Loading...

เทคนิคการลงทุนใน “ยุคเงินเฟ้อ” ให้ความเสี่ยงทางการเงินของคุณลดลง

เงินเฟ้ออยู่คู่กับเศรษฐกิจมาโดยตลอด เป็นภาวะที่ค่าของเงินมีค่าน้อยลง หรือเมื่อเวลามีการเปลี่ยนแปลงไป แล้วเราควรเก็บเงินและลงทุนในยุคเงินเฟ้ออย่างไรถึงจะดี

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2565

     “เงินเฟ้อ” อยู่คู่กับ “เศรษฐกิจ” มาโดยตลอด คือภาวะที่ค่าของเงินมีค่าน้อยลง หรือเมื่อเวลามีการเปลี่ยนแปลงไป อำนาจของการจับจ่ายใช้สอยลดน้อยลง เพราะสินค้าและบริการมีการปรับตัวที่แพงขึ้น เช่น หากมีเงินอยู่ 100 บาท เคยซื้อก๋วยเตี๋ยวได้ 2 ชาม ขณะเดียวกันในอนาคตข้างหน้า อาจซื้อก๋วยเตี๋ยวได้แค่ 1 ชาม

     ผศ.ดร.วศิน ศิวสฤษดิ์ อาจารย์ประจำคณะเศษรฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ “เงินเฟ้อ” มีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นจากสองฝั่ง คือ อุปสงค์ ความต้องการซื้อที่มีมากขึ้น หรือเรียกว่า Demand Pull Inflation อุปสงค์ดึงเงินเฟ้อให้สูงขึ้นมา คนมีอำนาจจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น ความต้องการมากขึ้น แต่ในขณะที่สินค้ามีจำกัด ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ปรากฏการณ์นี้เราเห็นได้ในสหรัฐฯ หากมองย้อนไปเมื่อปลายปี 2564 ผู้คนอัดอั้นไม่ได้ใช้สอย พอได้ออกมาใช้สอยมากขึ้น เรียกภาวะดังกล่าวว่า Demand Pull Inflation ขณะที่ฝั่งผู้ผลิต หรืออุปทาน เกิดภาวะช็อคตอนสถานการณ์โควิด-19 จึงมีการหยุดทำงาน กำลังการผลิตหยุด แผนการผลิตน้อยลง พอกลับเข้าสู่ภาวะที่กำลังจะเป็นปกติ กำลังการผลิตจึงกลับมาไม่ทัน เกิดขาดขาดความต่อเนื่องของสินค้าและบริการ (Supply shortage) ส่งผลทำให้ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น เกิด Supply Push Inflation จากฝั่งอุปทาน

     หากมองเรื่อง “เงินเฟ้อของประเทศไทย” ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล จะเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คืออัตราการเปลี่ยนแปลงของสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคพบเจอ คำนวณจากทุกหมวดสินค้า รวมถึงปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องกับ Supply chain ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติความขัดแย้งในรัสเซียและยูเครน ปัจจัยพวกนี้ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยขยับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา

     ในช่วงระยะเวลาที่ผ่าน ไม่ว่าสหรัฐฯ หรือประเทศไทย ตัวของเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ธนาคารกลางส่วนใหญ่จึงต้องเข้าไปปรับดอกเบี้ยนโยบายให้เพิ่มสูงขึ้นเพื่อดึงให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบที่กำหนดไว้ จากที่เห็นธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) พยายามขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาโดยตลอด หากมองย้อนกลับมาในกรณีของประเทศไทย เราก็คงจะเห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นเช่นกัน สาเหตุหนึ่งคือเพื่อสกัดเงินเฟ้อนั่นเอง และให้สอดคล้องกับบริบทการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินโลก

     ซึ่งหากมองเงินเฟ้อในกรอบระยะสั้น มีความกดดันของการปรับตัวค่อนข้างสูงซึ่งเกินกรอบไปเยอะมากซึ่งเป็นผลหลัก ๆ มาจากราคาพลังงานโลกและต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามถ้ามองไปกรอบระยะกลางคือ 1 ปีหลังจากนี้ เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบกลาง ๆ ประกอบกับราคาน้ำมันที่มีสัญญาณดีขึ้น คาดว่าเงินเฟ้อจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในระยะกลาง แต่ในระยะสั้นภาวะเงินเฟ้อก็ยังคงกระทบกับผู้คนทั่วไปแน่นอน เพราะถ้าเรามีเงินเท่าเดิม แต่กลับซื้อของได้น้อยลง อำนาจการจับจ่ายก็แย่ลงไปด้วย

     “ในช่วงระยะ 1 ปีนี้ ภาวะเงินเฟ้อยังเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทย เราคงจะได้เห็นปรากฏการณ์อัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวขึ้นจากเดิม เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับคนที่มีภาระที่ต้องใช้หนี้สินที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยในลักษณะ Floating ต้องเตรียมตัวแบกรับภาระในส่วนนี้เพิ่มขึ้น หรือแม้แต่คนที่คิดจะกู้ยืมเงินก้อนใหม่เพื่อซื้อบ้านหรือลงทุน แน่นอนว่าต้นทุนที่เราจะเห็นต่อจากนี้ ปีนี้และปีหน้าจะมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น” ผศ.ดร.วศิน กล่าว

