Loading...

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินของประเทศไทยอยู่ในระดับสูง

นักวิชาการธรรมศาสตร์ ชี้ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินของประเทศไทยอยู่ในระดับสูง แนะ 10 นโยบาย เน้นกระจายการถือครองทรัพย์สินให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2561

          ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินมากกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในโลก การคำนวณจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนพบว่า ในปี พ.ศ. 2560 ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของทรัพย์สินอยู่ที่ 0.631 ในขณะที่ของรายได้อยู่ที่ 0.453

          ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์ศึกษาความเหลื่อมล้ำและนโยบายสาธารณะ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินของประเทศไทยว่า ในช่วงทศวรรษที่   ผ่านมาความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพย์สินของประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่สูงอย่างต่อเนื่อง มูลค่าทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มครัวเรือน 10% แรกที่มีมูลค่าทรัพย์สินมากที่สุด โดยครัวเรือนกลุ่ม 10% แรกนี้มีมูลค่าทรัพย์สินเฉลี่ยสูงกว่าครัวเรือนกลุ่มที่มีมูลค่าทรัพย์สินต่ำสุด 10% สุดท้ายถึง 375.2 เท่า และหากพิจารณาแหล่งที่มาของรายได้ของครัวเรือนที่มีมูลค่าทรัพย์สินในระดับ Top 1% ก็จะพบว่ารายได้ส่วนใหญ่ประมาณ 45% มาจากการทำธุรกิจและการลงทุน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่ารายได้ที่ได้รับจากการจ้างงานซึ่งอยู่ที่ 34% ทั้งนี้ การที่ฐานข้อมูลของประเทศไทยยังมีปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลของครัวเรือนที่มีความมั่งคั่งระดับสูง ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินที่แท้จริงจะสูงกว่าตัวเลขที่แสดงไว้ ณ ที่นี้

          การพิจารณาทรัพย์สินประเภทที่ดินพบว่า ในปี พ.ศ. 2555 ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดิน ซึ่งคำนวณจากขนาดการถือครองที่ดินประเภทที่มีโฉนด มีค่าสูงถึง 0.89 ผู้ถือครองที่ดิน 10% แรกที่ถือครองที่ดินมากที่สุด ถือครองที่ดิน 61.48% ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมด ผู้ถือครองที่ดิน top 1% ถือครองที่ดินคิดเป็น 1 ใน 4 ของที่ดินที่มีโฉนดทั้งหมด

          นอกจากนี้ข้อมูลมหาเศรษฐีของไทยซึ่งจัดเก็บโดย Forbes ยังแสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2561 ความมั่งคั่งในกลุ่มมหาเศรษฐีไทยที่มีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่า จากมูลค่ารวม 13,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ.2552 เพิ่มขึ้นเป็น 149,150 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ. 2561

          ในด้านทรัพย์สินทางการเงิน หากพิจารณาจากปริมาณเงินรับฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ จะพบว่า ณ เดือนตุลาคม 2561 สัดส่วนจำนวนบัญชีที่มีปริมาณเงินรับฝากไม่เกิน 50,000 บาทนั้นสูงถึง 87.42% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่บัญชีเหล่านี้มีมูลค่าเงินรับฝากทั้งหมดคิดเป็นเพียง 2.89% ของทั้งหมด ในขณะที่จำนวนบัญชีที่มีปริมาณเงินรับฝากตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียง 0.002% แต่มีมูลค่าเงินรับฝากรวมถึง 18.07% ของทั้งหมด

          ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าวโดยสรุปว่า ไม่ว่าจะพิจารณาในมิติใด สังคมไทยก็มีการกระจุกตัวของการถือครองทรัพย์สินค่อนข้างมาก นโยบายที่จะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ นอกจากจะใช้นโยบายทางด้านรายได้แล้ว จะต้องมีนโยบายที่เน้นไปที่การกระจายการถือครองทรัพย์สินให้มีความเป็นธรรมมากขึ้นด้วย จึงจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ เช่น

          1. ต้องทำให้ข้อมูลทั้งทางด้านรายได้และทรัพย์สินเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้

          2. รัฐต้องมุ่งลดการผูกขาดทางธุรกิจ และส่งเสริมการแข่งขัน

          3. ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจทั้งการเมืองและการคลัง เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ

          4. ต้องแก้ไขปรับปรุงให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสามารถเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลดความเหลื่อมล้ำได้ใน 2 มิติ คือ การกระจายอำนาจทางการคลัง และการลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินในรูปของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  โดยรัฐบาลควรลดการยกเว้นภาษีลง ปรับการลดหย่อนและอัตราภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อเป็นแหล่งรายได้ที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน

          5. สำหรับภาษีมรดก ควรลดการยกเว้นภาษีลง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินในระยะยาว 

          6. ควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในแนวนอน

          7. ควรมีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน เช่น กำไรจากการซื้อขายหุ้น กำไรจากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

          8. ลดรายจ่ายทางภาษีที่เกิดจากมาตรการลดหย่อนภาษีและการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ ที่เอื้อประโยชน์กับผู้ที่มีความมั่งคั่ง และไม่ควรใช้มาตรการทางการคลังที่หวังผลเพียงในระยะสั้น

          9. ส่งเสริมให้มีการจัดทำฐานข้อมูลคนยากจนอย่างเป็นระบบ ทั่วถึง และโปร่งใส เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณทางด้านสวัสดิการต่าง ๆ ลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด

          10. มุ่งส่งเสริมการใช้จ่ายของรัฐบาลทางด้านสวัสดิการที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดี เช่น การศึกษา สาธารณสุข การประกันสังคม การอุดหนุนคนที่มีรายได้น้อย และการอุดหนุนคนสูงอายุ สำหรับสวัสดิการด้านการศึกษาควรพยายามลดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณ และควรเพิ่มงบประมาณรายหัวสำหรับเด็กด้อยโอกาส ในด้านการประกันสังคม ควรขยายระบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบและแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

          มาร่วม “ไขปริศนาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินของประเทศไทย” และหา “แนวทางการลดความเหลื่อมล้ำ” ไปด้วยกันในงานสัมมนา ความรู้และความไม่รู้ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย : มายาคติและทางออก  ในวันอังคารที่ 25 ธันวาคม 2561 เวลา 13.30 - 16.30 น. ณ  ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  จัดโดย ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)