Loading...

BBA ธรรมศาสตร์ โชว์ไอเดียแก้ปัญหาธุรกิจการศึกษาในอินเดีย คว้าแชมป์ Strategy Storm 2020

 

ทีม “Shelby & Co” นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Strategy Storm 2020 ณ ประเทศอินเดีย

วันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

  

          ทีม “Shelby & Co” นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ประกอบด้วย นายอเนก คูสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นายพุฒินาท กรุงไกรเพชร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นายอานนท์ อริยะวัตรกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 และนายธนดล สิริจันทกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากโครงการปริญญาตรีบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Strategy Storm 2020 ณ เมืองกูวาฮาติ ประเทศอินเดีย โดยมีทีมนักศึกษาจากทั่วโลกที่เข้าร่วมแข่งขันรายการนี้มากกว่า 350 ทีม

          Strategy Storm เป็นการแข่งขันแก้ไขปัญหาธุรกิจเพื่อสังคมรายการใหญ่ที่สุดของประเทศอินเดีย โดยให้ผู้เข้าแข่งขันค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหาสังคมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกอย่างยั่งยืน ซึ่งในปีนี้การแข่งขันแบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกจัดขึ้นเพื่อคัดเลือกให้เหลือ 10 ทีมสุดท้ายไปแข่งต่อ ณ ประเทศอินเดีย หัวข้อของการแข่งขันรอบแรกเป็นโจทย์ที่ให้ผู้เข้าแข่งขันวางแผนหาวิธีให้บริษัทที่ต้องการจะขยายตลาดในงานพิธีกรรมทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดของโลกในอินเดีย ส่วนการแข่งขันรอบสุดท้ายเป็นการแข่งขันภายใน 12 ชั่วโมง เกี่ยวกับธุรกิจ Startup โจทย์คือหาวิธีเพิ่มอัตรากำไรและขยายตลาดของธุรกิจที่มีเป้าหมายจะช่วยแก้ไขปัญหาการศึกษาในประเทศอินเดียให้เกิดความยั่งยืน

          นายอเนก คูสุวรรณ เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนมีโอกาสได้ร่วมแข่งขันว่า พวกเราเห็นประกาศเปิดรับสมัครการแข่งขันรายการนี้ทางเฟซบุ๊ก จึงเกิดความสนใจและจัดตั้งทีมไปแข่งขัน เพราะเห็นโอกาสที่จะได้พัฒนาตัวเองและอีกทั้งได้เปิดมุมมองใหม่ในแง่ของวัฒนธรรมและความคิดที่สามารถนำมาต่อยอดได้ในอนาคต จนในที่สุด เราก็ผ่านการคัดเลือกให้ไปแข่งขันในรอบสุดท้ายที่ประเทศอินเดีย ซึ่งเราได้ฝึกซ้อมวางแผนกันทั้งในเรื่องของการบริหารเวลาที่เราต้องแก้ไขโจทย์ปัญหาในระยะเวลาที่มีจำกัด เช่น เวลานี้ต้องคิดไปถึงขั้นตอนนี้ ส่วนเวลานี้พัก เป็นต้น และฝึกซ้อมการวางแผนเรื่องระบบความคิด เราได้ทดลองทำโจทย์แก้ไขปัญหาก่อนไปแข่งขันจริงเพื่อที่จะได้ปรับและเรียนรู้ความคิดของคนในทีม เวลาอยู่ในสนามแข่งจริงจะได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด

          นายอานนท์ อริยะวัตรกุล เล่าถึงการแข่งขันอีกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่นักศึกษาโครงการปริญญาตรีบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ไปแข่งการแก้ไขปัญหาที่ประเทศอินเดีย ซึ่งพวกเรารู้สึกกดดันเนื่องจากต้องแข่งขันกับทีมที่มีความรู้ความสามารถอีก 9 ทีม ซึ่ง Strategy Storm เป็นรายการการแข่งขันระดับโลก แต่ทีมที่เข้ารอบสุดท้ายส่วนใหญ่กลับเป็นทีมที่มาจากประเทศอินเดีย เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์สูง ผู้เข้าแข่งขันจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในบริบทของธุรกิจประเทศอินเดียอย่างลึกซึ้ง ทําให้พวกเราต้องพยายามให้มากขึ้น บวกกับมีเวลาจํากัดเพียง 12 ชั่วโมงที่จะแก้ไขปัญหา ขณะการแข่งขันเราจึงต้องจดจ่อกับการวิเคราะห์ ความรวดเร็วในการทํางาน และการตอบคําถามของกรรมการให้ได้อย่างแม่นยํา ซึ่งให้เกิดความตึงเครียดเป็นอย่างมาก แต่เพราะความสามัคคีและมิตรภาพภายในทีม ทําให้ความยากของการแก้ปัญหาและแรงกดดันจากสถานการณ์รอบตัวของเราผ่านไปด้วยดี จนในที่สุดเราสามารถแก้ไขปัญหาได้เสร็จทันเวลาและนําเสนอผลงานต่อคณะกรรมการและกลุ่มผู้บริหารองค์กรได้สําเร็จ

          ส่วนหนึ่งของความสําเร็จที่ได้มาจากความตั้งใจและความพยายามในครั้งนี้ นายพุฒินาท กรุงไกรเพชร เล่าว่า การฝึกซ้อมของพวกเราไม่ได้เริ่มตอนที่พวกเราสมัครการแข่งขันนี้ แต่เริ่มตั้งแต่ที่พวกเราทุกคนก้าวเข้ามาในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียนรู้ประสบการณ์การแข่งขันทางธุรกิจหลากหลายรายการจนได้มาแข่งขันในรายการนี้ ประสบการณ์จากการแข่งขันเวทีต่าง ๆ ช่วยให้พวกเราสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็วทำให้ทำงานเสร็จตามระยะเวลาการแข่งขันที่กำหนด ทั้งยังช่วยให้พวกเราสามารถวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จคือ ความเชื่อใจกันและกันของเพื่อนร่วมทีม เนื่องจากเวลาที่จำกัดพวกเราจึงต้องแบ่งงานกันทำ แต่ละคนจึงจะทำหน้าที่ในส่วนของตัวเองให้ออกมาดีที่สุด

          พวกเราทุกคนดีใจมากที่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะ สิ่งสำคัญที่เราได้กลับมาคือประสบการณ์และมิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน Strategy Storm เป็นหนึ่งในการแข่งขันที่อบอุ่นที่สุดที่พวกเราเคยเข้าร่วม คนอินเดียทุกคนที่เราเจอเป็นมิตรและอัธยาศัยดีมาก เรารู้สึกสนุกและมีความสุขกับการแข่งขันครั้งนี้ นายธนดล สิริจันทกุล กล่าวทิ้งท้าย