Loading...

นักศึกษา SIIT ธรรมศาสตร์ คว้าเหรียญรางวัลผู้มีความสามารถดีเด่น Super AI Engineer Season 2

4 นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเหรียญรางวัลผู้มีความสามารถดีเด่น โครงการ Super AI Engineer Season 2

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2565

     สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Sirindhorn International Institute of Technology: SIIT) จัดพิธีเปิดงานนิทรรศการ Super AI Engineer & Startup Exhibition 2022 และพิธีมอบเหรียญรางวัล Super AI Engineer Season 2 ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารจัดการทุน ด้านการพัฒนากําลังคน การพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ให้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนานวัตกร-วิศวกร-นักวิจัย-วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์” หรือ “สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)” เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ณ ลานนิทรรศการ Beacon 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

นักศึกษา SIIT ที่ได้รับเหรียญรางวัล มีดังนี้

  • รางวัลเหรียญเงิน

     1. นายฐนพงศ์ สมมาตร สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร

ผลงาน “ระบบ Pick-And-Place อัตโนมัติสำหรับแขนหุ่นยนต์”

   โดยใช้ Computer Vision, Deep Learning Model และ Feature Matching Techniques สำหรับตรวจจับภาพชิ้นงานขนาดเล็กที่ได้จากกล้องโดยอัตโนมัติ จากนั้นป้อนข้อมูลทั้งพิกัดและทิศทางให้กับหุ่นยนต์เพื่อไปหยิบชิ้นงานที่ตรวจพบต่อไป ผลงานชิ้นนี้ทำร่วมกับบริษัท เควี อิเล็กทรอนิคส์ จำกัด

     2. นายชนาธิป์วัฒน์ นิลพัฒน์ สาขาวิศวกรรมดิจิทัล ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร ผลงาน “ระบบตรวจหาตำแหน่งใบหน้าบุคคลที่สนใจในวิดีโอ”

   โดยจะรับรูปหน้าคนที่เป็น Reference เข้า นอกจากจะระบุตำแหน่งจากการหาใบหน้าโดยตรง ยังใช้วิธีหาว่าเขาใส่เสื้อผ้าแบบไหนในวิดีโอ แล้วตรวจหาเสื้อผ้าที่ตรงกันในเวลาอื่นของวิดีโอด้วย เพื่อคาดการณ์ตำแหน่งใบหน้าจากตำแหน่งเสื้อเพิ่มด้วย ซึ่งได้ทำงานร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC)

  • รางวัลเหรียญทองแดง  

     1. นายสรัล ดีเหลือ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร

   ผลงาน “ออกแบบระบบการบำรุงเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) สำหรับมอเตอร์ในโดเมนเวลา (Time Domain)” โดยได้ทำงานร่วมกับ SMART Sense Industrial Design Co.,Ltd.

     2. นายภูชิต วิชชุตานนท์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาปัญญาประดิษฐ์และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง ภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร

   ผลงาน “พัฒนาระบบการประเมินผลการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ” โดยผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบกับระบบ AI เพื่อประเมินผลระดับภาษาอังกฤษ ตามเป้าประสงค์ที่กำหนดตาม Story Line ที่วางแผนการเรียนรู้ไว้ในรูปแบบของ Mobile App โดยได้ทำงานร่วมกับบริษัท Elixir Software Co., Ltd.

     โครงการ Super AI Engineer เป็นโครงการที่มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาบุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อขับเคลื่อนประเทศในอนาคต โดยในปี 2564 นี้ เป็นโครงการปีที่ 2 (Season 2) ต่อจากโครงการปีที่ 1 ปี 2563 (Season 1) ซึ่งปีนี้มีผู้ผ่านการประเมินความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์จากโครงการ Super AI Engineer ซึ่งได้รับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเอไอขั้นสูง จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาด้านปัญญาประดิษฐ์ และผ่านการฝึกอบรมเข้มข้นอย่างน้อย 11 สัปดาห์ ในปีนี้มีผู้ได้รับเหรียญทองจำนวน 9 คน เหรียญเงินจำนวน 15 คน และเหรียญทองแดงจำนวน 52 คน

     ทางสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสมาชิกสมาคมจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และเอกชนมากกว่า 50 แห่ง เพื่อดำเนินการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยทางโครงการเปิดรับสมัครผู้สนใจทั่วไป ไม่จำกัดอายุ เพศ สาขาวิชาชีพ ซึ่งมีผู้สมัครเข้าโครงการในปีนี้ มีจำนวนกว่า 5,600 คน

     นอกจากนี้ยังมีการจัดนิทรรศการ ประกอบด้วยการแสดงความสามารถจากผู้อบรมที่ได้รับรางวัล โปสเตอร์แสดงผลงานจากผู้เข้าอบรม อีกทั้งยังมีการแสดงผลงานจากบริษัทต่าง ๆ และยังมีทีมที่สนใจ ธุรกิจ Startup AI ทั้งรุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 ที่ผ่านการบ่มเพาะจากสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) จำนวน 6 ทีม เข้ามา Pitching ต่อกลุ่มนักลงทุน พร้อมกับการจัดงานเสวนาจากกลุ่มนักธุรกิจสายเอไอ และ Health Care โดย บริษัท ทัช เทคโนโลยี จำกัด รวมทั้งเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมงานดังกล่าว