Loading...

ไขปัญหา! ใครว่าวัยรุ่นไม่ปวดหลัง? และการนวดใช้ได้ผลดีจริงหรือไม่?

เราได้มีโอกาสพูดคุยถึงสาเหตุอาการเจ็บปวดที่น่ารำคาญใจและขอคำแนะนำจาก ดร.สันทณี เครือขอน อาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปติดตามกัน

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ.2564

     จากที่เราเคยชินกับการที่ผู้หลักผู้ใหญ่มักบ่นถึงปัญหาอาการปวดหลังในอดีต แต่ตอนนี้ใช่ว่าจะเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่มีอายุมากเพียงอย่างเดียว เพราะในปัจจุบัน วัยรุ่นที่อยู่ในช่วงวัยมัธยมปลายไปจนถึงวัยทำงานตอนต้น ก็สามารถเผชิญปัญหานี้ได้เหมือนกัน

     เราได้มีโอกาสพูดคุยถึงสาเหตุของอาการเจ็บปวดที่น่ารำคาญใจและขอคำแนะนำจาก ดร.สันทณี เครือขอน ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกายภาพบำบัดทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนำมาเป็นบทความดี ๆ แบ่งปันให้กับทุกคน

     ดร.สันทณี เครือขอน อาจารย์ประจำภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงสาเหตุของอาการปวดหลังว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงตั้งแต่มัธยมปลายไปจนถึงวัยทำงานตอนต้น เป็นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เกิดจากการเปลี่ยนทางสังคม โดยเฉพาะการขยับเคลื่อนไหวร่างกายในยุคที่มี 4G อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตค่อนข้างเปลี่ยนตั้งแต่ในวัยเด็ก

     ปัจจัยหลัก ๆ ที่พบจากการพูดคุยกับคนไข้ซึ่งเป็นวัยรุ่นและปวดหลังคือมาจากพฤติกรรมเป็นหลัก ตั้งแต่ในวัยเยาว์ นำไปสู่การพัฒนาทางโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง ไม่พร้อมใช้งานเมื่อถูกใช้งานอย่างหนักในวัยรุ่นก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการได้เร็วกว่าคนที่อายุเยอะ

     อาการปวดหลังมันเกิดจากแรงกระทำต่อร่างกายหลากหลายรูปแบบ เช่น การอยู่นิ่ง ๆ อย่างท่านั่ง หรืออยู่ในท่าที่อึดอัด ขดงอ การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันสามารถทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้หมด หรือการแบกหาม ยกของหนัก ๆ โพสเจอร์ซ้ำ ๆ เดิม ๆ หรือปัจจัยภายนอกที่เกิดแรงกระทำจากการทำงาน ท่าทางในการทำงาน สภาพแวดล้อมที่มีการสั่นสะเทือน หรือปัจจัยภายใน คือคนที่ไม่ค่อยแข็งแรง ไม่ค่อยออกกำลังกาย ไม่ค่อยขยับร่างกาย

     ดร.สันทณี กล่าวถึงผลเสียต่อสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาวว่า อันดับแรกคือ เกิดความรำคาญ ไม่สบายตัวเมื่อทำกิจวัตรประจำวัน ใช้ชีวิตลำบากขึ้น เพราะกระดูกสันหลังเป็นโครงสร้างแกนกลางของร่างกาย ฉะนั้น ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรก็ตาม กิจวัตรประจำวันก็จะเปลี่ยนไปเมื่อมีความเจ็บปวด หรือมีอาการบาดเจ็บ ในระยะยาว ถ้าปวดหลังเป็นเวลานาน ร่างกายก็จะขยับน้อยลง ไม่เคลื่อนที่เพราะเจ็บปวด แล้วกล้ามเนื้อที่เราควรจะเคลื่อนไหวทุกวันจะอ่อนแรงลง เกิดการฝ่อลีบในบางส่วนที่ไม่เคลื่อนไหวเลย ส่วนทางอ้อมการเคลื่อนไหวน้อยลงที่นำไปสู่โรคต่าง ๆ อย่างโรคอ้วน เบาหวาน หรือมีปัญหากับการเผาผลาญพลังงาน ส่งผลต่อระดับจิตใจอย่างความเครียด ซึ่งในวัยเด็กก็เกิดขึ้นได้

