Loading...

เรื่องควรรู้กับ ‘ภูมิแพ้’ ที่มาพร้อมหน้าฝน

หน้าฝนมาพร้อมสารก่อภูมิแพ้ที่ต้องระวัง อาจารย์แพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะต้องป้องกันไม่ให้อาการภูมิแพ้กำเริบ

วันศุกร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565

     ในช่วงหน้าฝน สภาพอากาศที่ไม่เป็นใจอาจทำให้โรคภัยมาเยือนโดยไม่รู้ตัว รวมไปถึงคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ต้องยิ่งดูแลตัวเองเพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ที่มาพร้อมกับสายฝนที่อาจทำให้อาการของคุณกำเริบได้

     วันนี้ ศ.พญ.ดร.อรพรรณ โพชนุกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศโรคภูมิแพ้ โรคหืด และโรคระบบหายใจ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาเผยเรื่องควรรู้เกี่ยวกับ ‘ภูมิแพ้’ ที่มาพร้อมหน้าฝน ซึ่งทั้งคนที่เป็นภูมิแพ้และไม่เคยเป็นควรทำความเข้าใจ

     ศ.พญ.ดร.อรพรรณ เผยว่า หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าโรคภูมิแพ้คือการมีภูมิคุ้มกันต่ำ แต่จริง ๆ แล้วโรคภูมิแพ้คือการมีภูมิไวเกิน กล่าวคือการที่เรามีภูมิในร่างกายมากเกินจนตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากผิดปกติ ซึ่งลักษณะสำคัญของโรคภูมิแพ้คือต้องเป็นเรื้อรัง ที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ    

     โรคภูมิแพ้ หากแบ่งตามระบบที่มีอาการ จะสามารถแบ่งได้อย่างง่าย 5 ประเภท คือ

   1. ภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการจาม น้ำมูก คัดจมูก ไอเรื้อรัง หายใจหอบเหนื่อยง่าย

   2. ภูมิแพ้ทางผิวหนัง เช่น มีผื่นแดง คัน ผิวแห้ง

   3. ภูมิแพ้ที่ขึ้นตา เช่น อาการตาแดง คันตา น้ำตาไหล

   4. ภูมิแพ้ในระบบทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสียง่ายเวลาแพ้อาหารหรืออาเจียน ถ่ายเป็นเลือด

   5. ภูมิแพ้ในหลายระบบ เช่น การมีอาการภูมิแพ้ทั้งผิวหนัง ทั้งทางเดินหายใจ เป็นต้น

     ศ.พญ.ดร.อรพรรณ กล่าวว่า ในหน้าฝนมีสารก่อภูมิแพ้เยอะเนื่องจากความชื้น โดยเฉพาะไรฝุ่นที่ชอบอากาศชื้น นอกจากนี้ ยังมีเชื้อราหรือสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน เช่น ฝุ่นที่อยู่เกาะอยู่ตามเครื่องใช้ภายในบ้าน  และการติดเชื้อไวรัส โดยคนที่เป็นภูมิแพ้จะสามารถติดเชื้อไวรัสแล้วเป็นหวัดได้ง่าย

     ดังนั้นในหน้าฝนสิ่งที่เราจะต้องเจอในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ คืออาการภูมิแพ้ทางเดินหายใจกำเริบ เช่น อากาศชื้น อาจทำให้มีอาการจาม น้ำมูก คัดจมูก หรือว่าหากเราได้รับฝุ่น เชื้อราในบ้านก็จะเกิดอาการภูมิแพ้ทางเดินหายใจได้ บางคนก็มีอาการหอบง่าย ไอง่าย ตอนกลางคืน บางคนพอฝนตกก็มีน้ำมูก คัดจมูก รวมไปถึงอาการนอนกรน

     เพราะฉะนั้นเราต้องระวังไม่ให้อาการภูมิแพ้กำเริบด้วยการใช้ยาต่อเนื่องทุกวัน ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

     สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นภูมิแพ้ ศ.พญ.ดร.อรพรรณ กล่าวว่า สามารถมีโอกาสเป็นได้เพราะโรคภูมิแพ้นอกจากเป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้แล้ว สภาพแวดล้อมเองก็มีผลอย่างมากต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ได้เช่นกัน

     ในปัจจุบัน มีทฤษฎีที่เรียกว่า epigenetics กล่าวคือสิ่งแวดล้อมมีผลกับพันธุกรรม ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับ และสามารถตอบในข้อสงสัยที่ว่าทำไมคนถึงเป็นโรคภูมิแพ้เยอะขึ้นแม้คนในครอบครัวจะไม่เป็นโรคภูมิแพ้ก็ตาม สมัยก่อนเรามักมีความเชื่อว่าโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่เกิดจากพันธุกรรม ต้องมีปัจจัยเสี่ยงในครอบครัวเท่านั้น แต่ปัจจุบันทฤษฎีนี้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะว่าสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิต อาหารการกิน  ล้วนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของยีนหรือสารพันธุกรรม ทำให้เราเป็นภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น

     “เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่อยากเป็นภูมิแพ้ เราต้องคำนึงถึงการใช้ชีวิต สภาพแวดล้อม อาหารที่เรากิน ซึ่งทั้งหมดเหล่านี้ล้วนส่งผลทำให้เกิดภูมิแพ้ได้ง่าย” ศ.พญ.ดร.อรพรรณ กล่าว