Loading...

พัฒนา Skill เดิม เพิ่มเติม Skill ใหม่ ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจ แหวกคลื่น Disruption

ความอยู่รอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง คือความท้าทายของคนในยุค Digital Disruption ที่ทุกฝ่ายต่างพากันปรับตัวครั้งใหญ่!

วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

  

          ความอยู่รอดท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง คือความท้าทายของคนในยุค Digital Disruption โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ที่บริษัท ห้างร้าน ธุรกิจทุกระดับชั้น ต่างพากันปรับตัวครั้งใหญ่กันด้วยแล้ว

คำถามตัวโตที่เราต้องครุ่นคิดและตอบให้ได้ก็คือ เรายังมีความจำเป็นอยู่อีกไหม ?

          เพราะผู้ที่พรั่งพร้อม ยุค Digital Disruption จะเต็มไปด้วยประตูแห่งโอกาสที่คอยเปิดอ้าต้อนรับ    แต่สำหรับผู้ที่ความสามารถในการปรับตัวต่ำ เข้าข่ายคุณลักษณะ Deadwood คนกลุ่มนี้จะตกเป็นเหยื่อ      ถูกอนาคตไล่ล่าและกลืนกินในท้ายที่สุด

          ความร้ายกาจประการหนึ่งของยุค Digital Disruption ก็คือ เราไม่อาจอาศัยองค์ความรู้ดั้งเดิมหรือความถนัดเก่า ๆ จากครั้งอดีตมาใช้ในปัจจุบันได้ทั้งหมด ดังนั้นเพื่อความอยู่รอด บางทักษะจึงต้องพัฒนา และบางทักษะจำเป็นต้องปรับปรุง

          ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งสัดส่วนของวัยแรงงานจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ ขณะเดียวกันเมื่อนำมูลค่าทางเศรษฐกิจไปหารด้วยจำนวนแรงงานจะพบว่าเรามีผลิตภาพ หรือ Productivity ที่ค่อนข้างต่ำ และสุดท้ายคือเรากำลังเผชิญกับ Digital Disruption

          ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนว่าหากยังอยู่กันแบบเดิม ไม่ว่าเราหรือประเทศก็คงไปต่อไม่ได้ นี่คือเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาทักษะ ทั้งทักษะพื้นฐานในการทำงาน (Hard Skill) และทักษะที่ช่วยให้การทำงานไหลลื่นขึ้น (Soft Skill)

          “การเรียนการสอนในรูปแบบเดิม ๆ จะได้เพียงความรู้เบื้องต้น แต่ไม่ได้ทักษะที่เพียงพอในการทำงานจริง ฉะนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด และมุ่งเน้นในการเสริมทั้ง Hard Skill และ Soft Skill”  ผศ.ดร.ศุภชัย ระบุ

          สำหรับ Hard Skill ที่จำเป็นในปัจจุบัน ประกอบด้วย ความสามารถในการทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) การคิดการตัดสินใจอย่างเป็นระบบ (Thinking) การบริหารจัดการคน (Team Management) ตลอดจนทักษะการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เสริมด้วยเรื่องของทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล     (Big Data)

          ส่วน Soft Skill ที่สำคัญ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) ทักษะการพูดและการโน้มน้าวใจ (Persuasive – Negotiate) การทำงานเป็นทีม (Team Leading and Following) ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามได้ในเวลาเดียวกัน รวมถึงความสามารถในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมตลอดเวลา (Adaptive) และการจัดการเวลา (Time Management)

          “ปัจจุบันมีคำอยู่ 2 คำ ที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ Re-Skill คือการสร้างทักษะใหม่ที่เข้ากับโลกปัจจุบันได้ ซึ่งอาจเป็นได้หลายแนวทาง ขึ้นกับโจทย์ของภาคธุรกิจว่าต้องการคนที่มีลักษณะแบบใด และ Up-Skill เป็นการพัฒนาทักษะเดิมให้ทันกับโลกยุคปัจจุบัน มักจะเป็นเรื่องการทำให้คนใช้เทคโนโลยีเป็น เช่น เรียนรู้การควบคุมเครื่องจักรที่ใช้ AI เพิ่มเข้ามาได้” ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ระบุ

          งานวิจัยของ สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้สำรวจทักษะแรงงานของคนในยุค 4.0 และทักษะที่นายจ้างต้องการ พบว่าผู้ประกอบการต้องการเด็กที่มีประสบการณ์ในโลกของการทำงานจริงในลักษณะสหกิจศึกษา มากกว่าเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว เพราะเด็กที่ผ่านการฝึกงานจะเข้าใจว่าสถานประกอบการต้องการอะไร

          นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องการให้พนักงานบริษัท หรือกลุ่ม White Collar มีทักษะในการตัดสินใจ มีทักษะด้าน AI ตลอดจนการวิเคราะห์ Big Data ขณะที่กลุ่มผู้ใช้แรงงาน หรือ Blue Collar ต้องการเพียงแค่ความสามารถในการปรับตัว และไม่ปฏิเสธที่จะต้องทำงานร่วมกับเทคโนโลยี

          ผศ.ดร.ศุภชัย เสนอว่า ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนและลุงทุนให้เกิดการ Re-Skill และ Up-Skill อาทิ การสร้างแพลทฟอร์มของวิชาบางอย่างให้คนเข้าถึงได้ เช่น ถ้าอยากให้คนเรียนรู้เรื่อง AI ก็ต้องทำหลักสูตรเบื้องต้นและเปิดอบรมฟรี จัดหาโครงสร้างขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง อุปกรณ์เทคโนโลยี ฯลฯ

          สำหรับสถาบันการศึกษาก็ต้องปรับการเรียนการสอน และควรให้บริการวิชาการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มคน อย่างที่สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์สถาบัน ก็ได้มีการให้บริการอบรมทักษะทั้งในรูปแบบที่เปิดสาธารณะ แบบ in-house ภายในองค์กร รวมทั้งแบบบริการสังคมที่ไม่หวังผลกำไร พร้อมกับเป็นที่ปรึกษาองค์กรด้านทรัพยากรมนุษย์

          รูปธรรมของผลงาน ไม่ว่าจะเป็น “โรงเรียนผู้สูงอายุ” ที่ให้ผู้สูงวัยได้กลับมาเรียนรู้ในสิ่งที่เขาควรจะรู้ “การฝึกทักษะอาชีพผู้ใกล้พ้นโทษ” เตรียมความพร้อมก่อนออกจากเรือนจำ ไปจนถึง “มหาวิทยาลัยประชาชน” ที่ฝึกอาชีพให้กับประชาชน พร้อมมีตลาดให้ทดลองขายจริงได้

          เหล่านี้สอดรับกับบทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการเป็น Platform for Future Workforce หรือแหล่งเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ของคนทุกเจนเนอเรชัน ในยุคที่ผู้คนอาจไม่ได้เกษียณอายุที่ 60 อีกต่อไป

          “การเพิ่มทักษะมนุษย์ ไม่ว่าอย่างไรก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันด้วยแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง” ผศ.ดร.ศุภชัย ระบุ