Loading...

นักศึกษาศิลปศาสตร์ มธ. ยืนหนึ่งระดับนานาชาติ แข่งขันอ่านร้อยแก้วร้อยกรองภาษารัสเซีย

นักศึกษาโครงการรัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศระดับนานาชาติ ในการอ่านร้อยแก้วร้อยกรองภาษารัสเซีย หัวข้อ "เอเชียพูดภาษารัสเซีย 2022"

วันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2565

     เมื่อเร็ว ๆ นี้ วีนัสรา เกตุพ่อค้า นักศึกษาชั้นปีที่ 3 โครงการรัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ในการแข่งขันการอ่านร้อยแก้วร้อยกรองเป็นภาษารัสเซียระดับนานาชาติ หัวข้อ "เอเชียพูดภาษารัสเซีย 2022" (АЗИЯ ГОВОРИТ ПО-РУССКИ -2022)  รุ่น 16-23 ปี โดยมีอาจารย์ผู้ฝึกซ้อมคือ อาจารย์ปริตต์ อรุณโอษฐ์ อาจารย์ประจำโครงการรัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     งานประกวดดังกล่าว จัดโดย International Union of Children's Organizations (UPO-FCO) ร่วมกับองค์กรสังคม “Nash Irkutsk” จากประเทศรัสเซีย มีการประกวดทั้งหมด 3 รุ่น อายุตั้งแต่ 7-23 ปี โดยมีเกณฑ์การตัดสิน 4 ด้าน คือ 1) คุณค่าเชิงวรรณศิลป์ของตัววรรณกรรม 2) การออกเสียงให้ถูกต้อง ความชัดถ้อยชัดคำของการออกเสียง 3) การใช้น้ำเสียงแสดงอารมณ์ และ 4) การสื่อสารกับผู้ฟัง

     วีนัสรา เล่าว่า ความยากของการอ่านบทกลอนภาษารัสเซียคือการออกเสียงของคำให้ชัดและถูกต้อง นอกจากนี้ในการเข้าถึงอารมณ์ของบทกลอน จะต้องเข้าใจถึงเนื้อหาของบทกลอนนั้น ๆ เพื่อให้สามารถใช้น้ำเสียงสื่อสารอารมณ์ได้อย่างเข้าถึงอรรถรส อุปสรรคที่เจอคือหาคำแปลเป็นภาษาไทยได้ยากเนื่องจากภาษารัสเซียเป็นภาษาที่ไม่นิยมในไทย

     บทกลอนที่เลือกสรรมาอ่านในการประกวดครั้งนี้คือ ‘เมื่อวานยังมองจ้องตาอยู่เลย’ (Вчера ещё в глаза глядел) ประพันธ์โดย มารีนา ซวิตาเยวา (Марина Цветаева) เป็นบทกลอนเน้นการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกของผู้ประพันธ์จากบทบาทของผู้หญิงที่ผิดหวังในเรื่องความรัก

     อาจารย์ปริตต์ เผยว่า การเข้าถึงอรรถรสของผู้ประพันธ์เป็นหนึ่งในเกณฑ์วัดเรื่องคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ ว่าเราเข้าใจเนื้อหาของวรรณกรรมนั้นขนาดไหน อย่างในบทกลอนที่เลือกสรรมาเป็นเรื่องราวของผู้ประพันธ์ที่สะท้อนอารมณ์ผิดหวังในความรักและบทบาทความเป็นหญิง ซึ่งภาษารัสเซียมีเอกลักษณ์ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ชัดเจน ทำให้การอ่านให้เข้าถึงอารมณ์จะต้องเข้าใจวิธีคิดเบื้องหลัง วัฒนธรรมของรัสเซียด้วย เป็นความยาก ที่ต้องเน้นการฝึกฝน ศึกษา และการเปิดรับจากการฟังและดูตัวอย่างจากเจ้าของภาษาว่ามีการอ่านเพื่อแสดงถึงอารมณ์อย่างไร

     “ภาษาแต่ละภาษามีเอกลักษณ์ความยากง่ายต่างกัน ส่วนหนึ่งอยู่ที่ความคล้ายคลึงกับภาษาแม่ของเราด้วย อย่างภาษารัสเซียมีความแตกต่างจากหลักของภาษาไทยอย่างมาก ทำให้อาจมีความยากในการทำความเข้าใจ โดยการเรียนภาษาต่างประเทศให้ประสบความสำเร็จนั้น ต้องเริ่มจากการเข้าใจว่าตนเองมีธรรมชาติในการเรียนรู้อย่างไร ชอบเรียนรู้ผ่านการฟัง การเขียน หรือการลงมือทำ แล้วหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง และที่สำคัญคือการเปิดรับ คือจะต้องหมั่นฟัง หาจุดที่เราทำได้ดี และกล้าที่จะสื่อสารโดยไม่ยึดติดกับความสมบูรณ์ของไวยากรณ์มากจนเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาของใครหลาย ๆ คนจากปัจจัยทางสังคมที่กดดันให้เราติดกับความสมบูรณ์ทางภาษา กลัวที่จะผิดพลาด ดังนั้นไม่ต้องกลัว คนเราผิดพลาดกันได้” อาจารย์ปริตต์ กล่าว

     วีนัสรา กล่าวทิ้งท้ายว่า รู้สึกดีใจที่ได้รางวัลนี้ เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะได้รางวัลชนะเลิศ คุ้มค่ามากกับเวลาที่ใช้ในการฝึกฝน อยากจะบอกกับเพื่อน ๆ ที่กำลังตั้งใจเรียนภาษาต่างประเทศว่า เวลาเรียนภาษาเราไม่จำเป็นต้องเน้นวิชาการเพียงอย่างเดียว พยายามหาทางเรียนรู้ใหม่ๆ ผ่านสิ่งที่เราชอบ อย่างการเรียนรู้ผ่านวรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือบทเพลง แล้วเราจะไม่เบื่อกับการเรียนภาษา

     ทั้งนี้ โครงการแข่งขันดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกวดผ่านภาษารัสเซีย ทำให้สามารถเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้ประพันธ์ผลงานวรรณกรรมรัสเซีย อีกทั้งยังการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนและนักศึกษาจากประเทศต่าง ๆ ได้ฝึกฝนและเรียนรู้ภาษาและวรรณกรรมรัสเซีย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมส่งผลงานการอ่านทั้งรูปแบบร้อยแก้ว ร้อยกรอง และคลิปการแสดงรูปแบบอื่น ๆ กว่า 1500 คน จากหลากหลายประเทศในเอเชีย ได้แก่ รัสเซีย คาซัคสถาน มองโกเลีย เวียดนาม จีน อินเดีย และไทย