     อาการปวดมีหลายรูปแบบ แต่ที่เจอในวัยรุ่นมี 2 แบบ คือ 1. การปวดเฉพาะที่ พื้นที่การเจ็บปวดเฉพาะ ซึ่งถือว่ายังปลอดภัย และ 2. การปวดหลังที่เกิดขยายลามไปสู่การปวดในที่อื่น ๆ เช่น การปวดหลังที่ปวดร้าวมาที่บริเวณก้น แล้วลงไปที่ขาท่อนล่าง และปลายเท้า แล้วยังมีอาการชาร่วมด้วย เช่น แขนขาอ่อนแรง ประเภทนี้ถือว่าเริ่มรุนแรงแล้วสำหรับสาเหตุที่มาจากโครงสร้างกระดูกและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ยังมีอาการปวดหลังอีกกลุ่มซึ่งเกิดจากอวัยวะภายใน เช่น คนที่เป็นโรคไต เพราะไตจะอยู่ในตำแหน่งที่ค่อนมาทางบริเวณหลังส่วนล่าง ฉะนั้นถ้ามีโรคภายใน ก็จะเกิดอาการปวดหน่วงมาด้านนอก เป็นต้น

     เมื่อพูดถึงศาสตร์แห่ง “การนวด” เพื่อลดอาการปวดเมื่อยหรืออาการปวดหลังนั้น ดร.สันทณี อธิบายเพิ่มเติมว่า การนวดไม่ใช่ไม่ดี เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ทักษะความรู้ของผู้นวด กับการประเมินปัญหาของคนไข้มันอาจจะมีระดับแตกต่างกัน ถ้านวดเพื่อผ่อนคลายยามเราไม่มีปัญหารุนแรง ก็สามารถทำได้ ซึ่งการนวดมีหลากหลายแบบ หลักการ คือการทำให้เกิดแรงบนโครงสร้างของร่างกาย สิ่งที่เกิดขึ้นทันทีคือการปรับเปลี่ยนการไหลเวียนเลือด เกิดการผ่อนคลายได้ แต่การนวดแบบที่มีการดัด งัด ง้าง จนเกิดการเจ็บจนทนไม่ได้ นั่นคือร่างกายส่งสัญญาณว่ารับไม่ไหว อาจารย์จะไม่แนะนำ เพราะเราไม่สามารถส่องลึกเข้าไปว่าแรงกระทำเหล่านี้จะส่งผลรุนแรงมากจนเกินขอบเขตที่โครงสร้างอันซับซ้อนจะรับได้หรือไม่ มันอาจจะเกิดปัญหาที่รุนแรงได้ เราเองก็ต้องตระหนักและประเมินร่างกายตัวเองก่อน

     สุดท้ายนี้ ดร.สันทณี ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังเผชิญปัญหานี้ว่า ถ้าเจอปัญหาปวดหลังข้ามคืน แล้วพบว่าความเจ็บปวดไม่ลดน้อยลง รบกวนชีวิตประจำวัน ทำบางสิ่งได้ลดลง อย่าอดทน ให้ไปพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด การพักผ่อนที่ดี การกินที่เหมาะสม การขยับเคลื่อนไหวที่ถูกต้องสามารถช่วยได้ สิ่งรอบตัว อย่างโต๊ะ เก้าอี้ เตียง ที่สามารถเหนี่ยวนำไปสู่อาการได้ ก็ควรเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเรามากขึ้น หรือถ้าใครที่คิดว่าอาการปวดยังไม่รุนแรง ก็ลองตั้งสมมติฐานตัวเอง หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต เราก็สามารถประเมินจากประวัติตัวเองได้ แล้วค่อยปรับพฤติกรรม หรือสิ่งสำคัญที่ควรทำเลยแนะนำจากหลายผลการวิจัยคือ การออกกำลังกายเบื้องต้น อะไรก็ได้วันละ 1 ชม. หรือวันเว้นวัน ที่มีความหนักระดับปานกลางถึงหนัก ทำต่อเนื่อง อาศัยระยะเวลา ถ้าทำแล้วไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ควรหาวิธีแก้ไขที่ดีกว่าการออกกำลังกาย