Loading...

เปิดประสบการณ์ใหม่ เข้าถึง “พิพิธบางลำพู” ผ่านแอปพลิเคชัน ผลงานนักศึกษาธรรมศาสตร์

 

นักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรม สร้างแอปพลิเคชันพิพิธบางลำพู นำความรู้จากวิชาเรียนมาปรับใช้เพิ่มช่องทางการเข้าถึง เตรียมเดินหน้าสร้างแอปฯ พิพิธภัณฑ์อื่นในอนาคต

วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2562

  

          ย่าน “บางลำพู” ชุมชนที่มีมาตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เดิมทีนั้นเป็นชุมนุมและตลาดเล็ก ๆ ริมน้ำ มีวัดเก่าแก่ปรากฏอยู่ในพื้นที่มากมาย ก่อนจะพัฒนาเป็นแหล่งพำนักของบรรดาเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชบริพาร และประชาชนมาจากหลายเชื้อชาติที่มาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยอยู่รวมกัน จนเกิดเป็นแหล่งอาชีพที่หลากหลายและกลายเป็นชุมชน “บางลำพู” มาจนถึงปัจจุบัน และใครที่เคยผ่านไปผ่านมาแถวถนนพระอาทิตย์ จะต้องสะดุดตากับอาคารสีขาวใกล้กับป้อมพระสุเมรุ และแน่นอนว่านั่นคือ “พิพิธบางลำพู” เป็นพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ซึ่งประยุกต์การแสดงวัตถุและการเล่าเรื่องเชิงประวัติศาสตร์เข้ากับการแสดงวิถีชุมชนบางลำพูเดิม

          ปัจจุบัน “พิพิธบางลำพู” มีแอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกในการให้ข้อมูลแก่ผู้สนใจ จากการสร้างแอปพลิเคชันของกลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนในรายวิชาออกแบบอนิเมชันและสื่อดิจิตอล ทำให้นักศึกษาได้นำความรู้จากในชั้นเรียนไปพัฒนาให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม

Q: ย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ Banglamphu Application

ณัฐ: โปรเจกต์ Banglamphu Application เริ่มต้นจากทางกลุ่ม MyTeamArsa ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญถึงเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ใช้โทรศัพท์เป็นหลัก ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ทุกวัย การมีแอปพลิเคชันเป็นการเพิ่มช่องทางให้สามารถเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และเป็นโปรเจกต์ของวิชา HIM.496 การออกแบบอนิเมชันและสื่อดิจิตอล ของ ผศ.ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด โดยการเลือกทำแอปพลิเคชันให้กับองค์กรต่าง ๆ ผ่านโปรแกรมอาษาเฟรมเวิร์ค เพื่อพัฒนา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าทางด้านสื่อใหม่ รวมถึงประสบการณ์ผู้ใช้และงานด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 และยุค 5.0 G และสาเหตุที่เราเลือกนำเสนอข้อมูลของพิพิธบางลำพู เนื่องจากในช่วงที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกับพิพิธบางลำพู โดยนำศิลปวัฒนธรรมของบางลำพูมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์และจัดจำหน่าย โดยรายได้ทั้งหมดหลังจากหักค่าใช้จ่ายมอบให้พิพิธบางลำพู และมีอีกหลากหลายกิจกรรม จึงทำให้มีความรัก มีความผูกพัน กับชุมชนบางลำพู และพิพิธบางลำพู        

Q: กว่าจะมาเป็น Banglamphu Application ในวิชาการออกแบบอนิเมชันและสื่อดิจิตอล

อาร์ม: ในแต่ละอาทิตย์ในการเรียน อาจารย์จะสอนขั้นตอนต่าง ๆ ในการทำและออกแบบ ซึ่งมีความสำคัญทุกขั้นตอน ตั้งแต่ออกแบบคำสั่งเพื่อให้เราสามารถนำมาใช้บนมือถือ จนไปถึงการใช้ลูกเล่นต่าง ๆ ทำให้ทางกลุ่มเรานำความรู้เหล่านั้นมาปรับให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้และทางพิพิธภัณฑ์ เช่น สี เมนูต่าง ๆ เพื่อให้ได้แอปพลิเคชันที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้ใช้สูงสุด

Q: จุดเด่นของ Banglamphu Application

ปาร์ค: “แอปพลิเคชันพิพิธบางลำพู” สามารถดูได้ทั้งข้อมูลประวัติของพิพิธบางลำพู นิทรรศการที่จัดแสดง ข่าวสาร การติดต่อ บทความ แผนที่ รวมไปถึงการจองเข้าชมได้อย่างสะดวกและง่ายดาย ซึ่งแอปพลิเคชันองเราเป็นแอปพลิเคชันที่เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ พร้อมใช้งานแล้ว 100%

