Loading...

สถาบันสัญญาฯ ร่วมกับสถาบันปรีดีฯ จัดเสวนา PRIDI Talks #18 x SDID “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนาวิชาการ PRIDI Talks #18 x SDID หัวข้อ “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2565

     สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับ สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนาวิชาการ PRIDI Talks #18 x SDID ในหัวข้อ “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2565 ในวาระ “วันรัฐธรรมนูญ” ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยได้รับเกียรติ
จากนักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ร่วมเป็นวิทยากร อาทิ นายกล้า สมุทวณิช, ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน, รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โดยมี อาจารย์วิโรจน์ อาลี เป็นผู้ดำเนินรายการ

     ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในโอกาสวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันรัฐธรรมนูญของไทย จึงเห็นควรจัดงานเสวนาวิชาการ เพื่อเปิดพื้นที่ทางความรู้ มุมมอง รวมไปถึงการสร้างความเข้าใจที่แท้จริงต่อรัฐธรรมนูญที่มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และหนทางอันจะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่อย่างไร

     รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวนำในหัวข้อ “การสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ” ถึงการสถาปนาระบอบปกครองโดยมีหลักการสำคัญคือประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นหัวใจสำคัญ อันจะนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนได้อย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

     ซึ่งการสถาปนาและการจัดทำ “รัฐธรรมนูญ” หรือ กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองของประเทศมีลักษณะสำคัญด้วยกันอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ ประการแรก เพื่อเป็นหลักประกันแก่สิทธิและเสรีภาพของประชาชนรวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในด้านอื่น ๆ และประการที่ 2 รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นกติการสูงสุดในการกำหนดความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสถาบันทางการเมือง เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์และหน้าที่ของสถาบันทางการเมืองต่อประชาชน และประชาชนต่อสถาบันการเมืองต่าง ๆ

     โดยแนวทางออกระบอบประชาธิปไตยให้สอดรับกับการพัฒนาระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความเชื่อค่านิยมวัฒนธรรม อันจะนำมาซึ่งความเกื้อกูลต่อการดำรงอยู่อย่างมั่นคงของระบอบการเมืองในวิถีประชาธิปไตย

     คุณกล้า สมุทวณิช นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “ทฤษฎีอำนาจกับการสถาปนารัฐธรรมนูญ” กล่าวถึง อำนาจสถาปนาของรัฐธรรมนูญ ที่มีจุดกำเนิดนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม อำนาจดังกล่าวได้ก่อกำเนิด “อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิม” ให้แก่ประชาชนในทางทฤษฎี ตลอดจนเส้นทางแห่งรัฐธรรมนูญไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงฉบับปัจจุบัน พร้อมทั้งเน้นย้ำข้อพึงระวังเพื่อปิดช่องโหว่และลดอุปสรรคให้ได้มากที่สุดสำหรับให้หนทางสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน

     ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “รัฐธรรมนูญในมุมมองรัฐศาสตร์” กล่าว โดยวิพากษ์สถานะของวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 อีกทั้งยังระบุว่ารัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ที่สุด หากแต่ควรจะเป็นพื้นที่ที่ให้สังคมได้เรียนรู้และพัฒนาให้กลไกดังกล่าวนี้ดียิ่งขึ้นต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

     รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “รัฐธรรมนูญในมุมมองของนิติศาสตร์” กล่าวว่า ความป่วยไข้ของระบบการเรียนการสอนในแวดวงนิติศาสตร์ที่นำมาซึ่งทัศนคติและค่านิยมในหมู่นักกฎหมายอันก่อให้เกิดการลดทอนคุณค่าของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ พร้อมทั้งเน้นย้ำบทบาทของรัฐที่พึงกระทำ คือ การพิทักษ์รัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน

     รศ.ดร.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “หนทางสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” กล่าวถึง ความสำคัญของรัฐธรรมนูญที่มีต่อประชาชน อันจะเป็นหลักการและกติกาสำคัญที่ทำให้ประชาชนกลายเป็นพลเมืองอย่างเสมอภาค นอกจากนี้ยังได้เสนอถึงแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญในอนาคตที่กำลังจะมาถึง ด้วยข้อเสนอว่ารัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องเป็นตั้งอยู่บนการออกแบบที่ยืดหยุ่นและพร้อมที่จะถูกแก้ไขเพื่อรองรับต่อพลวัตทางสังคม

     คุณยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน iLaw ได้ร่วมเสวนาภายใต้หัวข้อ “การเดินทางของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” กล่าวถึงเส้นทางการเคลื่อนไหวเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเกิดจากการผลักดันของภาคประชาชนและพรรคการเมืองต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมตั้งคำถามต่อนักการเมืองในประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนสำหรับการเลือกตั้งที่จะมาถึง

     ทั้งนี้ ยังได้มีการเปิดตัวหนังสือ “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” โดย รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ซึ่งพัฒนามาจากปาฐกถาในวาระ 90 ปีแห่งการอภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เนื้อหาภายในเล่มกล่าวถึงการขยายเพดานความรู้และอธิบายถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส คือ “ประชาธิปไตย” “สังคมนิยม” และ “วิทยาศาสตร์” หัวใจสำคัญคือการสร้างความตระหนักรู้ต่อประชาธิปไตยอย่างมีเหตุและผล สามารถตั้งคำถามต่อทุกเรื่องที่เกิดขึ้นว่า เพราะอะไร อย่างไร และทำไม

     และยังมีการนำเสนอรายงานการวิจัย เรื่อง ความคิดทางรัฐธรรมนูญและความมุ่งหมายทางการเมืองในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ : ศึกษาผู้ร่วมออกแบบร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540, 2550, 2558 และ 2560 โดย ดร.ชาย ไชยชิต และ และ ดร.เอกลักษณ์ ไชยภูมี นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการที่ศึกษารัฐธรรมนูญในมุมมองความคิดและความรู้สึกผ่านการศึกษาประวัติศาสตร์บอกเล่าจากผู้ที่มีส่วนร่วมและวิเคราะห์ฐานคิดของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ โดยเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อปูทางไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในอนาคต โดยโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย และเมื่อโครงการวิจัยเสร็จสิ้นทางสถาบันได้มีแนวความคิดในการจัดทำรายงานการวิจัยในรูปแบบหนังสือเพื่อให้ผู้สนใจศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถศึกษาแนวความคิดในประเด็นของการวิจัยดังกล่าวด้วย