Loading...

เราจะมีสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ และมีความสุขได้อย่างไร? หาคำตอบไปกับ ABCD Centre

ศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ ABCD Centre จะคอยทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัยเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว

วันพุธที่ 16 กันยนยน พ.ศ.2563

  


          ผศ.ดร.ดวงใจ หล่อธนวณิชย์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ (Ageing Business & Care Development Centre (ABCD Centre)) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนเราจินตนาการถึงสังคมไทยในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดประมาณว่าจำนวนผู้สูงอายุของประเทศจะเพิ่มขึ้นจนถึงประมาณ 20 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งก็คือ คนเจเนอเรชัน Baby Boomer, X และ Y ที่จะเป็นผู้สูงวัยในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า และความคาดหวังของผู้ที่กำลังจะสูงวัยคือ การพึ่งพาตัวเองได้ทั้งในด้านสุขภาพ การมีเงินออมเพียงพอเพื่อเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ มีทักษะและเรียนรู้ได้ต่อเนื่อง และใช้ชีวิตในสังคมยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เริ่มต้น “ศูนย์พัฒนาธุรกิจและการดูแลสังคมสูงอายุ ABCD Centre” มาตั้งแต่ปี 2561 มีแนวทางในการทำงาน คือ Better Life Better Care Better Society สร้างชีวิตที่ดีกว่า การดูแลที่ดีกว่า เพื่อสังคมที่ดีกว่า เป็นศูนย์ที่ทำวิจัยเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อบรมภาคธุรกิจที่ต้องการดำเนินงานเกี่ยวกับธุรกิจที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี

          จากการที่ ABCD Centre ได้จัดหลักสูตรระยะสั้นสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างธุรกิจ Senior Living, Nursing Home, Day care, Home Visit และธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในสังคมสูงอายุ โดยการพาไปดูธุรกิจต้นแบบในต่างประเทศเพื่อเรียนรู้วิธีคิด การดำเนินงาน และเทคนิคในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในระดับที่แตกต่างกัน พบว่าประสบการณ์เหล่านั้นทำให้ภาคธุรกิจเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุ มองภาพธุรกิจในสังคมสูงอายุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น



         

          ABCD Centre เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างสังคมสูงอายุที่มีคุณภาพ ที่ผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้ทั้งในด้านสุขภาพ ด้านเศรษฐกิจ เรียนรู้และมีทักษะพร้อมที่จะทำงาน ‘ไม่เป็นภาระให้ตัวเอง’ และใคร ๆ เลย และหนทางหนึ่งของการสร้างสังคมที่มีคุณภาพคือ การเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมาเป็นอาสาสมัคร (senior volunteer) ใช้ประสบการณ์ ความรู้มาพัฒนางาน ร่วมสร้างกิจกรรมที่เสริมสร้างสังคมที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เช่นกัน

          “ในช่วงปี 2015 - 2017 เรามีผู้สูงอายุที่ยังทำงานสูงถึง 35% ของแรงงานรวมที่มีราว 4 ล้านคน และยังมีผู้สูงอายุอีก 2.7 ล้านคนที่ต้องการทำงานและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หนึ่งสิ่งที่ ABCD Centre พยายามทำคือ พัฒนาทักษะให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงานต่อเนื่องในสังคมยุคดิจิทัล” ผศ.ดร.ดวงใจ กล่าว

          การก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบอาจจะกลายเป็นระเบิดเวลาที่ส่งผลกระทบต่อคนทุกช่วงวัย นับเป็นความท้าทายสำหรับคนทุกเจเนอเรชันในสังคมไทย