Loading...

วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ เปิดตัว 4 หลักสูตรใหม่ “วิศวะฯ นานาชาติเชิงบูรณาการ”

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดหลักสูตรใหม่ เพิ่มทักษะหลากหลาย พร้อมโชว์ 4 นวัตกรรม ต้นแบบวิศวกรรมเชิงบูรณาการ

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565

     คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE เปิดตัว 4 หลักสูตรใหม่ “วิศวะฯ นานาชาติเชิงบูรณาการ” ในงาน TEP-TEPE: The Next Concept of Engineering Education ปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรม ในโอกาสครบรอบ 33 ปีของ TSE พร้อมเดินหน้าบูรณาการทักษะและองค์ความรู้ เพื่อการสร้างวิศวกรยุคใหม่ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่หลากหลาย ขับเคลื่อนตลาดแรงงานศักยภาพสูง ภายใต้โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหลักสูตรนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือ TEPE (Thammasat English Programme of Engineering)

     ได้แก่ 1) หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและข้อมูล (Electrical and Data Engineering) 2) หลักสูตรวิศวกรรมโยธาและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Civil Engineering and Real Estate Development) 3) หลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลและการจัดการอุตสาหกรรม (Mechanical Engineering and Industrial Management) 4) หลักสูตรวิศวกรรมเคมีและการจัดการ (Chemical Engineering and Management)

     พร้อมโชว์ 4 นวัตกรรมต้นแบบที่พร้อมตอบโจทย์ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ AI คัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชด้วยเสียงพูด เทคโนโลยีจำลองโลกเสมือนที่ช่วยคัดกรองโรคต้อหิน สกินแคร์ต้านอนุมูลอิสระจากน้ำมันกัญชง และการซ่อมแซมคอนกรีตด้วยแบคทีเรีย

     รศ.ดร.ธีร เจียศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat School of Engineering) หรือ TSE เผยว่า TSE ในฐานะผู้นำหลักสูตร วิศวะฯ นานาชาติ ของประเทศไทยมากว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยในปีนี้ TSE ได้ร่วมเดินทางพร้อมคนรุ่นใหม่ ส่งต่อองค์ความรู้และทักษะด้านวิศวกรรมจากรุ่นสู่รุ่น มาถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 33 ปีแล้ว จึงได้มีการทบทวนบทบาทของสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรม ที่เป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่การพัฒนาคนรุ่นใหม่ ซึ่งขณะนี้ TSE มีความพร้อมต้อนรับนักศึกษาใหม่ ‘วิศวะฯ นานาชาติเชิงบูรณาการ’ ปีการศึกษา 2566 ภายใต้แนวคิด TEP-TEPE : The Next Concept of Engineering Education” ปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการ โดย TSE มุ่งเน้นการบูรณาการทักษะตามความต้องการของอนาคต เพื่อพัฒนา “วิศวกรศักยภาพสูง” ที่มีทักษะความรู้หลากหลาย เพื่อสร้างโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ให้มีทักษะความรู้หรือคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

     ในปีการศึกษา 2566 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการพลิกโฉมครั้งสำคัญของ โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตหลักสูตรนานาชาติ (Thammasat English Programme of Engineering) หรือ TEPE ที่มีการจัดการเรียนการสอน 4 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย TSE ได้พัฒนาหลักสูตรใหม่ เพื่อเพิ่มทักษะ ‘วิศวกรยุคใหม่’ ให้พร้อมเป็นผู้นำด้านการพัฒนาบุคลากรด้าน วิศวะฯ นานาชาติเชิงบูรณาการ ผ่าน 4 หลักสูตรใหม่ ที่เตรียมเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ในปีการศึกษา 2566 ดังนี้

 

     1. หลักสูตรวิศวกรรมไฟฟ้าและข้อมูล (Electrical and Data Engineering) หลักสูตรที่เน้นองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ควบคู่กับความรู้ทางด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ระบบ IOT, AI, Coding, Cloud Computing รวมถึงการประมวลผล (Data Analytic) เพื่อนำข้อมูลมาใช้งาน ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในสายอาชีพวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรคอมพิวเตอร์ และนักวิเคราะห์ข้อมูล

    2. หลักสูตรวิศวกรรมโยธาและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Civil Engineering and Real Estate Development) หลักสูตรที่ผสมผสานองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมโยธาที่เกี่ยวกับการก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงวางแผนการพัฒนาเมืองและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ สามารถประกอบอาชีพในกลุ่มงานต่าง ๆ ได้ดังนี้ วิศวกรโยธา นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นักวางผังเมือง

     3. หลักสูตรวิศวกรรมเครื่องกลและการจัดการอุตสาหกรรม (Mechanical Engineering and Industrial Management) หลักสูตรที่มุ่งเน้นผลิตวิศวกรเครื่องกลที่มีองค์ความรู้ทางด้านการบริหารอุตสาหกรรม โดยการบูรณาการองค์ความรู้หลากหลายแขนง อาทิ ความรู้ทางด้านวิศวกรรมเครื่องกล ระบบไอโอที (IoT) ระบบออโตเมชั่น (Automation) รวมถึงความรู้ทางด้านการจัดการอุตสาหกรรม ทั้งนี้ บัณฑิตวิศวกรสามารถก้าวสู่เส้นทางอาชีพต่าง ๆ ได้ อาทิ วิศวกรเครื่องกล วิศวกรโรงงาน วิศวกรโครงการ (Project Management System Engineer)

