Loading...

27 มิถุนา วันสถาปนา ‘ธรรมศาสตร์’ 86 ปี แห่งการเป็นผู้นำ-ผู้บุกเบิกให้สังคมไทย

 

รอยทางของธรรมศาสตร์ในอดีตและบทบาทของธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ย่อมเป็นพลังบวกต่อการก้าวย่างไปสู่ความเป็นผู้นำแห่งอนาคต ตั้งเป้าเป็นผู้นำ LEARN LIVE LEAD

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2563

          สองปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทุกพื้นที่ในประเทศปกคลุมด้วยบรรยากาศแห่งความกระหายใคร่รู้ พลเมืองตื่นตัวกับ “ประชาธิปไตย” เป็นอย่างมาก แต่ด้วยเป็นของใหม่ จึงยังปรากฏความคลาดเคลื่อนและความสับสนให้เห็นอยู่

          เพื่อให้การศึกษาและสร้างความเข้าใจการปกครองระบบใหม่ที่ถูกต้อง ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ มีแนวคิดที่จะสถาปนามหาวิทยาลัยซึ่งเน้นหนักไปที่การเรียนการสอนเรื่อง “ประชาธิปไตย” ขึ้นมา

          วันที่ 27 มิถุนายน 2477 “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก

          วันที่ 27 มิถุนายน ของทุกปี จึงถือเป็นวันครบรอบ “วันสถาปนา” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วย

          แน่นอนว่า การเลือกวันสถาปนามหาวิทยาลัยของ “อาจารย์ปรีดี” ย่อมลึกซึ้งในเชิงความหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปณิธานของธรรมศาสตร์ตั้งต้นมาจากประชาชนด้วยแล้ว วันสถาปนามหาวิทยาลัยก็ควรผูกโยงเข้ากับประชาชนอย่างเป็นเนื้อเดียว

          27 มิถุนายน 2475 คือวันประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญฉบับแรก” ของประเทศไทย นับเป็นครั้งแรกที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนอย่างแท้จริง

          สำหรับปีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดพิธีสงฆ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 86 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ บริเวณหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธี

          สำหรับรางวัลกีรตยาจารย์ ประจำปี 2562 ในปีนี้ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ ได้รับการยกย่องให้เป็นกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มีคุณธรรม มีความสามารถในการสอน การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคม มีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับประเทศ

          นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่มีความเสียสละ อุทิศตนให้แก่การสอนอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง มีจริยธรรมและเมตาธรรม เป็นแบบอย่างความเป็นครูที่ดี จำนวน 3 ท่าน ที่ได้รับการยกย่องเป็นครูดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ประกอบด้วย 1.) ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ ครูดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ 2.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์โปรดปราน สิริธีรศาสน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ครูดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 3.) รองศาสตราจารย์ ดร.ศรีเมือง พลังฤทธิ์ คณะแพทยศาสตร์ ครูดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ

          และรางวัล “โล่เกียรติยศ” ให้แก่ศิษย์เก่าดีเด่น จำนวน 42 ท่าน และผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย 13 ท่าน ดังนี้

          สำหรับศิษย์เก่าดีเด่น ได้แก่ 1.) นายกมล เชียงวงค์ 2.) นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ 3.) นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล 4.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย 5.) นายชาย นครชัย 6.) นายชาตรี อรรจนานันท์ 7.) นายชัยวัฒน์ ทองคําคูณ 8.) นางญาใจ พัฒนสุขวสันต์ 9.) นายณรงค์ วุ่นซิ้ว 10.) นายณรงค์ ศศิธร 11.) นายทรงพล สุขจันทร์ 12.) ดร.ธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์ 13.) นายนิกร สุศิริวัฒนนนท์ 14.) นายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ 15.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา ธรรมวินทร

          16.) นายปสันน์ เทพรักษ์ 17.) นายพิษณุ สุวรรณะชฎ 18.) หม่อมหลวงพัชรภากร เทวกุล 19.) นางภัทราวรรณ เวชชศาสตร์ 20.) นางสาวภัทรัตน์ หงษ์ทอง 21.) นางสาวภัทรลดา สง่าแสง 22.) นายมงคล อินทร์ตา 23.) นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ 24.) นายไมตรี ไตรติลานันท์ 25.) นายวิชวุทย์ จินโต 26.) นายวิชัย โภชนกิจ 27.) นายวิชชุ เวชชาชีวะ 28.) นายวิชิต เอื้ออารีวรกุล 29.) นางวรรณพร ลีฬหาชีวะ 30.) นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์

