Loading...

บัณฑิตเตะฝุ่นเพราะขาดทักษะโลกยุคใหม่ นายกฯ สมาคม AI เสนอปรับกระบวนทัศน์การศึกษา

นายกสมาคม AI ชี้กระบวนทัศน์การศึกษาต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องเทคโนโลยี สร้างบัณฑิตให้รับมือกับความต้องการ ทั้งดิจิทัล-เอไอ-หุ่นยนต์-วัสดุศาสตร์ ผสานซอฟต์สกิล

วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

  

          สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมสอบชิงทุนสำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศ (OPS) ประจำปีการศึกษา 2564 พร้อมทั้งแสดงนิทรรศการ 9 สาขาวิชา และบรรยายพิเศษหัวข้อ Transform University : Learning for the Future โดย ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย และราชบัณฑิต ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2563 ณ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

          ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง เปิดเผยว่า การจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทั้งในแง่ของการเรียน เนื้อหา เพื่อให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สังคม การดำเนินธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา แวดวงการศึกษามีการพูดถึงวิกฤตการตกงานของบัณฑิตไทยที่อาจจะมีมากถึง 72% เพราะขาดทักษะที่เท่าทันกับยุคสมัย

          การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังทำให้กระบวนการความเปลี่ยนแปลงถูกเร่งให้รวดเร็วขึ้น เห็นได้จากบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ อูเบอร์ Airbnb ฯลฯ มีการปรับลดคนและนำกระบวนการใหม่ ๆ เข้ามาใช้ในบริษัทมากขึ้น ดังนั้นคนที่มีทักษะแบบเก่าอาจไม่เป็นประโยชน์กับองค์กรอีกต่อไป ในเมื่อเทคโนโลยีถูกนำเข้ามาใช้ในทุก ๆ ด้านแล้ว อะไรคือทักษะที่โลกอนาคตต้องการ และสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย รวมถึงนักศึกษาจะปรับตัวอย่างไร

          “ผมคิดว่าคณิตศาสตร์ยังเป็นทักษะสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานของอีกหลายเรื่อง ควบคู่ไปกับองค์ประกอบของการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะประยุกต์ให้เกิดเป็นไอเดียที่ผสมผสาน สอดรับกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาป่วนในโลกของการศึกษา ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ (Robotics) หรือวัสดุศาสตร์ (Materials Science)” ศ.ดร.ธนารักษ์ กล่าว

          นอกจากทักษะทางด้านเทคโนโลยี สิ่งที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ในยุคถัดไปยังรวมไปถึงซอฟต์สกิล (Soft Skills) เช่น การเห็นอกเห็นใจ การเข้าใจความรู้สึก การวิเคราะห์ข้อมูล การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน รวมถึงทักษะเรื่องคน ทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งบทบาทของการเรียนการสอนเหล่านี้ ครอบครัวและชุมชนก็จะมีส่วนช่วยในการส่งเสริม ขณะที่สถานศึกษาก็จะต้องมีการออกแบบห้องเรียนในยุคใหม่ ออกแบบการเรียนรู้เฉพาะบุคคลตามความต้องการและจุดแข็งของผู้เรียน

          ในปัจจุบันโลกของการศึกษาได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาผนวกรวมกับการเรียนการสอนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำ AI เข้ามาใช้บริหารจัดการการเรียนการสอน การนำเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) Virtual Reality (VR) ระบบจำลอง (Simulation) เข้ามาประกอบสื่อการเรียน การจัดระบบห้องเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งในส่วนของ SIIT หรือ ธรรมศาสตร์ก็มีหลักสูตรอย่าง GenNext Academy หรือ TUXSA หลักสูตรออนไลน์ปริญญาโท เป็นต้น ศ.ดร.ธนารักษ์ กล่าว

          รศ.ดร.สุธาทิพย์ สวนมะลิ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการจัดการ SIIT กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนของ SIIT ไม่ได้มีเพียงด้านวิศวกรรมเท่านั้น แต่ยังมีสาขาการจัดการ ที่รวมเอาศาสตร์และความรู้จากหลายสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้บัณฑิตมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ ขณะเดียวกันยังเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ในสังคมนานาชาติ ที่มีนักศึกษาแลกเปลี่ยนหลายร้อยคนจากต่างประเทศมาร่วมเรียน เกิดเป็นความหลากหลายของสังคมแห่งการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน

          อีกหนึ่งจุดเด่นของการศึกษาใน SIIT คือการเปิดโอกาสให้นักศึกษาปีสุดท้ายสามารถเลือกเส้นทางตามความต้องการในอนาคตได้ เช่น จะใช้เวลาในปีสุดท้ายในการทำโครงการวิจัยให้เกิดเป็นรูปธรรม หรือการฝึกงานระยะยาว 4-6 เดือนแบบทำงานจริง หรือแม้แต่การหาประสบการณ์ในการศึกษาต่อที่ต่างประเทศ

          “SIIT ไม่ได้เป็นแค่สถาบันการเรียน แต่ยังเป็นสถาบันวิจัยที่เป็นพื้นฐานให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ บัณฑิตจบไปมีความรู้ที่ทันสมัย เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่านักศึกษาที่จบไปจากที่นี่ มีรายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่อื่น และมีอัตราการหางานได้ถึง 95% และผลตอบรับจากนายจ้างถึงความพึงพอใจจากตัวบัณฑิต เป็นชื่อเสียงของ SIIT ที่นักศึกษาจบมาแล้วมีคุณภาพ ทั้งยังมีความสามารถในการปรับตัวด้วยสังคมการเรียนที่มีความหลากหลาย” รศ.ดร.สุธาทิพย์ กล่าว