Loading...

ธรรมศาสตร์ เปิดพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ มุ่งสู่ ‘House of Wisdom’ ด้วยสิ่งแวดล้อมเป็นมิตร

สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา ธรรมศาสตร์ พัฒนาโครงการ MIXED USE COMMUNITY SPACE ส่งเสริมการสร้างศูนย์กลางของชุมชน แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566

วันจันทร์ 27 มีนาคม พ.ศ.2566

     ผลจากการสํารวจทิศทางเชิงกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยชั้นนําของโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ประกอบไปด้วย Cornell University และ Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา, London School of Economics สหราชอาณาจักร และ National University of Singapore ประเทศสิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยชั้นนํามีการกําหนดวิสัยทัศน์ที่สะท้อนถึงความเป็นเลิศระดับโลกในด้านที่เป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัย ซึ่งตอกย้ำถึงการแข็งขันของวงการอุดมศึกษาที่ไร้พรมแดน นอกจากนั้น แนวโน้มของค่านิยม และคติที่มหาวิทยาลัยชั้นนําของโลกให้ความสําคัญนั้นจะเน้นเรื่องของการมีนวัตกรรมที่สามารถช่วยเหลือสังคม การมีส่วนรวมของสังคมและโลกอย่างยั่งยืน รวมไปถึงการยอมรับในความแตกต่าง นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญในการเปิดพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์รวมชุมชน

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของบุคลากรซึ่งได้ดำเนินการพัฒนาที่ทำงานแห่งอนาคต (Future Workplace) ทางด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารด้านต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน อีกทั้งยังพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมแห่งอนาคต (Future Life and Society) ที่มีเป้าหมายเป็นพื้นที่ในการผลิตผลงานวิจัย สร้างสรรค์นวัตกรรม และ Startup รวมทั้งให้บริการสังคมและบริการทางสุขภาพ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาคมและสร้างสังคมที่ดีียิ่งขึ้นในอนาคต 

     โครงการปรับปรุงผังแม่บทมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พ.ศ. 2577 กำหนดให้หนึ่งในเป้าหมายหลักคือการเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและต้องเป็น “เมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวยั่งยืน” Sustainable Campus Town พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่กระจายอยู่ทั่วมหาวิทยาลัยเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายระบบนิเวศ เป็นพื้นที่การศึกษาและเรียนรู้ธรรมชาติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเรียนรู้แวดล้อมด้วยองค์ประกอบสวนสีเขียว และต้นไม้นานาพรรณ จากข้อมูลการคาดการณ์ประชากรธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในปี พ.ศ. 2577 ประชากรรวมที่อาศัยอยู่ภายในมหาวิทยาลัย จะมีจำนวนทั้งสิ้น 33,060 คน โดย 32% เป็นประชากรกลุ่มบุคลากรมหาวิทยาลัย อาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการอยู่อาศัยถาวรภายในมหาวิทยาลัย “การสร้างศูนย์กลางของชุมชน” ภายในเมืองมหาวิทยาลัยสีเขียวแห่งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาให้ความสำคัญ เพื่อเสริมความสัมพันธ์ของสมาชิกชุมชน

     ด้วยพื้นที่กว่า 12,825 ตารางเมตร ใจกลางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต บริเวณถนนยูงทอง ตัดกับถนนตลาดวิชา สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาโครงการ MIXED USE COMMUNITY SPACE ที่ครบครัน “HOUSE OF WISDOM” (หรือ H.O.W) ขึ้นเพื่อส่งเสริมและให้ความสำคัญกับการสร้างศูนย์กลางของชุมชนเพื่อทำหน้าที่เป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนสัมพันธ์ ปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้คน ในบรรยากาศพื้นที่สีเขียวริมน้ำและสิ่งแวดล้อมที่ผ่อนคลายเป็นมิตร เพื่อเป็นแหล่งให้ผู้คนร่วมกันสร้างสรรค์ความรู้อันหลากหลาย ต่อยอดพัฒนาเป็นวัตกรรมใหม่ใน“บ้านแห่งปัญญา”

     นายยรรยง อัครจินดานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา กล่าวว่า ในการพัฒนาโครงการ MIXED USE COMMUNITY SPACE เพื่อต้องการให้เป็นพื้นที่ทำงานของอาจารย์และบุคลากร ซึ่งด้านในประกอบไปด้วย Co-Working Space ห้องประชุมย่อย พื้นที่จัดนิทรรศการแสดงผลงานนักศึกษา ร้านอาหาร คาเฟ่ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานของคนในพื้นที่ โดยรอบอาคารออกแบบให้เป็นพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     แนวคิดในการออกแบบตัวอาคารคำนึงถึงการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล Universal Design อันเป็นแนวคิดสากลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการมีส่วนร่วม เปิดรับคนทุกกลุ่ม และมีความกลมกลืนกับธรรมชาติ Net Zero Energy Building ด้วยการใช้พลังงานจากแผงโซลาร์เซลล์ ตามแนวทางอาคารประหยัดพลังงาน ใช้พลังงาน และแสงสว่างจากแสงอาทิตย์ และการออกแบบตัวอาคารให้ความสำคัญกับแนวแกนรับลมธรรมชาติตามฤดูกาล อันจะเป็นส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างความรู้สึกใกล้ชิดและเชื่อมต่อกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด 

     โดย H.O.W. มีกำหนดสร้างแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566 เพื่อให้ประชาคมธรรมศาสตร์ได้ใช้บริการในช่วงปลายฤดูฝนต้นฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของปี พร้อมรองรับกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข