Loading...

เศรษฐศาสตร์ มธ. ถอดบทเรียนการพัฒนาอุตสาหกรรม ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค Covid-19

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอผลการศึกษาพลวัตการพัฒนาอุตสาหกรรม ในงานสัมมนาวิชาการ EconTU Symposium ครั้งที่ 44

วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ.2565

 

     ปัจจุบันประเทศไทยได้ใช้ยุทธศาสตร์ในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ให้มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยพัฒนาให้กลุ่มอุตสาหกรรมนี้เติบโตต่อไปได้ และส่งเสริมกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) หรือกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเข้มข้นให้มีความเข้มแข็ง การศึกษาพลวัตการพัฒนาอุตสาหกรรมจะทำให้เข้าใจถึงโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยและตลาดโลก ประสิทธิภาพและข้อจำกัดของนโยบายที่นำมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโลกต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรค Covid-19

     คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำทีมโดย ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 EconTU Symposium ครั้งที่ 44 ภายใต้หัวข้อ “ความท้าทายของการยกระดับ S-Curve ในยุค Next Normal” นำเสนอผลการศึกษาถึงพลวัตการพัฒนาอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม โดยคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย และอุตสาหกรรมยา

     ผศ.ดร.อลงกรณ์ ธนศรีธัญญากุล กล่าวถึงผลการศึกษาเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในท่ามกลางและอนาคตหลัง Covid-19” ว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมาต้องเผชิญกับการขาดแคลนชิปที่ยาวนาน ซึ่งมาตรการล็อกดาวน์มีส่วนผลักดันให้บริษัทข้ามชาติกระจายการผลิตในห่วงโซ่อุปทานให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดหาชิ้นส่วน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่อุปทานภายใต้แนวคิดชาตินิยม การเมือง และการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

     “ช่วงที่ผ่านมาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการในธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการไทยมีความพยายามปรับตัว แต่จุดอ่อนของผู้ประกอบการส่วนใหญ่คือยังขาดข้อมูลและองค์ความรู้งานวิจัย ขาดผู้เชี่ยวชาญ และการทำตลาดเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ โดยภาครัฐควรส่งเสริมกลไกจัดซื้อจัดจ้างเพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุนวิจัย และสิทธิประโยชน์การลงทุนด้านภาษี” ผศ.ดร.อลงกรณ์ กล่าว

     ด้านงานศึกษาเรื่อง “อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี” รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ พบว่า ยานยนต์สมัยใหม่หรือ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เป็นเทรนด์อนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องเกิดขึ้น เพียงแต่ยังไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นเร็วแค่ไหน ซึ่งการคาดการณ์ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงสมดุลของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีอยู่เดิม

     “มองว่าการที่ไทยเร่งชิงกระแสการเป็น First Mover อาจไม่ได้ประโยชน์อย่างที่คิดไว้ เนื่องจากเทคโนโลยีของรถอีวีที่ยังมีความไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยในช่วงการเปลี่ยนผ่านนี้ควรคำนึงถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมด้วยการอุดหนุนการนำรถเก่าไปเปลี่ยนเป็นรถอีวี (EV Conversion)” รศ.ดร.อาชนัน กล่าว

     งานศึกษาเรื่อง “การส่งออกอาหารแปรรูปของไทยกับแนวทางส่งเสริมการลงทุนจากทางภาครัฐ” อ.ดร.วานิสสา เสือนิล อธิบายว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดกว่า 2% ในตลาดส่งออกอาหารแปรรูปของโลก แต่แนวโน้มตัวเลขการส่งออกกลับมีทีท่าลดลง จึงเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปของไทยในการรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยทางเลือกหนึ่งของผู้ประกอบการคือสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการลงทุนในอาหารแห่งอนาคต ประกอบไปด้วย 1) อาหารเสริมสุขภาพ 2) อาหารทางการแพทย์ 3) อาหารใหม่ เช่น โปรตีนจากแมลง โปรตีนจากพืช (Plant-Based) และ 4) อาหารอินทรีย์ (Organic Food)

     “การที่ภาครัฐจะช่วยสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปจะต้องเร่งส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงงานวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ และไม่มีต้นทุนในการเข้าถึงงานวิจัย รวมทั้งส่งเสริมการต่อยอดการพัฒนาวัตถุดิบในประเทศ และการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนด้านภาษีที่เป็นต้นทุน” อาจารย์ ดร.วานิสสา กล่าวเพิ่มเติม

     ในเรื่อง “อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG”  โดย ผศ.ดร.พนิต วัฒนกูล พบว่า ประเทศไทยนำเข้าเครื่องมือแพทย์และครุภัณฑ์ทางการแพทย์น้อยกว่าประเทศอื่นโดยเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การนำเข้าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าวสะท้อนข้อจำกัดในการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ของไทย ประกอบกับการไม่มีโรงงานหรือศูนย์กลางการผลิตครุภัณฑ์ทางการแพทย์ภายในประเทศ จึงสรุปได้ว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์เมื่อเทียบกับประเทศอื่นโดยเฉลี่ย แนวนโยบายการนำเข้าเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศไม่เพียงพอต่อการบริหารจัดการการสาธารณสุขในปัจจุบัน

     และจากงานศึกษาเรื่อง “ความท้าทายของอุตสาหกรรมยาในประเทศไทยหลังวิกฤติ Covid-19” อาจารย์ ดร.ลอยลม ประเสริฐศรี อธิบายว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา อยู่ในทิศทางที่ดีและมีอนาคต (Promising) ทั้งการพัฒนายาสามัญรูปแบบใหม่ การพัฒนายานวัตกรรมในกลุ่มยาชีววัตถุและวัคซีน และการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จในอนาคต ซึ่งมีสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการเพิ่มความมั่นคงทางยาของประเทศ อย่างไรก็ดี การลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกยังห่างไกลจากเป้าหมายมาก เนื่องจากไทยยังพึ่งพาการนำเข้าค่อนข้างสูงและการส่งออกไม่ได้มีมูลค่าสูงมากนัก

     นอกจากนี้ ภายในงานยังมีปาฐกถาพิเศษจาก ดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล และวงเสวนาเรื่อง “9 เดือนผ่านไป เศรษฐกิจไทยไหวหรือเปล่า?” ซึ่งมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมเสวนา

     ทั้งนี้ สามารถรับชมการสัมมนาฉบับเต็มย้อนหลังได้ที่เพจ EconTU Official และสำหรับรายละเอียดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2565 EconTU Symposium ครั้งที่ 44 สามารถติดตาม ดาวนโหลดบทความและเอกสารประกอบการบรรยาย โดยลงทะเบียนรับเอกสารได้ที่ www.symposium.econ.tu.ac.th