Loading...

โครงการ Soft Skills for Future Workforce เตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนเข้าสู่โลกการทำงาน

กองบริหารงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการเตรียมความพร้อมสู่โลกการทำงาน Soft Skills for Future Workforce เสริมองค์ความรู้ และศักยภาพแก่นักศึกษา

วันพฤหัสบดีที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยกองบริหารงานวิชาการ จัดโครงการ Soft Skills for Future Workforce เมื่อวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2566 ณ ห้อง Theater ชั้น 2 อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นโครงการเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกการทำงาน เปิดให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกชั้นปีที่สนใจได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับโลกของการทำงาน ผ่านกิจกรรมการพูดคุย ทดลองและลงมือปฏิบัติจริง จากเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่จะมาขยับความคิด เตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่โลกแห่งการทำงานในอนาคต โดยมี รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.โรจน์ คุณเอนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในโครงการและร่วมเป็นวิทยากร

     รศ.โรจน์ คุณเอนก รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการ Skills for Future Workforce เป็นโอกาสที่ดีในการเสริมสร้างองค์ความรู้ ศักยภาพแก่นักศึกษา ผ่านการแบ่งปันจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ที่มาแลกเปลี่ยนเพื่อเตรียมความพร้อมนักศึกษาก่อนออกสู่โลกภายนอก หรือโลกการทำงานอย่างแท้จริง

     “เรื่องที่เรามาพูดคุยในวันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่จะเตรียมความพร้อมให้เราเข้าใจในเรื่องของการสมัครงาน การสัมภาษณ์งาน บุคลิกภาพ ซึ่งหลายเรื่องไม่ใช่เพียงการใช้สมัครงานเท่านั้น แต่สามารถนำมาใช้ในชีวิต ในโลกความเป็นจริงนอกรั้วมหาวิทยาลัยได้” รศ.โรจน์ กล่าว

     ด้าน รศ.ดร.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พูดคุยในเรื่องเทรนด์ของอาชีพในโลกอนาคต ความว่า โลกของเราเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาซึ่งมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงนั้นได้ยาก ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวให้เท่าทันกับโลกอนาคต สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานคืองานที่มีอยู่เดิมจะหายไป ในขณะที่งานใหม่เพิ่มขึ้น ซึ่งทักษะเดิมอาจใช้ไม่ได้กับงานใหม่ที่เข้ามา ทำให้มีคนจำนวนมากตกงาน เราจึงต้องเตรียมตัว รู้ให้เท่าทัน ว่าทักษะไหนที่มีความจำเป็นต่อตลาดแรงงานในอนาคต โดยหนึ่งในทักษะที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งคือทักษะด้านการสื่อสาร

     เราใช้การสื่อสารในทุกเรื่อง ทั้งการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน การประชุม การบริหารจัดการผู้คน ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นหัวใจสำคัญ ที่เราจะต้องฝึกฝนให้สามารถสื่อออกมาแล้วคนจดจำ ผ่านการสร้างวิธีการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ ให้มีความน่าสนใจ เช่น ใช้การสื่อสารแบบเล่าเรื่อง (story telling) ที่มีการเรียบเรียงโครงเรื่อง มีตัวละครในเรื่อง เพื่อให้สารที่เราสื่อออกไปนั้นเป็นที่น่าจดจำ เป็นต้น

     “สุดท้ายอยากฝากไว้ว่าการออกไปทำงานในโลกภายนอก ถ้าเราคิดถึงแต่ตัวเราเพียงอย่างเดียว อยากจะได้เงิน อยากจะได้ตำแหน่ง อยากจะได้ความก้าวหน้า ตื่นเช้ามาเราจะเหนื่อย ไม่มีพลัง เพราะเรารู้สึกว่าไม่ถึงจุดที่สมหวังสักที แต่ถ้าเราคิดถึงอะไรที่มันใหญ่กว่าตัวเองบ้าง อย่างการทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่น ต่อสังคม เราจะมีพลัง แล้วสามารถตื่นมาทำทุกอย่างได้” รศ.ดร.พิภพ ทิ้งท้าย

     กิจกรรมในวันแรกของโครงการ Soft Skills for Future Workforce เป็นการพูดคุย แลกเปลี่ยนเทคนิคและประสบการณ์ในด้านการสัมภาษณ์งาน ในหัวข้อ Tips for Delivering a Winning Interview Presentation โดย รศ.ชัยยุทธ ถาวรานุรักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร หัวข้อ Body Language Tips for Your Interview โดยอาจารย์โอปอ สุรารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพลักษณ์การสื่อสาร และหัวข้อ The Best Outfits for Job Interviews โดย อาจารย์ฐิติพงษ์ ด้วงคง ผู้เชี่ยวชาญด้านนางงามและแฟชั่น

     วันที่สองเป็นกิจกรรมเรียนรู้ผ่านการทดลองปฏิบัติ สำหรับช่วงเช้าคือหัวข้อ ‘ปากเป็นเอก’ (Oral Presentation) ทดลองการทำบทพูด และทักษะการนำเสนอด้วยปากเปล่า ส่วนช่วงบ่ายเป็นหัวข้อ ‘เสกทรัพย์สร้างสุข’ (High Impact Dialogue) ร่วมกันถอดรหัส หลักการจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management) และการพูดคุยงานแบบสัมพันธเสวนา นำกิจกรรมโดย อาจารย์สันติ จิตระจินดา และทีมงาน

     ทั้งนี้ โครงการ Soft Skills for Future Workforce ทั้งสองวันมีนักศึกษาหลากหลายชั้นปีร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกที่อัดแน่นไปด้วยสาระและเคล็ดลับดี ๆ หากสนใจรับชมงานย้อนหลัง สามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก ฝ่ายวิชาการ มธ.