          31.) นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข 32.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ 33.) นางศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ 34.) นายสุวรรณ เลิศปัญญาโรจน์ 35.) นายสนิท ขาวสอาด 36.) นายสุนทร เด่นธรรม 37.) รองศาสตราจารย์สุรัสวดี หุ่นพยนต์ 38.) นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ 39.) นายอนุกูล เจิมมงคล 40.) นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส 41.) นายโอภาส ปัทธวัน 42.) นางอุดมลักษณ์ โอฬาร

          ผู้ทำคุณประโยชน์ให้กับมหาวิทยาลัย ได้แก่ 1.) นางเกศรา มัญชุศรี 2.) นางฉวีรัตน์ ศุภธาดา 3.) รองศาสตราจารย์ ดร.ชินนะพงษ์ บํารุงทรัพย์ 4.) ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ 5.) นายประทีป อ่อนสลุง 6.) นายปรีชา พันธุ์ติเวช 7.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ 8.) เภสัชกรหญิงโศรดา หวังเมธีกุล 9.) นายสมพงษ์ ไกรอุดม 10.) นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต 11.) Professor Dr. Hironobu Shiwachi 12.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 13.) สมาคมพัฒนาศักยภาพและอัจฉริยภาพมนุษย์

          ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นักศึกษาของธรรมศาสตร์ได้รับการปลูกฝังให้คิดถึงประชาชน และทำประโยชน์เพื่อสังคมเสมอ ในสถานการณ์ที่ทุกคนทั่วโลกได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ในชั้นแรกผู้คนอาจคิดถึงตัวเองเป็นหลัก แต่ด้วยจิตสำนึกและคุณธรรมที่ได้รับการปลูกฝัง เชื่อว่าชาวธรรมศาสตร์จะคิดถึงการแบ่งปัน การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ทุกข์ยาก และทำตามอุดมการณ์ที่หล่อหลอมความเป็นธรรมศาสตร์เสมอมา

          “ความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมเชื่อในเรื่องของความอุตสาหะด้วยเช่นกัน หากมีเพียงความรู้แต่ไม่มีความมุมานะก็ไม่เกิดประโยชน์ นอกจากนี้การเรียนยังไม่ใช่เรียนเพื่อจำ แต่เป็นการเรียนเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ บางวิชาที่เรียนทำให้ผู้เรียนรู้จักใช้เหตุใช้ผล มีตรรกะมากขึ้น สามารถจัดลำดับความสำคัญในการคิดได้ รวมถึงการสนองตอบต่อปัญหา และการคิดแก้ปัญหาได้” อาจารย์นรนิติ กล่าว

          ด้าน รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปี 2563 ซึ่งจะครบรอบ 86 ปีของการสถาปนามหาวิทยาลัยนั้น ธรรมศาสตร์ตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำทางการศึกษา (LEARN) การเป็นผู้นำที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (LIVE) และการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสังคมให้ไปในทิศทางที่ดี (LEAD)

          “กว่า 85 ปีที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงสถาบันการศึกษาที่ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต สร้างสรรค์งานวิจัย และเป็นผู้นำด้านวิชาการเท่านั้น หากแต่ยังมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำ ผู้บุกเบิกให้กับสังคมไทย เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชาติและนานาชาติด้วย” รองศาสตราจารย์เกศินี ระบุ

          อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำด้วยว่า รอยทางของธรรมศาสตร์ในอดีตและบทบาทของธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ย่อมเป็นพลังบวกต่อการก้าวย่างไปสู่ความเป็นผู้นำแห่งอนาคต โดยมหาวิทยาลัยจะก้าวสู่ปีที่ 87 บนรากฐานที่ว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหาย” ของผู้คนและสังคมไทย ตามคำกล่าวของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์

อ่านต่อ “สมคิด เลิศไพฑูรย์” ผุดข้อเสนอกระจายอำนาจ เร่งรัดรัฐบาลจัด “เลือกตั้งท้องถิ่น” ภายในปีนี้