Loading...

“ริน-ชมพู่” บัณฑิตพิการผู้ก้าวข้ามอุปสรรคทางร่างกาย คว้าปริญญาอย่างภาคภูมิใจ

“ริน-ชมพู่” บัณฑิตพิการผู้ก้าวข้ามอุปสรรคทางร่างกาย คว้าปริญญาธรรมศาสตร์อย่างภาคภูมิใจ

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2562

  

          โครงการนักศึกษาพิการ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีลักษณะขยายโอกาสทางการศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการขยายโอกาสให้กลุ่มผู้พิการที่มีศักยภาพได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) โดยได้เปิดรับนักศึกษาพิการครั้งแรกในปีการศึกษา 2546 เป็นนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น บกพร่องทางการได้ยิน และบกพร่องทางการเคลื่อนไหว และในปี พ.ศ. 2548 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดศูนย์บริการนักศึกษาพิการ (Disables Student Services) ณ อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่ออำนวยความสะดวกครบวงจร (One - Stop Services) ทั้งการเอื้ออำนวยความสะดวกในการเรียน การให้คำปรึกษา และศูนย์นันทนาการ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุง อาคารสถานที่เพิ่มเติม เช่น ลิฟต์โดยสาร ห้องน้ำกว่า 10 จุด ทางลาดในมหาวิทยาลัยอีกกว่า 60 จุด เครื่องช่วยอ่านสำหรับผู้พิการทางสายตา ศูนย์กายภาพบำบัด ธาราบำบัด เป็นต้น

          โดยในปีนี้มีบัณฑิตทุพพลภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ประจำปีการศึกษา 2560 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 13 คน และพวกเขาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า อุปสรรคทางร่างกายนั้น ไม่สามารถทำให้พวกเขารู้สึกย่อท้อและสิ้นหวังได้เลย

          “ริน” ธรรมธัช เปี่ยมปัจจัย บัณฑิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์และการขนส่ง (International Business, Logistics and Transport) บัณฑิตผู้มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ปัจจุบันเป็น Supply Chain Planner ของบริษัท ดีแคทลอน ประเทศไทย จำกัด (Decathlon) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติฝรั่งเศส

          “ริน” เล่าว่าจากกระแสของโลจิสติกส์ (Logistics) ที่กำลังมาเเรงในประเทศไทย ณ ขณะนั้น และยังขาดบุคลากรที่เชี่ยวชาญหรือสำเร็จการศึกษาในสาขาด้านนี้โดยตรง ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนในสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศโลจิสติกส์และการขนส่ง เพื่อนำเอาความรู้ไปพัฒนาต่อได้ในอนาคต เนื่องจาก  โลจิสติกส์เป็นวิชาที่มีแนวคิดในการบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในต้นทุนที่สมเหตุสมผลที่สุด และความชอบในตัวเนื้อหาและวิชาที่น่าสนใจ แปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้ตัวเขาออกไปเรียน เพราะเขามีความเชื่อว่า ไม่มีวิชาหรือสาขาใดที่เรียนง่าย ทุกสาขาวิชาต่างมีความยากอยู่ในตัวเนื้อหาทั้งสิ้น แต่ถ้าหากมีความชอบและมีความสนใจแล้ว มันจะทำให้เรื่องยากที่เจอ เป็นสิ่งที่ท้าทายและอยากที่จะเรียนรู้เพื่อเข้าใจและเอาชนะมันให้ได้

          “ปริญญาบัตรใบนี้เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจว่า อย่างน้อยเราก็สามารถพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นทางบ้าน หรือว่าคนรอบข้างได้เห็นแล้วว่า เราก็สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ และสามารถเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า ผู้พิการก็มีความรู้ความสามารถเหมือนคนปกติเช่นกัน” ริน ธรรมธัช บัณฑิตคณะพาณิชยศาสตร์ฯ กล่าว

คติประจำใจ : If you want to give up, Just remember that why you started.

          อีกหนึ่งความสำเร็จ “ชมพู่” พิกุลแก้ว ชมภูประเภท บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ สาขาบริหารรัฐกิจ บัณฑิตผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น เธอเลือกเรียนในสาขาบริหารรัฐกิจ เพราะได้เรียนรู้ในด้านการบริหาร หรือนโยบายภาครัฐ การคลัง และด้านรัฐสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งด้านการระหว่างประเทศและปกครอง ความรู้ดังกล่าวช่วยให้เธอเข้าใจในหลากหลายประเด็นทางด้านการบริหาร การปกครอง และการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน และยังได้นำมาใช้ประโยชน์กับชีวิตประจำวัน การทำงานบางส่วน และสถานการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบันได้ด้วย

          “ชมพู่” เผยว่าเธอไม่เคยรู้สึกท้อเลย เพราะเธอคิดเสมอว่าเมื่อสอบเข้ามาได้แล้วก็ต้องเรียนให้เต็มที่ที่สุด และเชื่อว่าเมื่อคนอื่นเรียนได้ เมื่อคนอื่นทำได้ ตัวเธอเองก็ต้องทำได้เช่นกัน ส่วนอีกหนึ่งแรงผลักดันในการเรียนของเธอ คือ ความพยายาม ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ และการทำงานจากวิชาเรียน เพราะเธอมีปัญหาทางด้านการมองเห็น จึงต้องพยายามมากกว่าเพื่อน ๆ ทั้งในด้านการเลคเชอร์ การอ่านหนังสือสอบ หรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ

คำคมประจำใจ : ถ้าคุณแพ้คุณจะเป็นถ่าน แต่ถ้าคุณผ่านคุณจะเป็นเพชร

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดโอกาสให้แก่ทุกคนในสังคมเพื่อความเท่าเทียมกันทางการศึกษา ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาระดับปริญญาตรีในโครงการนักศึกษาพิการแล้วจำนวน 70 คน และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วจำนวนกว่า 127 คน