Loading...

“ความเครียด” เป็นภัยคุกคาม? ที่ต้องรับมือ จนลามเป็น “Burnout”

เจอล็อกดาวน์ จากสถานการณ์ COVID-19 พร้อมกับ Work from Home 100% แบบนี้ ก็ต้องเฉาเป็นธรรมดา และนอกจากจะเฉาแล้ว “ความเครียด” ก็ตามติดมาเป็นเงาซะด้วยสิ แล้วจะเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าด้วยหรือป่าว?

 

     เจอล็อกดาวน์ จากสถานการณ์ COVID-19 พร้อมกับ Work from Home 100% แบบนี้ ก็ต้องเฉาเป็นธรรมดา และนอกจากจะเฉาแล้ว “ความเครียด” ก็ตามติดมาเป็นเงาซะด้วยสิ แล้วจะเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าด้วยหรือป่าว? พูดคุยกับ อาจารย์บุรชัย อัศวทวีบุญ สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปด้วยกันค่ะ

เมื่อต้องใช้พลังงานจัดการ “ความเครียด” จนเหนื่อย!

     “ภาวะเครียด หรือ ความเครียด” สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้า และนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ในที่สุด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าคนที่มีเครียดมาก ๆ ทุกคนจะเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป

     ความเครียดที่เกิดขึ้นกับตัวเรา อาจมาจากปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก ที่เรารับรู้ว่ามันกำลังคุกคามเราอยู่ พอเราถูกคุกคามก็ทำให้เราเกิดความเครียด! และเราจะปรับตัวหาวิธีรับมือกับสิ่งนั้น ซึ่งการรับมือนี้จำเป็นต้องใช้พลังงาน พอใช้พลังงานไปจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือการที่ร่างกายเราปรับตัวให้อยู่ในภาวะสมดุล เราก็จะเหนื่อยทำให้เกิดภาวะ Burnout แต่คำว่า Burnout ในที่นี้ไม่ใช่ภาวะหมดไฟในการทำงานซึ่งใช้คำว่า Burnout เหมือนกัน แต่เป็นขั้นตอนหนึ่งของการรับมือกับความเครียดตามปกติ

     สำหรับ Burnout ที่เป็นภาวะหมดไฟ อาจยกตัวอย่างได้เช่น เราต้องเจอหัวหน้างานไม่ดีทุก ๆ วัน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นในทุกวันและเราก็คิดว่าในอนาคตมันจะเกิดขึ้นโดยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีพื้นที่ที่ให้เราได้หยุดพักจากความเครียดที่เกิดขึ้น หรือเกิดการ Burnout ตามปกติของการจัดการความเครียด แต่ความเครียดมันมีเกือบตลอดเวลา จน Burnout มีความต่อเนื่องจนกลายเป็นภาวะหมดไฟ เป็นความเหนื่อยล้าทางจิตใจที่เกิดขึ้นจากความเครียดในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จำได้มีคนอธิบายว่าเป็น “ความเหนื่อยล้าทางจิตวิญญาณ” ก็เป็นคำอธิบายที่ทำให้เข้าใจความรู้สึกได้ว่ามันเหนื่อยขนาดไหน เมื่ออยู่ในเหตุการณ์นั้นไปเรื่อย ๆ สุดท้ายเราก็ไม่อยากจะทำอะไร เหมือนกับตัวเราเองจัดการอะไรไม่ได้ พอเราคิดว่าจัดการไม่ได้ เราก็เลยไม่ทำอะไร เรียนรู้ที่จะไม่ทำอะไร บางครั้งเราอาจคิดว่าก็ทำทุกอย่างแล้วในความคิดของเรา แต่มันก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น พอไม่ทำอะไรไปนาน ๆ เข้า ก็เรียนรู้ซ้ำอีกว่าทำอะไรไม่ได้ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นความคิดว่าเราไม่มีคุณค่า ไม่สามารถรับมืออะไรได้เลย เราก็จะคิดต่อไปในทางที่แย่ขึ้นเรื่อย ๆ ได้

ภาวะ Burnout กับ โรคซึมเศร้า อาจเป็นคู่พี่น้องกันก็ได้!

