Loading...

“นมแม่รากฐานแห่งชีวิต” สนับสนุนการให้นมแม่จนกว่าลูกอายุครบ 2 ขวบ

 

การให้นมแม่จนถึงอายุ 2 ขวบ มีประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบภูมิคุ้มกันรวมถึงประสิทธิภาพทางสมองของเด็ก

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2564

 

     กว่าทศวรรษที่ “องค์กรพันธมิตรนมแม่โลก” (World Alliance for Breastfeeding Action หรือ WABA) กำหนดให้ทุกวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี เป็น “สัปดาห์นมแม่โลก” เพื่อให้นานาประเทศเห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่ง World Breastfeeding Week 2021 มีคำขวัญที่ใช้ในการรณรงค์สำหรับปี 2021 ว่า “Protect Breastfeeding: A Shared Responsibility”

     ผศ.พัชรพร แก้ววิมล สาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว่า จะเห็นได้ว่า “การให้นมแม่” คือโอกาสทองที่ลูกจะได้รับสารอาหารมากกว่า 200 ชนิดที่ร่างกายดูดซึมไปใช้ได้เลย ขณะที่เริ่มหัดดูดนมช่วงอายุ 1 สัปดาห์แรก สิ่งสำคัญคือ คุณแม่และลูกต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เทคนิคการเข้าเต้าจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก สิ่งเหล่านี้ต้องใช้ประสบการณ์ตรงที่คุณแม่มือใหม่ต้องฝึกหัด อย่าด่วนยุติการให้นมแม่ เนื่องด้วยในปัจจุบันมีตัวช่วยแหล่งสนับสนุนมากมาย ทั้งคลินิกนมแม่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ หรือคลับนมแม่ในกลุ่มโซเชียลที่มีให้เห็นมากมาย ขอเพียงคุณแม่เล่าปัญหาที่มีมา กลุ่มเหล่านี้ก็พร้อมที่จะหาวิธีช่วยแก้ไขปัญหานั้น ยิ่งไปกว่านั้นการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยดูดจากเต้าโดยตรงนั้น เป็นการกระตุ้นฮอร์โมนได้ดี อีกทั้งยังช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว หากคุณแม่กังวลว่าลูกจะติดเต้า ขอให้คุณแม่ได้ผ่านพ้นระยะของการกระตุ้นการสร้างน้ำนมที่สำคัญนี้ไปเสียก่อน  

     โดยขั้นตอนการสร้างน้ำนม ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการทารก ซึ่ง 1 สัปดาห์แรก น้ำนมที่ต้องการปริมาณจะอยู่ที่ ½-1 ออนซ์ต่อมื้อ เมื่อทารกเติบโตขึ้น จะสามารถดูดนมจากเต้าได้ในปริมาณเยอะขึ้นตามธรรมชาติ ก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เป็นมื้อละ 1 เต้า ข้างละ 2-3 ออนซ์ ในช่วงนี้คุณแม่จะเริ่มทำสต็อกน้ำนมได้แล้ว เด็กจะกินจากเต้า 1 ข้าง อีกข้างปั๊มเก็บ

     “เทคนิคการเพิ่มน้ำหนักลูกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” ระยะที่อยู่บ้านหากสะดวกให้ลูกกิน 1 เต้า อีกข้าง 1 ปั๊มเก็บทันที ส่วนกรณีที่คุณแม่ต้องกลับไปทำงานแล้ว ประเด็นที่อยากฝากคือ “ปั๊มคู่ จะดีถ้ามีและสะดวก ย่นเวลา ถามหาไขมันดี” ซึ่งไขมันดีในที่นี้สามารถนำไปสร้างเซลล์สมองให้ลูก จริง ๆ ก็เป็นที่มาเหมือนกันว่า ทำไมเด็กที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถมองเห็นได้ดีกว่าทารกกลุ่มอื่น และผลการวิจัยต่างก็สนับสนุนว่าเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวมี IQ ที่ดี และอีกหนึ่งเหตุผลที่เราสนับสนุนให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว โดยเฉพาะ 6 เดือนแรก เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 5,000 บาท

     หนทางของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เริ่มที่ 1-6-2 คืออะไร ในที่นี้ “1” คือ ดูดเร็วภายใน 1 ชม. แรกเกิด ทำให้ไวที่สุด ไม่แยกแม่จากลูกหากเป็นไปได้ “6 เดือนแรก” คือ ให้นมแม่เป็นอาหารหลักอย่างเดียว ไม่ต้องมีน้ำ ไม่เริ่มอาหารเสริมก่อนวัย และให้นมแม่ต่อเนื่องได้จนอายุ “2” ขวบปี ช่วงอายุ 1 ขวบปี จะเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของเด็กเริ่มลดลง โอกาสเจ็บป่วยตามวัยจะมีมากขึ้นตามลำดับ หากเปรียบเทียบเด็กที่ได้รับนมแม่ จะมีความรุนแรงของอุบัติการณ์การติดเชื้อที่น้อยกว่า มีโอกาสก็ยังแนะนำว่า ให้นมแม่อย่างเดียวตลอด 6 เดือน และต่อเนื่องจนครบ 2 ขวบ

     หากมีความจำเป็นต้องใช้อาหารดัดแปลง ไม่แนะนำให้ป้อนนมซ้ำ ๆ จากขวดเดียวที่ชงไว้ ควรเตรียมนมในน้ำร้อนที่ผสมแล้ว ใช้ป้อน 1 ครั้ง และใช้ได้ภายใน 1 ชม. เมื่อทารกกินผ่านปากไปแล้ว กรณีที่ชงทิ้งไว้และยังไม่ได้ดื่ม ก็เป็นไปได้ว่า รอป้อนภายใน 2 ชม. ยังใช้ได้

     ปริมาณที่เราชงให้เด็กก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทารกแรกเกิดทั่วไปเฉลี่ยน้ำหนักตัวอยู่ที่ 3 กิโลกรัม ต้องการปริมาณนมเพียง 100 ซีซี/วัน เฉลี่ยกินนมวันละ 8 มื้อ ก็สามารถป้อนนมได้ครั้งละไม่เกิน 2 ออนซ์ ให้ประเมินจากทารกเป็นหลัก ลูกอิ่มไหม เรอเก่งหรือเปล่า นอนหลับยาว ปัสสาวะสีไม่เข้มจึงจะใช้ได้ และเมื่อทารกอายุ 4-6 เดือนขึ้นไป ก็จะกินนมได้มากขึ้นประมาณ 3 ออนซ์ต่อมื้อ โดยคร่าว ๆ จะเห็นว่า ถ้าดูดนมแม่จากเต้าจะง่ายมาก ไม่ต้องกะ ไม่ต้องตวง เต้านมจะยืดขยายได้ตามปริมาณนมที่เด็กต้องการ ประโยชน์ค่อนข้างกว้าง เลี้ยงแบบเป็นธรรมชาติ เอาตามที่คุณแม่ไหว ให้เป้าหมายนำทาง ไม่แน่ใจมองหาตัวช่วยตามที่กล่าวไปในข้างต้น เช่น ขอรับคำปรึกษาที่ คลินิกนมแม่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โทร. 02-926-9976

     “ในยุคของการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบัน หากคุณแม่ท่านใดที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโควิด-19 ก็สามารถให้นมแม่ได้แต่ต้องใส่ MASK ตลอดเวลา และเน้นการล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้ง และคุณแม่ท่านใดที่ยังต้องรับประทานยากลุ่มฟาร์วิพิลาเวียร์ให้บีบน้ำนมทิ้ง ให้สังเกตอาการ แยกบริเวณจากลูก 10 วัน จนกว่าจะไม่มีไข้ครบ 24 ชม. จึงจะกลับมาให้นมแม่และอยู่กับลูกได้ นอกจากนี้ประเด็นที่ถามเข้ามาบ่อย ๆ คือ ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถให้นมแม่ได้ไหม ปั๊มนมได้หรือไม่ ตอบเลยค่ะ “ว่าได้” การให้นมแม่ช่วงนี้ยังเป็นการส่งผ่านเม็ดเลือดขาวที่สร้างภูมิต้านทานป้องกันโควิด-19 ไปสู่ลูกด้วยค่ะ (ข้อมูลจาก mRNA vaccine)” ผศ.พัชรพร กล่าวทิ้งท้าย