Loading...

ธรรมศาสตร์ ผลิตบัณฑิตพิการสู่ตลาดแรงงาน ขยายโอกาสเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษา

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลิตบัณฑิตพิการหลากหลายสาขาสู่ตลาดแรงงาน สอดคล้องกับปณิธานการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยืนหยัดเรื่องการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนทุกกลุ่มในสังคม มุ่งสร้างความเสมอภาค ลดช่องว่างทางการศึกษา ตามปณิธานในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน โดยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกที่ก่อตั้ง “โครงการนักศึกษาพิการ” เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่คนพิการให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และผลิตบัณฑิตที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน เรามารู้จักเรื่องราวของบัณฑิตพิการที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรในปีนี้ คือ นางสาวณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ บัณฑิตปีการศึกษา 2562 และนายพศวัต เขียวเหมือน บัณฑิตปีการศึกษา 2563        

     ธันย์-นางสาวณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ บัณฑิตคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 ซึ่งเป็นบัณฑิตที่มีความโดดเด่นทั้งทางด้านการเรียน และการทำงาน โดยปัจจุบันทำงานเป็นนักสื่อสารองค์กร ให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ทำงานขับเคลื่อนนโยบายของคนพิการ โดย น.ส.ณิชชารีย์ เป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว เนื่องจากประสบอุบัติเหตุ

 

     นางสาวณิชชารีย์ ได้เล่าถึงการเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า การเรียนที่ธรรมศาสตร์ช่วยซัพพอร์ตเราหลาย ๆ ด้าน ที่จริงเป็นความตั้งใจตั้งแต่ต้นในการเข้ามาเรียนที่ธรรมศาสตร์ เพราะรู้สึกว่าธรรมศาสตร์ค่อนข้างเสรี เปิดกว้างในความคิด ไม่ใช่แค่ทางการเมือง แต่เป็นความคิดในสิ่งที่เราอยากจะทำ ธรรมศาสตร์ช่วยทำให้เราเห็นมุมมองที่มากขึ้น อย่างที่ธรรมศาสตร์ก็มีอาจารย์ที่ผลักดันเรื่องคนพิการ จากตอนนั้นปี 1 เรียนที่ธรรมศาสตร์ เห็นพื้นที่ที่วีลแชร์ไปไม่ได้ แต่ทุกวันนี้มีการแก้ไขและใช้ได้จริง โดยที่สำคัญคือเป็นมหาวิทยาลัยตัวอย่างทางด้าน  Universal design ซึ่งธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่ผลักดันเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ และการช่วยเรื่องสังคม “ไม่เคยเห็นมหาวิทยาลัยไหนที่คนพิการสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะเป็น ไม่ว่ามีความฝันอยากเป็นอะไร เรียนที่ธรรมศาสตร์ทำให้เห็นว่าความพิการไม่ได้เป็นอุปสรรค คือคุณอยากจะทำกิจกรรมอะไร ธรรมศาสตร์ก็พร้อมที่จะสนับสนุน เรารู้สึกดีทุกครั้งที่ไปทำกิจกรรมข้างนอกแล้วมีติดชื่อมหาวิทยาลัย เราภูมิใจที่เราเป็นคนพิการคนหนึ่งที่ได้เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

    

     อยากฝากคนที่อาจจะมองว่าตอนนี้ตนเองมีข้อจำกัดหรือมีอุปสรรค ว่าจริง ๆ แล้วคนทุกคนสามารถทำความฝันของตนให้เป็นจริงได้ แต่แค่เส้นทางหรือวิธีการมันอาจแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นอย่าไปยึดว่าหากเราไม่สามารถทำตามเส้นทางแบบคนอื่นได้แล้วเราจะไม่ประสบความสำเร็จ อยากให้มองว่าเราก็มีเส้นทางของเราเอง มีความฝันของเราเอง ให้ลองก้าวเข้ามา ลองเปิดใจกล้าที่จะทำตามความฝันของตัวเองให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การทำกิจกรรม การทำตามความฝันที่อยากทำ ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้หมดในรูปแบบของตัวเอง ไม่จำเป็นว่าคนที่ได้เกียรตินิยมต้องเป็นคนที่สมบูรณ์แบบที่สุด มันขึ้นอยู่กับว่าความฝันของเราคาดหวังอะไร  น.ส.ณิชชารีย์ กล่าวทิ้งท้าย