     ถ้าเรารู้สึก Burnout นาน ๆ ก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้! เพราะมีลักษณะอาการหลายอย่างที่ใกล้เคียงกัน โรคซึมเศร้าเป็นโรคในกลุ่มของอารมณ์ผิดปกติที่มีการแสดงออกทางอารมณ์ด้านลบเป็นหลัก ซึ่งอารมณ์ก็จะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมรวมถึงการทำงานของร่างกายเรา ทำให้เกิดความคิดว่าไม่สามารถจัดการบางสิ่งได้ ไม่มีความสามารถ ทำให้รู้สึกแย่ พอนาน ๆ ไป ฟังก์ชันการใช้ชีวิตเริ่มเสียมากขึ้น ในขณะที่ Burnout จะเป็นปัญหาเรื่องของการจัดการกับความเครียดเป็นหลัก หรือการจัดการกับสถานการณ์หรือปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เราเรียด ทั้งสองอาการนี้จึงคล้ายกันตรงที่ว่า “ไม่สามารถจัดการบางสิ่งได้” ทำให้รู้สึกแย่ ความรู้สึกสิ้นหวัง เกิดอารมณ์ทางด้านลบได้เช่นเดียวกัน

Work from Home เป็นเวลานาน ทำให้เรา Burnout ได้!

     Work from Home แล้วเกิดภาวะ Burnout เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว ถ้าหากเรามองว่า “ความเครียด” คือสิ่งคุกคาม การระบาดของ “โควิด-19” ก็เป็นภัยคุกคามอย่างหนึ่ง การที่เราต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เช่น ทำงานที่บ้าน บ้านอาจเป็นสถานที่ที่เราไม่ได้วางแผนไว้แต่แรกว่าจะต้องใช้ทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ก็ต้องมาวางแผนจัดการกันใหม่ มันเป็นสภาพที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตของเรา การประชุมจากประชุมกันในที่ทำงานก็เปลี่ยนเป็นแบบออนไลน์ ก็ต้องปรับตัวในเรื่องของการใช้อุปกรณ์ การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งหลายคนก็ไม่ได้มีความพร้อมในด้านนี้ ทั้งลักษณะบ้าน อุปกรณ์ หรือการเรียนรู้เทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ก็ทำให้เกิดความเครียดได้

     เมื่อบ้านกลายเป็นที่ทำงาน ทำให้เรื่องของพื้นที่เข้ามามีบทบาท จากบ้านที่เป็นพื้นที่ของการผ่อนคลายความรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานมาทั้งวัน กลายเป็นพื้นที่ที่ต้องมาทำงาน บ้านที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกผ่อนคลายก็หายไป  กลายเป็นเชื่อมโยงกับความรู้สึกของการทำงานแทน ทำให้บางครั้งถ้าปรับตัวหรือจัดการเวลาได้ไม่ดี ก็จะทำให้ทำงานไปเรื่อย ๆ ทั้งวัน เช่น การประชุมที่ไม่มีวันหมดสิ้น หรือการสั่งงานนอกเวลางานแล้วคาดหวังที่จะให้คนทำงานในตอนนั้น มันเลยทำให้เราเสียช่วงเวลาของการใช้ชีวิตส่วนตัวไป แต่ถ้ามองในอีกมุมที่คนสามารถเชื่อมโยงให้บ้านกลายเป็นที่ทำงานได้ ก็จะไม่สามารถเริ่มทำงานได้ตามที่ตั้งใจไว้ ไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน พอชีวิตมันเปลี่ยนไป ทำให้เราต้องปรับตัว ต้องใช้พลังงานในการปรับสมดุล แต่ถ้าปรับไม่ได้ก็จะทำให้เรารู้สึกแย่ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่สามารถเกิดขึ้นได้

     ถ้าหากรวมเข้ากับการประกาศ Lockdown ก็จะทำให้เครียดยิ่งขึ้น เพราะต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตมากขึ้น ถ้าเรารับรู้ว่าต้องปรับมาก หรือการใช้ชีวิตเปลี่ยนมากเกินไป ก็จะทำให้ยิ่งเครียด ความรู้สึกต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจะทำให้เราปรับตัวได้ยาก ซึ่งก็เป็นผลมาจากการรับรู้และความเข้าใจของเราที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ความคิดของเราเองก็เป็นภัยคุกคามต่อตัวเราได้เช่นกัน สิ่งสำคัญคือ “เราปรับตัวได้มากน้อยแค่ไหน” กลไกในจิตใจของแต่ละคนมีวิธีการรับมือกับปัญหาที่ไม่เหมือนกัน และความเครียดก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่ความเครียดที่จัดการไม่ได้ถือเป็นปัญหา