานใหม่ที่ใช้ในการศึกษาเรื่องของความเหลื่อมล้ำได้

          ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ นำเสนองานวิจัยเรื่อง “แนวโน้มความเหลื่อมล้ำ และความกินดีอยู่ดีของครัวเรือนในประเทศไทย” โดยทำการศึกษาประเด็นของความเหลื่อมล้ำให้ครบทุกแง่มุม ด้วยการแบ่งการศึกษาความเหลื่อมล้ำออกเป็น 6 มิติประกอบไปด้วยด้านรายได้ การศึกษา การสาธารณสุข ความเป็นเจ้าของสิ่งอำนวยความสะดวก สินทรัพย์ทางการเงิน และเทคโนโลยี และสร้างดัชนีชี้วัดในแต่ละมิติ

          ผลการศึกษาค้นพบว่าทั้ง 6 มิติความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะลดลง มีเพียงปี พ.ศ. 2556 เท่านั้นที่ความเหลื่อมล้ำกลับมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น  หากเปรียบเทียบมิติย่อย 6 มิติของความเหลื่อมล้ำ  จะพบว่าความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินและเทคโนโลยีมีระดับที่สูงมาก สูงกว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและสาธารณสุขกลับมีระดับที่ต่ำกว่ามิติอื่น

“ความเหลื่อมล้ำจากวัยเรียนสู่วัยทำงาน”

          รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง “เหลื่อมล้ำในวัยเรียน: คุณภาพการศึกษา และการจัดสรรทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำ”  ชี้ประเด็นปัญหาความเสมอภาคของคุณภาพทางการศึกษา ว่ามีความเชื่อมโยงกับทรัพยากรทางการศึกษาที่แต่ละโรงเรียนได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณและครูให้แก่โรงเรียน หรือบทบาทของท้องถิ่นและครัวเรือนในพื้นที่นั้น ๆ การวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการศึกษาปัญหาดังกล่าวโดยวัดคุณภาพของการศึกษาผ่านผลทดสอบโอเน็ตระหว่างโรงเรียนของรัฐบาลทั้งประเทศ

          ข้อค้นพบหลักชี้ว่าการจัดสรรทรัพยากรที่มาจากท้องถิ่น การอุดหนุนที่รับจัดสรรจากรัฐในโครงการเรียนฟรี 15 ปี  ค่าใช้จ่ายครูต่อนักเรียน คุณภาพครู และขนาดโรงเรียน ที่แตกต่างกันส่งผลทำให้คุณภาพของการเรียนรู้ของในแต่ละโรงเรียนแตกต่างกันอย่างมาก ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณที่ไม่เท่าเทียมกับของรัฐบาลในปัจจุบันจึงสร้างปัญหาให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำของคุณภาพทางการศึกษาในแต่ละโรงเรียนให้เกิดขึ้น

          ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ นำเสนองานวิจัยเรื่อง “ความไม่สอดคล้องทางการศึกษากับความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานไทย”  ในงานศึกษาชิ้นนี้ได้ทำการชี้ถึงปัญหาการเข้าทำงานที่ไม่ตรงกับสาขาที่แรงงานจบมาว่าจะส่งผลต่อค่าจ้างที่ได้รับอย่างไร แรงงานที่จบมาทำงานไม่ตรงสายจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าหรือมากกว่าอย่างไร ผ่านการใช้ชุดข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของแรงงานไทย (Labor Force Survey in Thailand: LFS) ระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2560

          ผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยประสบปัญหาความแตกต่างของรายได้ที่เกิดจากแรงงานที่จบไม่ตรงตามสาขาที่ทำงานจริง โดยแรงงานจะมีแนวโน้มที่จะได้ค่าจ้างที่ต่ำกว่าถ้าหากทำงานข้ามสาขาที่ตนเองจบมา โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานมีอายุน้อย จบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษา อยู่ในกลุ่มงานที่มีรายได้น้อยหรืออยู่ในกลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะขั้นกลางและต่ำ ดังนั้นความไม่สอดคล้องทางการศึกษากับงานที่ทำจึงเป็นส่วนสำคัญที่สร้างเพิ่มความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างแรงงานและสะท้อนถึงความไม่สมดุลของตลาดแรงงานไทย

“ความเหลื่อมล้ำเมื่อเจ็บป่วยและชรา”

          ผศ.ดร.ภัททา เกิดเรือง ได้นำเสนองานวิจัยเรื่อง “สุขภาพเด็กไทย ใครกำหนด?: สถานการณ์ปัจจุบันและปัจจัยกำหนดความเหลื่อมล้ำในสุขภาพเด็กปฐมวัย” โดยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กกลุ่มอายุไม่เกิน 5 ปี ในไทยผ่านประเด็นหลัก ๆ สามเรื่องประกอบไปรายได้ของครอบครัว ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว และโภชนาการอาหารที่ได้รับ โดยใช้ข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในปี พ.ศ. 2558-2559

          ข้อค้นพบหลักของงานสะท้อนความเป็นจริงว่าเด็กในครัวเรือนที่ “รวย” จะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน มีโอกาสได้อยู่กับพ่อแม่ (และมีแม่เป็นผู้ดูแลหลัก) รวมทั้งมีโอกาสการเข้าถึงสื่อในการเรียนรู้มากกว่าเด็กที่ “จน” กว่า ดังนั้นความแตกต่างทางด้านรายได้และเวลาของครอบครัวนี้เองจึงจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดสุขภาพและพัฒนาการของเด็กในช่วงอายุไม่เกิน 5 ปี

          ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ ได้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำเชิงภูมิภาคด้านพฤฒิพลังผู้สูงอายุบั่นทอนนโยบายผู้สูงอายุระดับชาติอย่างไร” งานศึกษาชิ้นนี้ศึกษานโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพฤฒิพลัง (Active Ageing) หรือ สูงวัยแบบ “กระฉับกระเฉง”  โดยการใช้ดัชนีพฤฒิพลังผู้สูงอายุ (Active Ageing Index: AAI) และสัมประสิทธิ์ความเหลื่อมล้ำด้านพฤฒิพลังผู้สูงอายุ (Gini AAI) ปี 2557 และ 2560 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

          ผลการศึกษาพบว่ามีความเหลื่อล้ำของความกระฉับกระเฉงระหว่างผู้สูงอายุในต่างภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้น โดยพบเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้นนี้เพิ่มขึ้นใน 4 ด้าน คือด้านสุขภาพ (Health Index) ด้านการมีส่วนร่วม (Participation Index) ด้านความมั่นคง (Security Index) และด้านปัจจัยเอื้อต่อพฤฒิพลัง (Enabling Factors Index)  ดังนั้นภาครัฐจึงควรที่จะออกแบบนโยบายเสริมด้านผู้สูงอายุแยกตามแต่ภูมิภาคไม่ใช่ใช้นโยบายที่มีรูปแบบเดียวกันใช้ทั่วประเทศ หรือ “One-Size-Fits-All Policies” เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของนโยบายระดับชาติให้คุ้มค่ามากที่สุด