     ด้าน เต้ย-นายพศวัต เขียวเหมือน บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันทำงานฟรีแลนซ์และที่ปรึกษาในการทำโครงการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง และภาคประชาสังคมในประเด็นด้านสวัสดิการสังคมและอื่น ๆ โดย นายพศวัต เป็นผู้พิการด้านการเคลื่อนไหว สวมใส่ขาเทียมเหนือเข่าบริเวณขาด้านขวา เนื่องจากช่วงอายุ 17 ปี มีอาการป่วยทำให้เราต้องได้รับการรักษาผ่าตัดครั้งใหญ่ หลังจากนั้นก็ใช้ชีวิตในฐานะคนพิการมาจนถึงปัจจุบัน  

     นายพศวัต กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเรียนว่า คือ “ความสนุกในการเรียน” สนุกที่จะเรียนรู้เรื่องราวใหม่ ๆ และได้ถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นผ่านมุมมองความเข้าใจของตัวเอง ชอบความรู้สึกที่เวลาเพื่อนหรือคนอื่นฟังสิ่งที่ผมเล่าแล้วมีอารมณ์คล้อยตาม รวมถึงเข้าใจในสิ่งที่ผมต้องการสื่อสาร ผมก็เลยมักที่จะอ่านหนังสือหรือเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ เพื่อนำมาบอกเล่ากับเพื่อน ๆ ดังนั้นเป้าหมายการเรียนของผมก็เลยไม่ได้อยู่ที่ผลคะแนนเกียรตินิยมตั้งแต่แรก แต่เป็นความสนุกที่ได้จากการเรียนรู้เพื่อที่จะนำไปใช้ส่งต่อและแก้ไขปัญหา ทั้งของตัวเราเองและของคนรอบข้าง เรียกได้ว่าชีวิตนักศึกษาในตลาดวิชาแห่งนี้ของผมขับเคลื่อนด้วยความอยากรู้ ซึ่งมันก็ทำให้เรามีความสุขกับการเรียน แล้วก็สามารถที่จะนำความรู้อื่น ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้กับคณะที่กำลังเรียนอยู่ด้วยในขณะนั้น ขอแค่ให้เราสนุกและมีความสุขกับการเรียนรู้ อันนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการเรียนของผมเลยก็ว่าได้  

     นายพศวัต เล่าว่าคติประจำใจของตน คือการ “เคารพตนเอง” เคารพการตัดสินใจ เคารพในสิ่งที่ทำ และเคารพในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น อาจด้วยการเรียนที่ธรรมศาสตร์ผ่านทั้งเรื่องของการเรียน การทำกิจกรรม และการทำงานร่วมกับองค์กรภายนอกที่หลากหลาย ซึ่งทำให้เราเข้าถึงและเข้าใจสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น และตกผลึกได้ว่าการอยู่ร่วมกับความหลากหลายสิ่งที่สำคัญคือการเคารพซึ่งกันและกัน และสำคัญที่สุดคือการเคารพตนเอง ในที่นี้หมายถึงการยอมรับและเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเราเอง เชื่อมั่นว่าจะนำศักยภาพนั้นมาใช้ในการอยู่ร่วมกับทุกคนได้ เชื่อมั่นว่าเราจะสามารถใช้ศักยภาพนั้นได้อย่างเต็มที่กับทุกเรื่องที่เราทำและรับผิดชอบ รวมถึงยอมรับในผลที่จะเกิดขึ้นทุกรูปแบบ ซึ่งมันทำให้ตัวเราเกิดการใช้ชีวิตอย่างเข้าใจและพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาภายใต้สัจธรรมความเป็นอนิจจังของสังคม โดยการตกผลึกผ่านการใช้ชีวิตในรั้วธรรมศาสตร์และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเองมีสิ่งที่ใช้ยึดเหนียวทั้งในเรื่องของการเรียนและการทำงานในปัจจุบัน