     ผศ.ดร.วศิน ได้ให้แนะนำวิธีการเก็บเงินรวมถึงการลงทุนในยุคเงินเฟ้อว่า ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า เงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนในทุกสินทรัพย์เสี่ยงในทางการเงิน เราไม่สามารถกำจัดได้ แต่เราจำกัดได้ โดยวิธีการที่ดีที่เราจะจำกัดความเสี่ยงที่เกิดจากเงินเฟ้อ คือ

   1. อย่าตกใจ อย่าเอาเงินออกมาถือไว้กับตัว เพราะยิ่งไม่ได้อะไรเลย แทนที่จะรักษาอำนาจการซื้อได้บางส่วน กลายเป็นเราไม่สามารถรักษาอำนาจซื้อได้เลย เพราะถูกกัดกร่อนด้วยเงินเฟ้อตลอด

   2. ให้คงรักษาวินัยทางการเงินให้ดี คือการเอาเงินไปลงทุนตามที่เราวางแผนเอาไว้ เช่น กรณีราคาทองคำลดลง ให้แบ่งเงินบางส่วนไปซื้อทองคำเก็บไว้ หรือลงทุนในกองทุนที่เกี่ยวกับทองคำ ซึ่งจะสามารถ Limit Loss ที่เกิดจากเงินเฟ้อได้ค่อนข้างดี

   3. หากลงทุนในตราสารหนี้ ก็ไม่ควรถือตราสารหนี้ระยะยาวมากเกินใป ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เพราะมีความเสี่ยงพื้นฐานคือ ถ้านับจากนี้ไป หากธนาคารแห่งประเทศไทย มีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น แน่นอนว่า อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินต้องมีการปรับเพิ่มตามไปด้วย การที่เราเลือกถือตราสารหนี้ระยะยาว จะทำให้มีโอกาสสูญเสียมูลค่าจากการถือครองสูง ให้พยายามถือตราสารหนี้ที่มีระยะค่อนข้างสั้น เมื่อครบระยะเวลาการถือครองอาจมีตราสารหนี้ตัวใหม่ออกมา แล้วให้ผลตอบแทนในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เราก็สามารถที่จะ Roll over ไปถือครองตราสารหนี้ตัวใหม่ได้

   4. กรณีเรื่องหุ้น หากต้องการจำกัดความเสี่ยง โดยทั่วไปเราควรจะถือกลุ่มหุ้นที่ไม่หวือหวามากนัก คือหุ้นที่ไม่เคลื่อนไหวพ้องไปกับภาวะเศรษฐกิจมาก ทั้งนี้อาจพิจารณาลงทุน ในหุ้นกลุ่มสินค้าที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งช่วงนี้อาจจะเป็นโอกาสดีที่หุ้นบางตัวดรอปลงไปเยอะ และรอเวลาที่ตลาดจะรีเทิร์นกลับขึ้นมา

     และวิธีสุดท้ายที่เป็นพื้นฐาน 5. อย่าเก็บเงินสดไว้ที่บ้าน ยกตัวอย่างเช่น ค่าเงินของเราที่บ้าน 100 บาท เมื่อเวลาเปลี่ยน อำนาจของเงินในการซื้อของก็ลดลง ทางที่ดีให้นำไปฝากธนาคาร ให้คงได้อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารให้ และอย่าฝากแบบระยะยาว ให้ฝากในอัตราดอกเบี้ยที่อิงตามดอกเบี้ย ณ ช่วงเวลาต่าง ๆ จะดีกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุด เราไม่สามารถที่จะสกัดหรือกำจัดเงินเฟ้อได้ 100% แต่เราจะลด loss จากการเกิดเงินเฟ้อได้ เช่น ธนาคารให้ดอกเบี้ย 1% แต่เงินเฟ้อไป 2% แล้ว อย่างน้อย loss คือ -1% แต่ถ้าเราเอามาเก็บไว้ที่บ้าน loss จะเท่ากับ -2%

ในภาวะที่เงินเฟ้อสูงมากจนน่าตกใจ สิ่งที่ทุกคนต้องทำในเวลานี้ เพราะเงินมีอยู่จำกัด คือ

   1. คิดก่อนใช้เสมอ มีวินัยทางการเงิน ก่อนจะใช้อะไรต้องรู้ก่อนว่าสิ่งนี้จำเป็นกับเรา เราถึงจ่ายเงินออกไป สินค้าฟุ่มเฟือยถ้ารอได้ ให้รอไปก่อน

   2. รู้จักการลดและจำกัดความเสี่ยง อย่างเอาเงินสดเก็บไว้ที่บ้าน พยายามนำเงินไปลงทุน อย่างการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ หรือขยับมาซื้อกองทุน หรือกองทุนที่มีส่วนผสมของทองคำ หรือกองทุนที่ลงทุนในสินค้าหรืออุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นกับการใช้ของผู้คน

   3. อย่าตื่นตกใจ เรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และใช้เทคนิคข้างต้นในการลงทุน