Loading...

เศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้เศรษฐกิจไทยภายใต้วิกฤต COVID-19 เป็นความเจ็บปวดที่ไทยต้องแบกรับ

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ชี้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในวิกฤตการณ์โควิด–19 ติดลบ แนะนักศึกษาจบใหม่ค้นหาตัวเองให้พบ ใช้เทคโนโลยีสร้างอาชีพ

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2563

  

          หลังจากประเทศไทยต้องล็อกดาวน์เนื่องจากการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่โหมกระหน่ำทั่วโลก รัฐบาลไทยจึงต้องควบคุมสถานการณ์โดยไม่ให้ประชาชนห้ามออกจากบ้านเป็นระยะเวลาเกือบสองเดือน ทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบอย่างหนัก

          อาจารย์ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยช่วงโควิด–19 ว่า จริง ๆ ประเทศไทยเจอเคราะห์กรรมซ้ำซ้อน เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะนี้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถ้ามองตัวเลขการส่งออกเราทำรายได้ไม่ดีเท่าไหร่ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งก็ทำไม่ได้ดี หนำซ้ำเราเองก็ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้มันพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง พอโควิดเข้ามา มันเลยทุบเศรษฐกิจแรงมาก โควิดหยุดทุกอย่างในโลก และบังคับให้ทุกประเทศพึ่งตนเอง

          “ปกติประเทศไทยมีเงิน 100 บาทหมุนเวียนในเศรษฐกิจ โดย 70 บาทมาจากเงินข้างนอก จากการส่งออก การลงทุน และจากนักท่องเที่ยว ตอนนี้ 70 บาทมันหายไป ประเทศเราเลยต้องอยู่ให้ได้ด้วย 30 บาทที่เหลือ และ 30 บาทที่เหลือ ก็ไม่ได้เหลือทั้ง 30 บาท เพราะว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้น 30 บาท มันถูกหักไป 40% เท่ากับว่าถูกหักไป 12 บาท เลยกลายเป็นว่า ประเทศทั้งประเทศจากที่เคยหมุนด้วยเงิน 100 บาท ตอนนี้หมุนได้แค่ 18 บาท ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลข GDP ที่ประมาณการกันว่าโควิดจะทำให้ติดลบเพียงแค่ 2-3% แต่ล่าสุดติดลบไป 8% แล้ว ซึ่งเป็นการติดลบที่สูงมาก สภาพเศรษฐกิจของไทยตอนนี้จึงอยู่ในอาการสาหัส” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

          อาจารย์ ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดตามมาหลังการเกิดการแพร่ระบาดโควิด–19 ว่า  สำหรับภาคธุรกิจทำการผลิตแต่ส่งออกไม่ได้ก็ลำบากแล้ว สำหรับภาคบริการภาคการท่องเที่ยวลำบากยิ่งกว่า เพราะว่านักท่องเที่ยวที่เคยมี พอโดนล็อกดาวน์คนออกจากบ้านไม่ได้ นักท่องเที่ยวจึงเป็นศูนย์ทันที แต่ก็มีรายจ่ายที่ต้องวิ่งต่อ ภาคการท่องเที่ยวจึงเจ็บหนักที่สุด

          “ตัวอย่างผลกระทบที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมืองเชียงใหม่ที่ตอนนี้กลายเป็นเมืองร้าง นักท่องเที่ยวทั้งหลายที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ก็หายไปหมด ส่วนภาคธุรกิจ ระหว่างธุรกิจเอสเอมอีกับธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจใหญ่มีสายป่านยาว ก็ยังพอประคับประคองตัวเองไปได้ ถ้าเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ปกติจะมีเงินสดในมือที่ถืออยู่ได้ประมาณ 45-60 วัน แต่ทีนี้ 90 วันยังไม่มีเงินเข้ามา ธุรกิจพวกนี้จะล้มลง ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจขนาดเล็กมีการจ้างงาน 30% จากคนภายในประเทศ จึงทำให้คนไทยตกงานมากขึ้น” ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

          ส่วนภาครัฐ จะต้องช่วยประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ถ้าช่วยระยะสั้นก็ต้องให้เงินประชาชนก่อน แต่เงินพวกนี้พอให้ไปไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้กลับมาสู่ภาครัฐทันที และเงินที่รัฐบาลใช้ปกติเอามาจากภาษี พอธุรกิจล้มหายตายจาก ธุรกิจไปไม่รอด คนไม่มีรายได้ก็ทำให้ภาษีไม่เข้ารัฐ ส่งออกไม่ได้ภาษีก็ไม่เข้าเช่นกัน กลายเป็นว่ารัฐบาลต้องนำเงินสำรองมาใช้จนหมด จนถึงจุดต้องกู้เงิน โดยเงินก้อนนี้จะลงในธุรกิจง่อนแง่นก่อน รวมถึงประชาชนที่กำลังลำบากเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ซึ่งยังเป็นโจทย์ที่ท้าทายและยังไม่มีคำตอบที่สมบูรณ์ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์

          “นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่หรือกำลังจะจบการศึกษาว่า อย่าหางานโดยใช้เงินเป็นตัวตั้ง เพราะถ้าเราทำงานโดยหวังเงิน ในยุคโควิดหรือยุคหน้าจะทุกข์มาก เพราะในยุค 4.0 เขาบอกว่าคนคนหนึ่งถ้าจบไปแล้วถ้าโชคดีชีวิตอาจจะเปลี่ยนอาชีพแค่ 3 ครั้ง สูตรทางรอดคือหาตัวเองให้พบ เพราะยุคต่อไปเป็นยุคที่เราใช้เทคโนโลยีในการสร้างงานสร้างอาชีพได้ ไม่จำเป็นต้องมีอาชีพเหมือนคนอื่น ที่สำคัญคือหาตัวเองให้พบ แล้วฝึกฝนสิ่งที่ตัวเองชอบให้ถึงที่สุด แล้วพอไปเจอโลกข้างหน้า อย่างน้อยเราเจอสิ่งที่ชอบ เมื่อพบการเปลี่ยนแปลง เราจะมองมันเป็นความท้าทาย แล้วเราก็จะปรับตัวได้ แต่ถ้าเราทำงานที่เราไม่ชอบ ถึงแม้เงินเดือนดีจริง แต่เงินที่หามาได้นั้นจะใช้ในการบำบัดจิตใจ บำบัดทุกข์ บำบัดสุขภาพของเราแทน”

          “ยุคหน้าถ้าใครบอกอาชีพนี้จะเกิด อาชีพนี้จะตาย บอกเลยว่าไม่จริง เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ AI จะมาแทนที่อาชีพที่มีอยู่ แล้วจะมีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอีกเรื่อย ๆ เราต้องปรับตัวให้เป็นกับโจทย์ที่เราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า และถึงแม้ว่าในตอนนี้กำลังศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยแล้วกำลังเรียนสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่ต้องกลัว มันไม่ใช่จุดจบของชีวิต ระหว่างนี้เราสามารถไปลงเรียนคอร์สสั้น ๆ เตรียมตัวไว้ก่อน เมื่อจบแล้วก็กลับไปหาสิ่งที่ชอบก็สามารถเติบโตได้เช่นกัน” อาจารย์ ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวทิ้งท้าย