     นายพศวัต ทิ้งท้ายถึงรุ่นน้องว่า แรงบันดาลใจที่สำคัญที่สุดคือตัวของเราเอง สิ่งที่ทำให้เราเรียนได้ดีก็คือเรามีความสุขกับการเรียน สิ่งที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างอิสระก็คือ การสร้างความสุขให้กับช่วงชีวิตในขณะนั้น ดังนั้นแรงบันดาลใจจึงเป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องค้นหาจากตัวเองเป็นลำดับแรก ผ่านการยอมรับและเคารพในตัวเอง เมื่อเราเข้าใจว่าตนเองมีศักยภาพพร้อมที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายของเราได้แล้ว เมื่อนั้นเราก็จะค้นพบว่าไม่มีอะไรที่เป็นอุปสรรคในชีวิตของเราและเราก็จะค้นพบความสุขรวมถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการใช้ชีวิต หวังว่าน้อง ๆ ทุกคนจะสามารถค้นพบแรงบันดาลใจของตนเอง

     ในปีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2562-2563   ในวันที่ 27-30 พฤษภาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในปีการศึกษา 2562 – 2563 มีบัณฑิตพิการที่จบการศึกษารวมทั้งสิ้น 29 คน ดังนี้

     บัณฑิตพิการที่จบการศึกษาในปี 2562 จำนวน 18 คน มีงานทำคิดเป็นร้อยละ 83 ได้แก่

1. นายธีรพงษ์  ใจพรม   บัณฑิตคณะนิติศาสตร์     
2. นายปฏิพัทธ์  บุญนคร   บัณฑิตคณะนิติศาสตร์   
3. นางสาวพิชญาภา  ธรรมรัชพิมล   บัณฑิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี 
4. นางสาวอรปรียา มงคลสิทธิชัย   บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์    
5. นางสาวจุฑามาศ  กลิ่นขจร   บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์       
6. นางสาววัชรี  ลันไธสง   บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์    
7. นายนัทธพงษ์  กุมพานิชย์   บัณฑิตคณะเศรษฐศาสตร์              
8. นายศรราม สาลี   บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์     
9. นางสาวมีนา  แสงทอง   บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์       
10. นางสาวศุภิสรา  วรรณบวร   บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 
11. นางสาวประนิดา  สิมัยนาม   บัณฑิตคณะศิลปศาสตร์             
12. นายศักดิธัช วิสาลเสสถ์   บัณฑิตคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน             
13. นางสาวจีรนันท์  สวยดูดี   บัณฑิตคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
14. นางสาวภรภัทร  อำมาตย์มณี   บัณฑิตคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
15. นางสาวณิชชารีย์  เป็นเอกชนะศักดิ์   บัณฑิตคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน         
16. นางสาวพุทธิดา  ฤกษ์ปฐมศักดิ์   บัณฑิตคณะสหเวชศาสตร์       
17. นางสาวสุณัฏฐา  เรืองศิริกานต์   บัณฑิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง
18. นางสาวปาริฉัตร  โป๊ะคงมี   บัณฑิตคณะสาธารณสุขศาสตร์       

     บัณฑิตพิการที่จบการศึกษาในปี  2563  จำนวน 11 คน  มีงานทำคิดเป็นร้อยละ 100 ได้แก่

1. นางสาวอริสา แก้วกระจก   บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์         
2. นางสาวณัฐชา ไตรรัตน์   บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์  
3. นายพลวัต เหมหาญ   บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
4. นางสาวณัฏฐ์ธมน  ธนไตรสิทธิ์  บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์         
5. นางสาวบุณฑริก  จำปาพันธ์   บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 
6. นางสาวอรวรรณ  เปรมปริก   บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 
7. นายจารุวัฒน์  เลไธสง   บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์        
8. นางสาวสโรชา  ผดุงกิจ   บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
9. นายพศวัต  เขียวเหมือน   บัณฑิตคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์     
10. นายธนภัทร์  เลาหประเสริฐ   บัณฑิตคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน                 
11. นางสาวภัทรา  กรังพานิชย์  คณะสหเวชศาสตร์