Loading...

วิทยาลัยฯ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เดินหน้าสร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมกันสร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งตนเองได้ 

วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2565

     วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โดย วิทยาลัยฯ สนับสนุนงานด้านวิชาการและงานวิจัย ส่วน พอช. จะสนับสนุนความรู้ด้านงานพัฒนาชุมชนทุกมิติ ทุกประเด็นงาน ขณะที่ขบวนองค์กรชุมชนพร้อมเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาเป้าหมาย “สร้างชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งตนเองได้” 

 

     ผศ.ดร.นิธินันท์ วิศเวศวร คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ฯ กล่าวถึงเจตนารมณ์ว่า  วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ฯ มีความยินดีที่องค์กรทั้ง 2 จะร่วมกันพัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งตนเองได้ โดยวิทยาลัยฯ มีความพร้อมและจะสนับสนุนภารกิจของ พอช. ให้เกิดการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนได้ ที่สำคัญประการแรก คือ การสนับสนุนบริการทางวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้นำองค์กรและบุคลากรของ พอช. ผ่านการวิจัยร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาชุมชนและสังคมที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมการพัฒนาทางสังคม

     นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้กับบุคลากรของ พอช. เข้าศึกษาในระดับปริญญาโท นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ส่วนวิทยาลัยฯ เองก็เปิดโอกาสให้นักศึกษาลงไปศึกษาในชุมชน นำความรู้มาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาและเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้ ดังนั้นการทำงานร่วมกันของ 2 หน่วยงาน จะเป็นการร่วมกันพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับเยาวชน จนถึงผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อจะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ก็จะประสานความร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน และภาครัฐในการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการหนุนเสริมการทำงานขององค์กรชุมชนตามศักยภาพและความเชี่ยวชาญของทางวิทยาลัยฯ รวมทั้งสนับสนุนบุคลากรเพื่อร่วมกันดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ ถือเป็นก้าวสำคัญของ 2 หน่วยงานที่จะร่วมกันดำเนินงานด้านบริการวิชาการ เพื่อเป็นเครื่องมือนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

     นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า พอช. มีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การพัฒนาอาชีพ การเพิ่มรายได้ การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวม หรือบูรณาการ โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และหลักคิดการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสำคัญ โดยใช้กลไกสภาองค์กรชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคมไปพร้อมกัน

     นับตั้งแต่การจัดตั้ง พอช. ในปี 2543 จนถึงปัจจุบัน พอช. ทำงานการด้วยการประสานงานและสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน วิชาการ สถาบันการศึกษา ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ

     ส่วนเป้าหมายความร่วมมือในการบันทึกความร่วมมือกับวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ ในครั้งนี้คือการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตนเองได้ โดย พอช. จะสนับสนุนองค์ความรู้จากการทำงานพัฒนาชุมชน ประสานการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ให้เกิดระบบการทำงานร่วมกันที่ดี วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ รวมถึงเชื่อมโยงขบวนองค์กรชุมชนเข้าร่วมขบวนการเรียนรู้และการพัฒนาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานของ พอช. ร่วมดำเนินงานเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่

     ด้าน นางสาวจรรยา กลัดล้อม ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของขบวนองค์กรชุมชนในการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาชุมชนเข้มแข็งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนว่า ในนามขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่ได้รับเกียรติจากสถาบันการศึกษา และ พอช. ที่มาร่วมมือเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ซึ่งจะมีงานวิชาการเข้ามาผลักดันการพัฒนาพื้นที่ให้พื้นที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ มีงานวิจัย มีงานวิชาการเข้ามาเสริม เพื่อให้พื้นที่และขบวนองค์กรชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น

     “ขบวนองค์กรชุมชนมีเจตนารมณ์หลัก คือใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อนงานทุกประเด็นงาน เพื่อให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็งมากขึ้น วันนี้เราได้ฝ่ายวิชาการ และ พอช. มาเป็นพี่เลี้ยง และเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาในพื้นที่ จะทำให้พื้นที่มีความเข้มแข็ง และพวกเราจะเป็นหุ้นส่วนหลักในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ต่อไปนี้ประชาชนในพื้นที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และชุมชนจะมีความเข้มแข็งมากขึ้น” ผู้แทนเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน กล่าวทิ้งท้าย

     ภายในงานยังมีกิจกรรมให้นักศึกษาจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ ได้ร่วมศึกษาเรียนรู้กระบวนการทำงานของ พอช. ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยใช้แนวคิดองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก พื้นที่เป็นตัวตั้ง บทบาทของขบวนองค์กรชุมชนกับการขับเคลื่อนงานพัฒนาจากฐานราก รูปธรรมการขับเคลื่อนงานพัฒนาโดยใช้โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบทเป็นเครื่องมือ และพลังของคนรุ่นใหม่กับการทำงานพัฒนาในพื้นที่ ฯลฯ