Q: กระแสตอบรับ Banglamphu Application

มิก: จากที่ทางกลุ่มเราได้ออกแบบแอปพลิเคชันพิพิธบางลำพู และนำไปเสนอให้กับพิพิธบางลำพูและได้ทำการส่งมอบ ได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากทั้งทางพิพิธบางลำพู อาจารย์ประจำวิชา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ได้รับประโยชน์และความสะดวกสบาย ทางกลุ่มรู้สึกมีกำลังใจที่จะพัฒนาให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ในอนาคต

นอกจากนี้ ทางกลุ่มเรายังได้รับการติดต่อมาจากพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ให้ทำแอปพลิชันให้ แต่ยังอยู่ในช่วงตกลงรายละเอียดรูปแบบของแอปพลิเคชัน ส่วนของการพัฒนาแอปพลิเคชันเดิม ทางกลุ่ม MyTeamArsa ได้ตกลงพัฒนาร่วมกับพิพิธบางลำพูอย่างยั่งยืน โดยการให้พิพิธบางลำพูสามารถแก้ไขข้อมูลต่าง ๆ ได้เอง โดยทางทีมจะช่วยแก้ไขบางส่วน และข้อบกพร่องของแอปพลิเคชัน

Q: เมื่อต้องเจอกับปัญหาระหว่างสร้างทาง เรามีวิธีจัดการอย่างไร

เกม: ปัญหาที่พบมีทั้งความหลากหลายของผู้ใช้ ทางกลุ่มจึงได้หาวิธีแก้ไขโดยสร้างฟังก์ชันที่สามารถเลือกภาษาในการใช้งานได้ โดยออกแบบให้มีภาษาอังกฤษและภาษาไทย รวมถึงความรวดเร็วและความง่ายต่อการแก้ไขข้อมูล ทางกลุ่มเราได้ออกแบบฟังก์ชันให้แอปพลิเคชันสามารถเชื่อมกับเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้แอปพลิเคชันสามารถอัพเดตไปพร้อม ๆ กับเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ได้ เช่น นิทรรศการหมุนเวียนในแอปพลิเคชันจะเปลี่ยนตามข้อมูลในเว็บไซต์ เมื่อทางพิพิธภัณฑ์ลงเนื้อหาใหม่

แป๊ะ: ปัญหาอีกสิ่งหนึ่งคือ การออกแบบให้เหมาะสมกับแอปพลิเคชันที่คงความเป็นไทย ทำอย่างไรให้ความเป็นไทยสามารถอยู่บนแอปพลิเคชันได้ ทางกลุ่มได้ออกแบบให้แอปพลิเคชันมีความเป็นไทยโดยใช้สีเป็นการขับเน้น เช่น สีทอง สีส้ม สีน้ำตาล ที่อิงสีจากทางพิพิธภัณฑ์รวมถึงตัวหนังสือ รวมถึงการจัดเมนูให้มีความสบายตาเป็นระเบียบ เมนูที่ไล่ความสำคัญของเนื้อหา

Q: ฝากผลงานหน่อย

มายด์: ใครที่ใช้ Android สามารถดาวน์โหลด Banglamphu Application ได้แล้วที่ 

   

https://play.google.com/store/apps/details?id=arsa.framework.PipitBanglamphu ซึ่งสามารถใช้งานได้ 100% ส่วนใน iOS ยังคงต้องรอก่อน เนื่องจากทางกลุ่ม MyTeamArsa เป็นทีมเกิดใหม่ และยังขาดเงินทุนสนับสนุนในการทำแอปพลิเคชันต่าง ๆ  

      

สมาชิกในกลุ่ม MyTeamArsa

1. นายศุภณัฐ เหรียญวิทยากุล (ณัฐ) ฝ่ายสร้างแอปพลิเคชัน, ออกแบบแอปพลิเคชัน

2. นายวุฒิวิทย์ เชิญตระกูลปพัฒน์ (เกม) ฝ่ายติดต่อประสานงาน, ออกแบบแอปพลิเคชัน

3. นายธนพล ธัญญานุกูล (มิก) ฝ่ายช่วยสร้างแอปพลิเคชัน

4. นายอติรุจ นุชหรั่ง (แป๊ะ) ฝ่ายสนับสนุน

5. นายกรวิชญ์ งามจินดาวงศ์ (อาร์ม) ฝ่ายสนับสนุน

6. นายพงษ์นรา ดิษฐวิเศษ (ปาร์ค) ฝ่ายสนับสนุน

7. นายธณญ สงวนผิว (มายด์) ฝ่ายสนับสนุน