Loading...

ตระหนักรู้สู้ฝุ่น PM2.5 นศ.วิศวกรรมฯ พัฒนาเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นเตือนภัยชาวโดม

พูดคุยกับ “น้องท็อป” พรหมสุรินท์ พุทธรรมวงศ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของไอเดีย “TSE AirQ” เครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่น

วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562

          ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่มีค่าความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นับว่าเป็นภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีค่าปริมาณมลพิษทางอากาศสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่มักติดตามข้อมูลปริมาณฝุ่น PM 2.5 จากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ตรวจวัดปริมาณฝุ่น หรือจากสำนักข่าวทั้งสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นข้อมูลที่ปรากฏในหน้าสื่อไม่สามารถระบุได้ครอบคลุมถึงปริมาณฝุ่นที่แท้จริง ณ สถานที่ที่เราอาศัยอยู่ จึงเกิดเป็นไอเดีย TSE AirQ” (TSE Air Quality Indicator) เครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งคิดค้นและพัฒนาโดย “น้องท็อป” พรหมสุรินท์ พุทธรรมวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีอาจารย์วัชระ อมศิริ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนงบประมาณในการจัดทำ  ซึ่งสามารถเข้าไปตรวจสอบค่าปริมาณฝุ่นภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ที่ http://airq.colonel-tech.com   

 

จุดเริ่มต้นของไอเดีย “TSE AirQ”

          “TSE AirQ” เริ่มจากการที่ผมเห็นว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 นับวันมันยิ่งรุนแรงขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่แน่นอน อีกทั้งสถานีตรวจวัดปริมาณฝุ่นในอากาศมันก็อยู่ไกลออกไปไม่ได้ครอบคลุมในพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งบางแอปพลิเคชันในบริเวณคลองหลวงก็เป็นการโมเดลจากภาพดาวเทียม (Satellite data) ซึ่งทำให้ไม่ได้ค่าที่แม่นยำเท่ากับการติดเซ็นเซอร์เครื่องวัดจริงๆ จึงได้ปรึกษากับอาจารย์ว่า อยากจะทำเครื่องตรวจวัดปริมาณฝุ่นในอากาศเพื่อให้ชาวธรรมศาสตร์ได้ทราบข้อมูลที่แม่นยำ รวมทั้งตระหนักถึงการใส่หน้ากากป้องกันอันตรายและรักษาสุขภาพจากฝุ่นด้วย จึงได้สั่งตัวเซ็นเซอร์เพื่อจัดทำต้นแบบมา 4 ตัวและนำมาพัฒนาต่อ

ขั้นตอนการพัฒนา “TSE AirQ” จากไอเดียสู่ชิ้นงาน

          ผมได้พัฒนาตัวเซ็นเซอร์ต้นแบบ ซึ่งมีคุณสมบัติในการตรวจจับวัดค่าฝุ่นที่มีขนาดแตกต่างกันออกไป และออกแบบหน้าเว็บไซต์ขึ้นเพื่อนำเสนอข้อมูล โดยเป็นระบบการประมวลผลแบบทันที กำหนดขอบเขตการล่าช้าอย่างน้อยไม่เกิน 2 นาทีในการแสดงผล ซึ่งผมได้เลือกนำเสนอข้อมูลปริมาณฝุ่นทั้ง 3 ค่า อาทิ PM 10, PM 2.5 และ PM 0.1 เพื่อให้ครอบคลุมค่าฝุ่นที่สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายเราได้  นอกจากนี้ผมก็ได้ออกแบบระบบความปลอดภัยไว้ด้วย เพื่อป้องกันการส่งข้อมูลที่ผิดพลาดของผู้อื่น

หลักการทำงานของ “TSE AirQ”

          เมื่อได้ติดตั้งตัวเซ็นเซอร์ที่ได้รับการพัฒนาแล้ว จึงกำหนดให้อุปกรณ์ประมวลผลทำการส่งข้อมูลไปเก็บลงฐานข้อมูล แล้วทำการแสดงผลที่หน้าเว็บไซต์  ซึ่งขณะนี้ได้ติดตั้งตัวเซ็นเซอร์วัดค่าฝุ่นละอองไว้ 4 จุด  ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (Thammasat School of Engineering) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (Thammasat University Hospital) อาคารโดมบริหาร (Dome Administrative Building) และบริเวณภายในอาคารทั่วไปของศูนย์รังสิต (GENERAL INDOOR) ซึ่งติดตั้งอยู่ที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนการแสดงผลในหน้าเว็บไซต์จะมีแถบสีที่บ่งบอกและอ้างอิงถึงดัชนีวัดค่าสุขภาพว่า ตอนนี้อยู่ในระดับใด โดยผมเลือกใช้การคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการอ่านค่าตามตารางดังภาพนี้  

อ้างอิงที่มา: https://www.epa.gov/sites/production/files/2014-05/documents/zell-aqi.pdf

ก้าวต่อไปของ “TSE AirQ”  

          ผมตั้งใจว่าจะนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดปริมาณฝุ่นในแต่ละวันมาทำการพล็อตกราฟเพื่อแสดงปริมาณฝุ่นโดยเฉลี่ย ว่ามีมากหรือน้อยในช่วงเวลาใด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการเพิ่มมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นได้ในอนาคต ส่วนการพัฒนาใน Phase ต่อ ๆ ไปผมเองก็อยากจะให้ “TSE AirQ” ได้ติดตั้งมากขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่เพียงแต่ที่ศูนย์รังสิตเท่านั้น แต่อยากให้ครอบคลุมในทุกศูนย์ของธรรมศาสตร์ ทั้งท่าพระจันทร์ ศูนย์พัทยาและศูนย์ลำปาง โดยผมก็หวังว่าผลงานชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ในการวิจัยต่อยอดและช่วยย้ำเตือนให้ทุกคนได้ป้องกันตนเองเพื่อสุขภาพที่ดีของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกท่านครับ

          นับว่า “น้องท็อป”เป็นตัวอย่างของนักศึกษาธรรมศาสตร์ ที่มีความตั้งใจดี คิดริเริ่มสร้างสรรค์ และที่สำคัญตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะของบัณฑิตที่จะเป็นผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 ตามแนวคิด “GREATS” และตรงกับปณิธานของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มุ่งมั่นจะเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน” (THAMMASAT FOR THE PEOPLE) อีกด้วย