Loading...

ครั้งแรก! ยารักษาโรคภูมิแพ้จาก “ไพล” ยกระดับสู่ Modern Herbal Medicine

พูดคุยกับ “หมอแอน” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ กับการพัฒนายารักษาโรคภูมิแพ้จาก “ไพล” สมุนไพรไทย พร้อมดันขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบัน

วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2561

          “โรคภูมิแพ้” เป็นอีกหนึ่งโรคที่คนไทยมักป่วย และไม่ใช่เพียงแค่คนไทยเท่านั้น ยังรวมไปถึงคนอีกหลายล้านคนทั่วโลกด้วย โดยปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จำนวนมาก และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และอาจรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งในบ้านเรานั้นยังไม่มียาต้นแบบที่ผลิตจากประเทศไทย และต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด

          จากปัญหาดังกล่าว จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการคิดค้นและพัฒนายาต้นแบบที่ใช้รักษาโรคภูมิแพ้เพื่อตอบโจทย์คนไทยของ “หมอแอน” ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ กับผลงานเรื่อง "ผลของยาไพลต่ออีโอซิโนฟิลและไซโตไคน์ในโพรงจมูกของผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Effect of Zingiber Cassumunar (PLAI capsule) on nasal eosinophils and cytokine productions in allergic rhinitis)" ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากโครงการ BRAND'S Health Research Awards 2018 และได้ลงนามความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม เพื่อต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมยาสมุนไพรชนิดแคปซูลที่ได้จาก “ไพล” ซึ่งมีสรรพคุณรักษาอาการโรคภูมิแพ้และหอบหืดด้วย

          กว่า 12 ปี กับการคิดค้นและพัฒนายารักษาโรคภูมิแพ้จาก “ไพล” ซึ่งเป็นสมุนไพรไทย ร่วมกับทีมนักวิจัยหลาย ๆ ฝ่าย เพราะแต่ละขั้นตอนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และความร่วมมือจากหลายสถาบัน รวมถึงได้จดสิทธิบัตรยาไปแล้วด้วย โดย “หมอแอน” ต้องการพัฒนาสมุนไพรไทยให้เป็น Modern Herbal Medicine คือ สมุนไพรที่มีข้อมูลงานวิจัยรองรับ มีความทันสมัย และเทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน

          “ไพล” มักนำมาใช้ในเชิงอุตสาหกรรมสปา ใช้เฉพาะภายนอก ไม่ใช่ยารับประทาน ซึ่งไพลชนิดรับประทานยังไม่เคยมีมาก่อน ไพลที่นำมาใช้เฉพาะภายนอก กับไพลที่นำมารับประทาน จะมีสูตรที่แตกต่างกัน โดยสูตรที่ใช้รับประทานได้สิทธิบัตรสกัดมาเรียบร้อยแล้ว เป็นยาชนิดแคปซูล สามารถรับประทานได้ง่าย

          “หมอแอน” เล่าว่า ผลงานวิจัยนี้แบ่งการทดสอบออกเป็น 3 เฟส โดยเฟสที่ 1 จะทดสอบในอาสาสมัครปกติ หลังจากผ่านการทดลองในหนูกับลิง ส่วนเฟสที่ 2 ทดลองในคนไข้ที่มีอาการแพ้อากาศหรือจมูกอักเสบภูมิแพ้ เพื่อดูกลไกการออกฤทธิ์ของยาในคน ซึ่งมีความยากกว่าการทดลองในหลอดทดลอง เพราะต้องนำสารคัดหลั่งหรือเลือดมาตรวจ และปัจจุบันกำลังพัฒนาในเฟสที่ 3 มีกลุ่มตัวอย่างราว 500 คน โดยกลุ่มอาสาสมัครมาจากคนไข้ที่มาจากหลายสถาบันทั่วประเทศ เช่น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี วชิรพยาบาล และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นต้น โดยพยายามทำข้อมูลวิจัยหลาย ๆ ด้าน เพื่อรองรับการนำไปใช้ในอนาคต และเพื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันยอมรับ

          นอกจากเป้าหมายหลักของการพัฒนายาจาก “ไพล” เพื่อนำมารักษาโรคภูมิแพ้ “หมอแอน” ยังมุ่งมั่นผลักดันยาตัวนี้ให้กลายเป็นยาแผนปัจจุบันที่ใช้ทดแทนหรือเทียบเคียงกับยาที่มีอยู่ในท้องตลาด โดยวางแผนการทำงานของตัวเองให้อยู่ในระดับสากล ซึ่งนอกจากการขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทยได้แล้ว ต้องได้มาตราฐานสากล และสามารถนำไปจำหน่ายที่ต่างประเทศได้ด้วย

          ด้านมุมมองในการพัฒนายาในบ้านเรา “หมอแอน” มองว่า ประเทศไทยมีจุดเด่นด้านใด ก็ควรนำจุดเด่นนั้น ๆ ออกมาใช้ แล้วพัฒนาให้เข้ากับยุคสมัย อย่างเช่นสมุนไพร เพราะเมื่อพูดถึงสมุนไพร คนมักมองว่าเป็นของโบราณ ในขณะที่เราเป็นแพทย์แผนปัจจุบัน ก็พยายามผลักดันให้สมุนไพรไทยเป็น Modern Herbal Medicine โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เข้ามาสนับสนุน ซึ่งจะทำให้เราก้าวออกไปสู่เวทีระดับโลกได้

          ส่วนหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยให้สำเร็จนั้น เราต้องมีความรู้สึกอยากทำ ไม่ใช่ทำเพราะถูกบังคับ “ความสุข” ของการทำวิจัย ไม่ใช่การตีพิมพ์ แต่ความสุขของนักวิจัยในมุมมองของตัวเอง คือ สิ่งที่เราคิดค้นได้ถูกนำไปใช้ได้จริง เนื่องจากเราเป็นหมอ และโจทย์ของงานวิจัยของเรามาจากหน้างาน เรียกว่า "From Routine to Research" จากงานประจำต่อยอดเป็นงานวิจัย เพราะเราอยากทำให้การรักษามันดีขึ้น จึงใช้วิจัยเป็นตัวตอบโจทย์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนไข้มากที่สุด “หมอแอน” กล่าวทิ้งท้าย

          ปัจจุบัน “ไพล” เป็นหนึ่งในพืชสมุนไพรที่รัฐบาลสนับสนุน และผลักดันให้เกิดเป็นชิ้นงาน แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมไพลไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมในเชิงทางการแพทย์ ไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อการรักษา ซึ่งงานวิจัยนี้จะเป็นครั้งแรก และเป็นยาตัวแรกที่มีโอกาสขึ้นทะเบียนยาแผนปัจจุบันได้