Loading...

ธรรมศาสตร์ ผนึกกระทรวงสาธารณสุข ปั้นหลักสูตรต้นแบบ ‘แพทย์แผนไทยมหาบัณฑิต’ ครั้งแรกของประเทศ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 3 หน่วยงานด้านสุขภาพ จัดทำหลักสูตรต้นแบบแพทย์แผนไทยคลินิกมหาบัณฑิตแห่งแรกของประเทศไทย สำหรับโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2564

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดการเรียนการสอนหลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต พบว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงและเป็นที่ยอมรับในระดับชาติ โดยล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 และโรงพยาบาลราชบุรี ได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ ในการจัดทำหลักสูตรต้นแบบแพทย์แผนไทยคลินิกมหาบัณฑิตแห่งแรกของประเทศไทย

     สำหรับการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว อยู่ภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การนำร่องพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาทางคลินิกสำหรับวิชาชีพแพทย์แผนไทย เพื่อรองรับการปฏิบัติงานในหน่วยบริการสุขภาพระดับตติยภูมิ” เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ระหว่าง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมการแพทย์แผนไทยฯ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 และโรงพยาบาลราชบุรี

     รศ.เกศินี กล่าวว่า หลักสูตรต้นแบบแพทย์แผนไทยคลินิกมหาบัณฑิตที่จะจัดทำขึ้นเป็นโครงการนำร่องแห่งแรกของประเทศไทยนั้น จะช่วยส่งเสริมการผลิตบุคลากรในสายสาธารณสุขที่สามารถบูรณาการองค์ความรู้ระหว่างแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนปัจจุบันได้ ที่สำคัญก็คือจะเน้นไปที่การฝึกทักษะชั้นสูงสำหรับปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือตติยภูมิ

     “สามารถพูดได้ว่าเป็นการผลิตแพทย์แผนไทยแนวใหม่ที่สามารถทำงานร่วมกับสหวิชาชีพ ในโรงพยาบาลระดับตติยะภูมิ และมีทักษะที่จะพัฒนาองค์ความรู้ไปสู่การจัดทำงานวิจัยแพทย์แผนไทยเชิงประจักษ์ทางคลินิกได้อีกด้วย” รศ.เกศินี กล่าว

     รศ.ดร.อรุณพร อิฐรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของรางวัล “เสม อวอร์ด 2562” ประเภทการวิจัยและส่งเสริมการใช้สมุนไพรในชุมชน มูลนิธิหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ในฐานะผู้ผลักดันหลักสูตรนำร่องฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลราชบุรีเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีฐานทุนทางด้านแพทย์แผนไทยที่ดีมาก ผู้บริหารของโรงพยาบาลมีวิสัยทัศน์และให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทยมาโดยตลอด ซึ่งในอนาคต โรงพยาบาลราชบุรีจะยกระดับเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านแพทย์แผนไทยของประเทศไทยด้วย ฉะนั้นความร่วมมือกับโรงพยาบาลราชบุรีในครั้งนี้ จะยิ่งต่อยอดให้หลักสูตรนำร่องฯ มีความสมบูรณ์ในทุกมิติ ที่สำคัญคือผู้ที่เข้ามาเรียนจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจากหน้างานจริงอย่างครบถ้วน

     พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้เกิดผลผลิตที่เป็นบุคลากรแพทย์แผนไทยที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วย และจะเป็นการนำร่องให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในการพัฒนาระบบการศึกษาแพทย์แผนไทยต่อไป ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

     โดยผู้ที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การนำร่องพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาฯ ได้แก่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เขตสุขภาพที่ 5 นพ.วิเชียร วุฒิสถิรภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี และ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์