Loading...

นักวิชาการคณะวิทย์ฯ ธรรมศาสตร์ จับตาเคลื่อนย้ายผงฝุ่นสีแดง ‘ซีเซียม-137’ กลับปราจีนบุรี

นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะรัฐควรเปิดแผนปฏิบัติการให้ประชาชนทราบ กรณีขนย้ายฝุ่นแดง ‘ซีเซียม-137’ และสื่อสารในทิศทางเดียวกัน

วันพุธที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2566

     นักวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมจับตาภารกิจการเคลื่อนย้ายผงฝุ่นสีแดงจาก จ.ระยอง เพื่อกลับไปยัง จ.ปราจีนบุรี ซึ่งควรมีการเปิดเผยแผนปฏิบัติการให้ประชาชนทราบล่วงหน้า โดยมีการชี้แจงวิธีการและมาตรฐานปลอดภัยตลอดการขนส่ง เพื่อป้องกันเหตุสุดวิสัยระหว่างการขนย้าย โดยยึดหลักของการจัดเก็บ ซึ่งต้องมิดชิด รัดกุม และมีอุปกรณ์ที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน พร้อมแนะภาครัฐควรนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีความน่าเชื่อถือ มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และสื่อสารผ่านศูนย์ปฏิบัติการฯ เฉพาะกิจ ที่จัดตั้งโดยรัฐบาล โดยนำเสนอข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสน และสร้างความเชื่อมั่นภาคประชาชน

     รศ.ดร.พีระศักดิ์ เภาประเสริฐ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วัตถุรังสี ‘ซีเซียม-137’ (Cs-137) ไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียมสูญหาย และในภายหลังถูกค้นพบว่าได้ผ่านกระบวนการเข้าเตาหลอมจนเหลือเป็นผงฝุ่นสีแดง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ว่าเป็นผงฝุ่นที่หายไปอย่างชัดเจน ซึ่งจัดเก็บภายในโรงงาน จ.ระยอง ซึ่งได้ประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุม โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีผงฝุ่นซีเซียม-137 ภายในโกดังปริมาณ 2.4 ตัน โดยมีแนวทางในการขนย้ายเพื่อนำกลับไป จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของวัตถุรังสีดังกล่าว

     โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความห่วงใยต่อกระบวนการขนย้ายข้ามจังหวัด ซึ่งมีความเสี่ยงที่น่ากังวล และมีความจำเป็นต้องมีแผนการทำงานที่รัดกุม และประกาศให้ประชาชนได้รับรู้ อีกทั้งควรมีเครื่องวัดสารกัมมันตรังสีติดไว้ว่าขณะเคลื่อนย้ายมีความเข้มข้นของสารอยู่ในระดับใด และเจ้าหน้าที่ต้องสวมชุดและอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานขณะปฏิบัติงานอยู่ใกล้วัตถุรังสีด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการกระบวนทำงาน ที่เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งจะช่วยลดข้อกังวลของภาคประชาชนที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน พร้อมแนะภาครัฐควรนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีความน่าเชื่อถือ มีข้อมูลสนับสนุนทางวิชาการ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และสื่อสารผ่านศูนย์ปฏิบัติการฯ เฉพาะกิจ ที่จัดตั้งโดยรัฐบาล โดยนำเสนอข้อมูลไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันความสับสน และสร้างความเชื่อมั่นในภาคประชาชน

     ด้าน อาจารย์ ดร.รุจิภาส บวรทวีปัญญา อาจารย์ประจำสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โดยปกติสารซีเซียม เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง ค่ากัมมันตรังสีจะลดน้อยลงตามลำดับตามค่าครึ่งชีวิตของสารกัมมันตรังสี และต้องผ่านกระบวนการกำจัดโดยหน่วยงานของภาครัฐ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นกรณีสุดวิสัย แต่ยังคงต้องอาศัยกระบวนการจัดเก็บหรือกำจัดอย่างปลอดภัย และยังมีความจำเป็นที่จะต้องจัดโซนนิ่งแยกพื้นที่ปลอดภัย และแบ่งพื้นที่เป็น 3 ระยะ คือ

   สีแดง คือ ระยะอันตราย

   สีเหลือง คือ ระยะปลอดภัยสำหรับผู้ปฏิบัติหน้าที่

   สีเขียว คือ ระยะปลอดภัยสำหรับบุคคลทั่วไป ไม่เข้าใกล้ก็ไม่ได้รับผลกระทบ

     ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องปฏิบัติงานหรือรับสารดังกล่าว สำหรับผู้ปฏิบัติงาน ไม่ควรเกิน 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี ขณะที่ประชาชนไม่ควรเกิน 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี โดยสามารถสังเกตอาการไม่พึงประสงค์ได้ กรณีที่ได้รับสารโดยตรงในปริมาณมากจะมีอาการแสบผิว วิงเวียนศีรษะ อาเจียน โดยหากประชาชนมีข้อกังวลเกี่ยวกับอาการ สามารถพบแพทย์เพื่อตรวจสารกัมมันตรังสีในเลือดได้ ทั้งนี้ ปริมาณสารดังกล่าวในปัจจุบันมีเพียง 0.4-0.5 มิลลิกรัมเท่านั้น ซึ่งถือเป็นปริมาณที่น้อยมากหากเทียบกับเหตุการณ์เชอร์โนบิล

     อาจารย์ ดร.ณัฐฐา แสงนรินทร์ เหมจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า แม้สาร ‘ซีเซียม 137’ จะถูกเผาและแปรสภาพเป็นผงฝุ่นสีแดงแล้ว แต่ยังคงมีคุณสมบัติไม่ต่างจากลักษณะแท่ง เพราะสามารถแผ่รังสีได้ ซึ่งความน่ากังวลของเหตุการณ์คือ ผงฝุ่นสีแดงที่เกิดขึ้นหลังการหลอม ถูกพบบรรจุในถุงบิ๊กแบ็คเพียง 90% และอีก 10% ที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ และยังคงคุณสมบัติเดิม ดังนั้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและตระหนักรู้แก่ภาคประชาชน ภาครัฐจึงควรออกมาให้ความรู้และสร้างฐานข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็น อาทิ พื้นที่ที่มีการใช้สารดังกล่าว ระดับความเข้มข้นของสาร ระยะการใช้งานของสาร ฯลฯ  หากบริเวณใกล้เคียงมีการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ จะสามารถดูดซึมสารซีเซียมและสะสมในเนื้อเยื่อได้ ในที่สุดจะมีโอกาสปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร ขณะเดียวกัน อยากย้ำเตือนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และติดตามข่าวสาร โดยเฉพาะค่าปริมาณรังสีรายวันอย่างใกล้ชิดอีกด้วย