Loading...

ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ-เชียงใหม่ ผสานมือเปิดบ้านสร้างเครือข่ายห้องสมุด มุ่งพัฒนาแบบครบวงจร

 

ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ-เชียงใหม่ ลงนามความร่วมมือสร้างเครือข่ายห้องสมุด​ ​พร้อมแบ่งปันทรัพยากรสารสนเทศกว่า​ 4​ ล้านรายการ​ หวังส่งเสริมการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา​

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2562

  

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เป็นการยกระดับความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน อีกทั้งยังส่งเสริมการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อาทิ ทรัพยากรเป็นรูปเล่ม สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สารสนเทศที่มีรวมกันกว่า 4 ล้านรายการ และการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างหน่วยงานร่วมกันประมาณ 350 คน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานร่วมกัน โดยเชื่อว่าความร่วมมืิอภายในระยะเวลา​ 3​ ปี​จะเห็นถึงการพัฒนาห้องสมุดทั้ง​ 3​ สถาบันที่เข้มแข็งและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน​ และการสร้างสรรค์ผลงานทางวิชาการ​ของทั้ง​ 3​ สถาบัน

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกรินทร์ ยลระบิล ผู้อำนวยการหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ เปิดเผยว่า​ หอสมุดแห่ง​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างห้องสมุด​ทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการวิจัยรู้ทุกที่ทุกเวลา โดยที่ผ่านมาได้ร่วมสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันทรัพยากรระหว่างห้องสมุด ทั้งในกลุ่มเครือข่ายห้องสมุดทั้งในและต่างประเทศ เครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (THAIPUL) และเครือข่ายงานห้องสมุดมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค (PULINET) ผ่านบริการยืมระหว่างห้องสมุด

          “ความร่วมมือในครั้งนี้เหมือนเป็นการเปิดประตู ห้องสมุดของ 3 สถาบัน เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน การบริการที่มีประสิทธิภาพสู่ความเป็นเลิศภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์เอกรินทร์ กล่าว

          ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า​ สำนักงานวิทยทรัพยากร​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายสำคัญเพื่อการเป็นหอสมุดกลางของประเทศ ส่งเสริมการเรียนรู้แบบไม่มีขีดจำกัด ด้วยการพัฒนาบริการและนวัตกรรมใหม่ ๆ​ พร้อมกับการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่นกัน

          สำหรับการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จึงเป็นอีกครั้งหนึ่ง​ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุก​ หน่วยงาน ไม่ได้เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์กับนิสิต นักศึกษา​ อาจารย์​ และนักวิจัยของแต่ละสถาบัน​ ที่จะมีแหล่งค้นคว้าและใช้ข้อมูลได้กว้างขวางมากขึ้น​ รวมไปถึงบุคลากรของทั้ง ​​3 ​หน่วยงานที่จะได้ร่วมมือและปฏิบัติงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด อีกทั้งมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์การทำงานในมุมมองและบริบทที่แตกต่างเพื่อประสานการทำงานได้อย่างเหมาะสม

          “ทางด้านศึกษางานห้องสมุด และบุคลากรของทั้ง 3 สถาบัน มีความโดดเด่น จุดแข็งที่แตกต่างกัน สามารถนำมาเติมเต็มร่วมกันให้งานห้องสมุดมีประสิทธิภาพ มีทรัพยากรเพิ่มขึ้น เหมือนมีห้องสมุดมาอีก 2 แห่ง โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม” รองศาสตราจารย์ ดร.อมร กล่าว

           ด้าน นางสาววรารักษ์ พัฒนเกียรติพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่​ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่มหาวิทยาลัยทั้ง​ 3​ แห่งได้ร่วมมือกันในการพัฒนาห้องสมุด​ เพราะเชื่อว่าแต่สถาบันต่างมีจุดเด่น และมีทรัพยากรสารสนเทศที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ด้านศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยขับเคลื่อนผ่านห้องสมุดของทั้ง 3 สถาบัน ในการทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการและประสานงานด้านการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรสารสนเทศระหว่างกัน เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาของนักศึกษา และสร้างความเข้มแข็งทางด้านแหล่งเรียนรู้เพื่อการค้นคว้าวิจัยของอาจารย์และนักวิจัยของแต่ละสถาบันด้วย

          “ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ ทำให้การบริการสื่อการเรียนการสอน การวิจัย นวัตกรรมต่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นแบบอย่างนำไปสู่ความร่วมมือในระดับที่กว้างขวาง และในระดับที่สูงขึ้นได้ในอนาคต” นางสาววรารักษ์ กล่าว

          ทั้งนี้ สำหรับแผนการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการของทั้ง 3 สถาบัน อาทิ การจัดประชุมวิชาการ การพัฒนาทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ฉบับย้อนหลัง ระบบหนังสือหายาก การศึกษาดูงานและเรียนรู้การทำงานทั้งในด้านจดหมายเหตุของสถาบันและคอลเลคชันพิเศษ การพัฒนาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ WMS งานด้านการสื่อสารองค์กรและการผลิตสื่อมัลติมีเดีย รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาระบบบริหารคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9001:2015 เพื่อนำมาใช้ในการบริหารงานห้องสมุด ซึ่งหอสมุดแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ผ่านการรับรองระบบมาตรฐานตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา

          นอกจากนี้ การที่ทั้ง 3 สถาบันได้มีความร่วมมือกันอย่างครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งในส่วนของการพัฒนาทางด้านวิชาการ บริการ บุคลากร และการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศร่วมกัน นับได้ว่าความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย ของทั้ง 3 สถาบันเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการร่วมกันพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศซึ่งถือเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาของชาติ ซึ่งจะมีส่วนทำให้ภาคสังคมเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศอันเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญานี้ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้นอีกด้วย