     4. หลักสูตรวิศวกรรมเคมีและการจัดการ (Chemical Engineering and Management) นอกจากผู้เรียนจะได้รับความรู้ทางด้านวิศวกรรมเคมีที่ครบถ้วน ยังเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product design) การจัดการทางวิศวกรรม รวมถึงความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี ที่พร้อมก้าวสู่การเป็นการเป็นวิศวกรเคมี หรือนักธุรกิจ/สตาร์ทอัพ (Start-up) ผลิตภัณฑ์ความงามได้ในอนาคต

     TSE ยังต่อยอดความสำเร็จของโครงการหลักสูตรวิศวกรรมบัณฑิตสองสถาบัน (Twinning Engineering Program) หรือ TEP ที่จัดการเรียนการสอนด้วยภาษาอังกฤษตลอดหลักสูตร ในรูปแบบ 2+2 คือ 2 ปีแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาต่ออีก 2 ปี กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่เป็นคู่สัญญาของ TSE ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งนอตติงแฮม สหราชอาณาจักร (The University of Nottingham) มหาวิทยาลัยเคยู เลอเฟิน ประเทศเบลเยียม (KU Leuven) และมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย (UNSW, Sydney) โดย TSE มีแผนในการพัฒนาเครือข่ายด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศให้มากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของคนรุ่นใหม่อีกด้วย

     รศ.ดร.ธีร กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ ‘วิศวะฯ นานาชาติเชิงบูรณาการ’ ได้รับการความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตร (Partnership) 3 หน่วยงานที่พร้อมเคียงข้างคนรุ่นใหม่ไปพร้อมกัน ประกอบด้วย

     1. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TDS ที่ได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สู่อีกขั้นของการบูรณาการทักษะด้านวิศวกรรมโยธาและการออกแบบ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาทั้ง 2 คณะ สามารถลงทะเบียนเพื่อเก็บหน่วยกิตในรายวิชาที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่ง TSE และ TDS ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายในงานอีกด้วย

     2. ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มุ่งเน้นส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านวิศวกรรม พร้อมการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากตัวจริงด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ พร้อมทั้งการพัฒนาโปรเจกต์สู่การใช้งานจริงในชั้นเรียน

     3. มหาวิทยาลัยอีแกม ลาซาล ประเทศฝรั่งเศส (ECAM LaSalle, France) ที่เสริมแกร่งเครือข่ายทางการศึกษาที่ครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ให้โอกาสอาจารย์และนักศึกษาในการเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยที่อยู่ในความร่วมมือ พร้อมเปิดตัว Training Center ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ EEC

     นอกจากนี้ ภายในงาน TSE ได้นำงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับวิศวกรรมเชิงบูรณาการ ฝีมืออาจารย์ TSE ผู้เป็นนวัตกรแถวหน้าของไทย มาร่วมจัดแสดงและนำมาสาธิตการใช้งาน โดยมีผู้ที่สนใจเข้าชมจำนวนมาก อาทิ

     1. AI คัดกรองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชด้วยเสียงพูด โดย รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และหัวหน้าคลัสเตอร์ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสารสนเทศอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงพูดและภาษา และนวัตกรรมด้านบริการ (CILS) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมพัฒนากับ ผศ.ดร.จุฑามณี อ่อนสุวรรณ อาจารย์ประจำภาควิชาภาควิชาภาษาอังกฤษและภาษาศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อาจารย์ พญ.กันต์กมล จัยสิน, พญ.กีรติ พัฒนเสรี, พญ.จุฑาวดี หล่อตระกูล แพทย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

     2. เทคโนโลยีจำลองโลกเสมือน ช่วยคัดกรองโรคต้อหิน พัฒนาโดย รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต อาจารย์ประจำภาควิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และหัวหน้าคลัสเตอร์ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสารสนเทศอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงพูดและภาษา และนวัตกรรมด้านบริการ (CILS) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รศ.นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์, รศ.พญ.วิศนี ตันติเสวี, รศ.พญ.อนิตา มนัสสากร, พญ.สุณี จันทร์แสงเพ็ชร์, นพ.รัฐ อิทธิพานิชพงศ์ และ พญ.กิติยา รัตนวงศ์ไพบูลย์ แพทย์ประจำหน่วยวิจัยต้อหิน ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

     3. สกินแคร์ต้านอนุมูลอิสระจากน้ำมันกัญชง ผลงานของ รศ.ดร.ภณิดา ซ้ายขวัญ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ TSE

     4. การซ่อมแซมคอนกรีตด้วยแบคทีเรีย พัฒนาโดย ผศ.ดร.ชนะชัย ทองโฉม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์, นายณัฐพงศ์ ยมสมิต นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา, นางสาวแทนใจ วงษ์แป้น นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและการบริหารการก่อสร้าง (EBM), นางสาวเพ็ญชิสา จันทร์วิเศษสิน นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและการบริหารการก่อสร้าง (EBM) และนายวิทยา จิตชัยเจริญ นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและการบริหารการก่อสร้าง (EBM)

     ทั้งนี้ การเปิดตัว 4 หลักสูตรใหม่ ‘วิศวะฯ นานาชาติเชิงบูรณาการ’ ภายใต้แนวคิด TEP-TEPE : The Next Concept of Engineering Education ปฐมบทใหม่ของการเรียนวิศวกรรมเชิงบูรณาการ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ของการเรียนด้านวิศวกรรม ที่พร้อมเดินหน้าพัฒนาคนรุ่นใหม่ สู่การเป็นโมเดลต้นแบบของการพัฒนาวิศวกรแห่งอนาคต ที่พร้อมเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจเรียนต่อด้านวิศวกรรม โดย TSE มุ่งมั่นในการสร้างบุคลากรด้านวิศวกรรมขั้นสูง เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศ รวมถึงส่งเสริมการต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการที่พร้อมด้วยทักษะที่หลากหลาย รองศาสตราจารย์ ดร.ธีร กล่าวทิ้งท้าย