สถาปนาวิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. ปีที่ 24 นักศึกษาโชว์ไอเดีย “Fixed Friendship” ผลงานแชมป์ ATDSS Day
วิทยาลัยสหวิทยาการ ธรรมศาสตร์ จัดงานครบรอบ 24 ปี โดยมีนักศึกษาสาขา DSI นำเสนอแนวคิดธุรกิจ รางวัลชนะเลิศจาก ATDSS Day: TU at First Sight
วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566
วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานครบรอบ 24 ปี เนื่องในโอกาสสถาปนาวิทยาลัยฯ โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รศ.ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมงานฯ เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ณ วิทยาลัยสหวิทยาการ อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3 (SC3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ภายในงานมีการนำเสนอผลงานแนวคิดทางธุรกิจ โดยกลุ่มนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล (DSI) ประกอบด้วย ปกรณ์กิตต์ กัลยาพิเชฏฐ์, ณัฐภัทร ทันอินทรอาจ, ธิตติภัทร์ ไพรัชศุภวัฒน์ และธนณัฏฐ์ จิรมงคลภัทร์ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศจากผลงาน Fixed Friendship Platform ในงาน ATDSS Day: TU at First Sight จัดโดย ภาคีเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลไทย (ATDSS)
ทีมผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ เล่าถึง Fixed Friendship Platform ว่า ในการทำงานเราต้องพบเจอคนหลากหลาย และต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา บางครั้งต้องเจอกับปัญหา เกิด Toxic ภายในกลุ่ม ทำให้คุณภาพและประสิทธิภาพของงานลดลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปถึงความสัมพันธ์หลังจบงานได้ โดยโปรเจกต์ Fixed Friendship Platform จะเข้ามาช่วยแก้ Toxic Work Culture ที่ทุกคนมักจะมองข้ามไป
โดยได้นำ Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) เป็นแบบทดสอบประเภทบุคลิกภาพ ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่สามารถประเมินได้ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น มาใช้ในโปรเจกต์ และได้ศึกษาเพิ่มเติมจนพบว่า แต่ละประเภทของ MBTI จะมีคู่ที่เหมาะสมกันอยู่ เมื่อมาทำงานด้วยกันแล้วจะทำงานได้อย่างราบรื่น จึงได้นำ MBTI เข้ามาเป็นตัวแก้ปัญหา และนำความรู้จากสาขา Data Science and Innovation มาปรับใช้จนเป็นผลงาน Fixed Friendship platform
Fixed Friendship Platform มาในรูปแบบของ Website สามารถใช้งานได้ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ โดยการทำงานจะให้ทุกคนอยู่ในกลุ่มเดียวกันเหมือน Group Chat จากนั้นให้ทุกคนกรอกข้อมูลทั่วไป และข้อมูล MBTI ของตนเอง โดยเราได้นำ AI มาใช้วิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งผลลัพธ์ที่ปรากฏจะบอกว่าแต่ละคนเหมาะจะทำงานกับใคร ไม่เหมาะที่จะทำงานกับใคร และต้องมีการปรับตัวอย่างไร
นอกจากนี้ ผู้ใช้งานสามารถ Feedback ได้ว่าประมวลผลของ AI สามารถนำไปปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้ AI เกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้การแบ่งกลุ่มในการทำงานครั้งต่อไปแม่นยำยิ่งขึ้น และช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น เมื่อไม่มี Toxic Work Culture งานแต่ละกลุ่มก็จะออกมามีคุณภาพ
ทั้งนี้ ภายในงานได้จัดพิธีรับมอบเครื่องคอมพิวเตอร์จากบริษัท อินโนโค จำกัด เพื่อใช้สนับสนุนการเรียนการสอนของวิทยาลัยสหวิทยาการ พิธีรับมอบทุนการศึกษาจาก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด พิธีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี 2563 และ 2565 และเสวนาวิชาการ เรื่อง “สารสนเทศสุขภาพสำหรับการแพทย์แผนตะวันออก โดย นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก