Loading...

รายชื่อ 19 หลักสูตรรั้วธรรมศาสตร์ คุณภาพตามกรอบ TQF ระดับดีมาก

รายชื่อ 19 หลักสูตรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) และได้รับการรับรองตามระบบคุณภาพสากลและสภาวิชาชีพในระดับดีมาก

วันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2561

          คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) มีมติเห็นชอบและให้เผยแพร่หลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (Thailand Qualifications Framework หรือ TQF) รวมทั้งยังได้รับการรับรองตามระบบคุณภาพของสากลและของสภาวิชาชีพในระดับดีมาก จำนวน 37 หลักสูตร จากสถาบันอุดมศึกษา 13 แห่ง

         โดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีหลักสูตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (TQF) จำนวน 19 หลักสูตร ได้แก่

      1.) หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตร ปรับปรุง พ.ศ. 2556) รับรองจาก WFME

      2.) หลักสูตรบัญชีบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2558) รับรองจาก AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business)

      3.) หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2558) รับรองจาก AACSB

     4.) หลักสูตรบัญชีบัณฑิต (หลักสูตรภาษาอังกฤษ/หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2558) รับรองจาก AACSB 

     5.) หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรภาษาอังกฤษ/หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2558) รับรองจาก AACSB

     6.) หลักสูตรควบบัญชีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชีธุรกิจแบบบูรณาการ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) รับรองจาก AACSB

     7.) หลักสูตรควบบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจแบบบูรณาการ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) รับรองจาก AACSB

     8.) หลักสูตรควบบัญชีมหาบัณฑิต สาขาการบัญชีธุรกิจแบบบูรณาการ (หลักสูตรปรับปรุงพ.ศ. 2556) รับรองจาก AACSB

     9.) หลักสูตรควบวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการเงิน (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556)  รับรองจาก AACSB

     10.) หลักสูตรควบวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการตลาด (หลักสูตรปรับปรุงพ.ศ.2556) รับรองจาก AACSB

      11.) หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) รับรองจาก AACSB

      12.) หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) ได้รับการรับรองจาก AACSB 

      13.) หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการเชิงกลยุทธ์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2560) รับรองจาก AACSB

      14.) หลักสูตรการตลาดมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ/หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2558) รับรองจาก AACSB

      15.) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559)  รับรองจาก AACSB 

      16.) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559) รับรองจาก AACSB 

      17.) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเงิน (หลักสูตรนานาชาติ/หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559) รับรองจาก AACSB

      18.) หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการธุรกิจสากล (หลักสูตรนานาชาติ/หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2559) รับรองจาก AACSB

      19.) หลักสูตรปรัชญาดุษฏีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ/หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2556) ได้รับการรับรองจาก AACSB

        รองศาสตราจารย์ นพ.ดิลก ภิยโยทัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะมีแนวทางในการจัดการเรียนการสอนแบบ Problem-based learning: (PBL) เน้นให้นักศึกษามีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งคณะมีการพัฒนาหลักสูตรเรื่อยมาจนกระทั่งหลักสูตรล่าสุดที่ได้รับการรับรอง คณะยังคงยึดมั่นในหลักการเดิมอยู่บวกกับการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันยุคทันสมัยขึ้น โดยการปรับปรุงหลักสูตรจะเน้นแนวทางคุณภาพทั้งหลายที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางของแพทยสภา กสพท. หรือ สมศ. ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน นักศึกษาอาจมีโอกาสไปปฏิบัติงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีการศึกษาต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย คณะจึงได้ให้ความสำคัญกับเกณฑ์มาตรฐานสากล หรือ WFME (World Federation for Medical Education) เพราะเป็นประโยชน์กับผู้เรียนในระยะยาว โดยปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการได้รับรองดังกล่าว คือเราต้องมีคณาจารย์ที่สนใจในเรื่องแพทยศาสตร์ศึกษา และรู้จริงในเรื่องนี้

          “ผมคิดว่าหัวใจสำคัญ คือเราต้องตีความให้ถูก ต้องรู้ทิศทางของอนาคตในการผลิตนักศึกษาออกไปเพื่อประกอบอาชีพแพทย์ โดยทิศทางที่เราดำเนินอยู่นี้ ตรงตามการรับรองของสากล ผมคิดว่าเป็นทางที่ถูกต้อง ซึ่งอาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้อีกในอนาคต ซึ่ง Key Success ของการรับรองต่อไปในอนาคต นอกเหนือจากทิศทางที่เราตั้งไว้แล้ว ยังต้องมีการพัฒนาบุคลากร เช่น คณาจารย์ นอกจากมีความเชี่ยวชาญในอาชีพที่ตนเองสั่งสอนแล้ว คณาจารย์ต้องรู้ในเรื่องของแพทยศาสตร์ศึกษา (Medical Education) ด้วย เพราะจะได้นำความรู้ในเรื่องดังกล่าวมาประกอบการปรับปรุงหลักสูตรได้อย่างมีความเข้าใจผ่องแท้” รองศาสตราจารย์ นพ.ดิลก กล่าว

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนทุกหลักสูตรให้เหมาะกับผู้เรียนอยู่เสมอ รวมไปถึงการเปิดและพัฒนาหลักสูตรที่รองรับการเรียนการสอนตอบโจทย์การสร้างกำลังคนในอนาคตด้วย