Loading...

“ธรรมศาสตร์” หารือ “คมนาคม” เข้าร่วม TOD พัฒนาพื้นที่รอบโครงการรถไฟฟ้า สายสีแดงเข้ม

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หารือกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เร่งสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ธรรมศาสตร์ รังสิต พร้อมพัฒนาพื้นที่รอบโครงการฯ ปรับปรุงโครงข่ายถนนรอบมหาวิทยาลัย

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2564

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าหารือกับ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร รองอธิบดีกรมทางหลวง (นายมนตรี เดชาสกุลสม) และผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ก่อสร้างสถานีรถไฟส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และการพัฒนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564

โดยดำเนินการพัฒนาร่วมกัน ดังนี้

   1. ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยเร่งดำเนินการงานโยธาและระบบรางเป็นลำดับแรกก่อน ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ ภายในปี 2568 ทั้งนี้ ในระหว่างการก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้จัดรถไฟดีเซลรางเดินรถเชื่อมต่อระหว่างสถานีรังสิต ไปถึงสถานีเชียงรากน้อย เพื่อรองรับการเดินทางไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปก่อน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2564

   2. กรมทางหลวงได้พิจารณาปรับปรุงโครงข่ายถนนบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเบื้องต้นแล้ว รวมทั้งมีแผนการพัฒนาในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายถนนและการคมนาคม บริเวณพื้นที่รังสิต เป็นไปด้วยความสะดวก ปลอดภัย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในภาพรวม จึงได้มอบหมาย ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงข่ายการคมนาคม บริเวณพื้นที่รังสิต เพื่อพิจารณาผลักดันการดำเนินการไปสู่เป้าหมายดังกล่าวต่อไป

   3. กรมการขนส่งทางบกได้ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถเพื่อรองรับพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แล้ว ทั้งนี้ เนื่องจากมีนักศึกษาและประชาชนจำนวนมากมาใช้บริการของมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะปรับแนวเส้นทางเข้าไป ในมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ โดยตรง

   4. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความสนใจที่จะร่วมพัฒนาพื้นที่กับกระทรวงคมนาคม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนา Transit Oriented Development ของกระทรวงคมนาคม ดังนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นควรจะร่วมมือกัน ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรพิจารณายกร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายในรายละเอียด เพื่อผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

   5. ทั้งสองฝ่ายตกลงในหลักการที่จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมระบบราง โดยอาจขยายผลไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านการขนส่งอื่น ๆ เช่น ด้านพาณิชยนาวี เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายจะได้หารือในรายละเอียดถึงกรอบความร่วมมืออีกครั้งหนึ่ง

ขอบคุณภาพจาก Facebook ประชาสัมพันธ์กระทรวงคมนาคม