Loading...

แนะผู้ป่วยโรคไต-โรคหัวใจ ควรทาน “ทุเรียน” แต่พอดี ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

 

เมื่อพูดถึง “ทุเรียน” ซึ่งอาจจะเป็นผลไม้โปรดของใครหลายคน แต่หากรับประทานมากเกินไปติดต่อกันอาจนำมาสู่ภาวะการเกิดโรคที่ไม่พึงประสงค์ตามมาได้

วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2564

     ทุเรียนเป็นผลไม้เมืองร้อน ที่มีปริมาณพลังงานต่อหน่วยค่อนข้างมาก โดย 1 เม็ดขนาดกลาง หรือหนักประมาณ 40 กรัม มีพลังงานประมาณ 60 กิโลแคลอรี่ เกือบเท่ากับข้าว 1 ทัพพี (80 กิโลแคลอรี่) หรือเท่ากับกินแอปเปิ้ล 1 ผล  โดยพลังงานส่วนใหญ่มาจากสารอาหารพวกแป้งและน้ำตาลในทุเรียนเป็นหลัก มีไขมันเป็นส่วนประกอบเล็กน้อย โดยนอกจากพลังงานจากแป้งและน้ำตาลแล้ว ทุเรียนมีวิตามินโฟเลต วิตามินเอ และซี รวมถึงมีแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมสูง ดังนั้นทุเรียนจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต

     ผศ.พญ.ศานิต วิชานศวกุล อายุรแพทย์โภชนาการ หัวหน้าหน่วยโภชนาการคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การรับประทานทุเรียนมากเกินไป จะมีโอกาสที่จะได้รับพลังงานเกินความต้องการต่อวัน นำมาซึ่งโรคอ้วน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน และเพิ่มระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด นำมาซึ่งความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจในระยะยาวได้ นอกจากนี้ทุเรียนไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง และโรคหัวใจบางชนิด เนื่องจากในทุเรียน มีแร่ธาตุโพแทสเซียม และฟอสฟอรัส ในปริมาณมาก ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโพแทสเซียมและฟอสฟอรัสเกินได้ เพราะไตไม่สามารถขับสารเหล่านี้ออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำมาซึ่งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เพิ่มการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง เป็นต้น 

     ทุเรียนไม่ควรทานคู่แอลกอฮอล์เนื่องจากปกติตับจะขับพิษแอลกอฮอล์ โดยการเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นสาร acetaldehyde และ acetate เพื่อไปสลายต่อเป็นน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อไป โดยกระบวนการนี้จะต้องอาศัยเอนไซม์ Alcohol dehydrogenase (ADH) และ aldehyde dehydrogenase (ALDH)  โดยพบว่าสารซัลเฟอร์ที่มีมากในทุเรียนจะไปยับยั้งเอนไซม์ Aldehyde dehydrogenase (ALDH) นำไปสู่การคั่งของ acetaldehyde และทำให้เกิดพิษจากสุราได้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดว่ามีปริมาณพลังงาน และน้ำตาลสูง เมื่อรับประทานคู่กับทุเรียนซึ่งก็มีพลังงานสูงเช่นกัน จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เกิดความร้อนในร่างกายสูงเกินไปจากการเผาผลาญอาหารได้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อร่างกาย โดยจะพบอาการแสดง เช่น มีอาการร้อนวูบวาบ ง่วงซึม คลื่นไส้ และอาเจียน เป็นต้น

     การรับประทานทุเรียนอย่างเหมาะสมนั้น คือทานแต่พอดี ประมาณ 1-2 เม็ดต่อวัน และไม่ควรรับประทานทุกวัน โดยควรรับประทานพร้อมกับน้ำเปล่า ทั้งนี้ในผู้ที่จะควบคุมน้ำหนัก ผู้ป่วยเบาหวาน ควรระมัดระวังเรื่องน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อรับประทานอาหารจำพวกแป้ง ดังนั้น อาจต้องลดปริมาณข้าวแป้งในอาหารมื้อหลัก และผลไม้อื่น ๆ เมื่อรับประทานทุเรียน เพื่อลดโอกาสที่จะได้พลังงานจากน้ำตาลที่มากเกินไป

     สำหรับผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคหัวใจ ก็ควรจำกัดไม่เกิน 1 เม็ดต่อครั้ง และไม่ควรรับประทานทุกวันเช่นกัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับเกลือแร่ โพแทสเซียม และฟอสฟอรัสเกินอันนำมาซึ่งการเต้นของหัวใจผิดจังหวะ หรือการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง เป็นต้น ทั้งนี้ ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยส่งเสริมระบบเผาผลาญและความแข็งแรงของร่างกาย ทำให้เราห่างไกลจากโรคอ้วนจากการรับประทานทุเรียน