Loading...

“ศ.นพ.อนุชา” แพทย์เอเชียคนแรก คว้ารางวัล SHEA Mid-Career Scholarship Award 2018

จากความชอบในการทำวิจัยเรื่องการติดเชื้อ จนกลายมาเป็นประโยชน์ที่มอบให้แก่สังคม โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ความลับของความสำเร็จของ ศ.นพ.อนุชา อภิสารธนรักษ์

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2561

          “ผมอาจจะโชคดีที่ได้รู้ความลับบางอย่างนั่นคือ “ความสุข” และการทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แค่เราได้สร้างประโยชน์ ซึ่งมันเป็นรางวัลแก่สังคมที่เราให้กับเขา และมันจะย้อนกลับมาเป็นรางวัลให้เราเอง คือ “ความสุข” แบบไม่มีที่สิ้นสุด และถ้าเราทำงานแบบมีความสุข มันจะทำให้เราสามารถทำงานได้ต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ นี่คือหัวใจสำคัญของการทำงานของผม”

          หากพูดถึงรางวัลระดับนานาชาติในสายแพทยศาสตร์หลาย ๆ รางวัล เรามักไม่คุ้นเคยกับการได้ยินว่าเป็นแพทย์ชาวเอเชียที่คว้ารางวัลนั้น ๆ เหมือนเป็นเรื่องไกลตัวเราไปแล้ว จนอาจลืมไปว่าแท้จริงเรามีแพทย์ชาวเอเชียที่เก่ง ๆ อยู่มากมาย และโดยเฉพาะแพทย์ไทย อีกความภาคภูมิใจของชาวธรรมศาสตร์ และความภาคภูมิใจของวงการแพทย์ไทย ศ.นพ.อนุชา อภิสารธนรักษ์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คว้ารางวัล SHEA Mid-Career Scholarship Award ประจำปี 2018 จาก Society for Healthcare Epidemiology of America (SHEA) สมาคมควบคุมการติดเชื้อ นอกจากนี้ ศ.นพ.อนุชา ยังเป็นแพทย์คนแรกในเอเชียที่คว้ารางวัลนี้มาครองได้สำเร็จ

          ศ.นพ.อนุชา อภิสารธนรักษ์ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า สมาคมควบคุมการติดเชื้อ หรือ Society for Healthcare Epidemiology of America (SHEA) เป็นสมาคมที่ดูแลการติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นหลัก และมีหน้าที่ให้ความรู้กับแพทย์ทั่วโลก เกี่ยวกับการควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งตนเองได้รับการทาบทามให้เข้าสมัครมาแล้ว 4 ครั้ง จากสถิติที่ผ่านมาผู้ที่ได้รับรางวัลมักจะเป็นผู้ที่มีผลงานทางด้านนี้อย่างชัดเจน และเป็นแพทย์ทางอเมริกาหรือยุโรป ไม่เคยมีแพทย์จากเอเชียได้รับรางวัลนี้มาก่อน โดยสมาคมจะพิจารณาจากผลงานในช่วง 15 ปี ที่ผ่านมา และต้องเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง มีความโดดเด่นอย่างชัดเจน และการสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล

          สำหรับผมรางวัล SHEA Mid-Career Scholarship Award เป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดแล้ว และได้ยากที่สุดแล้ว เพราะต้องแข่งขันกับแพทย์จากทั่วโลก หากเทียบกับสหรัฐอเมริกา ส่วนตัวมองว่า ศักยภาพในเรื่องดังกล่าวต่างกันเยอะ แต่เราสามารถมีผลงานที่สู้ได้ และยังเป็นความภาคภูมิใจให้โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ด้วย ศ.นพ.อนุชา กล่าว

          หลาย ๆ ผลงานของ ศ.นพ.อนุชา ยังถูกนำไปอ้างอิงและนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เช่น ช่วงที่มีไข้หวัดนกระบาด คุณหมอได้ทำงานวิจัยควบคุมการติดเชื้อในโรงเรียนของลูก แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่ทำสามารถช่วยลดไข้หวัดใหญ่ ลดอาการท้องเสีย ลดโรคมือเท้าปาก ในโรงเรียนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย จากผลงานวิจัยในเรื่องดังกล่าว คุณหมอได้รับรางวัล SHEA William Jarvis Award ที่เป็นรางวัลงานตีพิมพ์ที่มีคุณค่ามากที่สุดในวารสาร Infection Control & Hospital Epidemiology ซึ่งเป็นวารสารอันดับหนึ่งของงานควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล

         “เขาให้รางวัลที่เราทำในโรงเรียนลูก ซึ่งเราเองก็ไม่ได้คาดหวังอะไรจากการทำงานตรงนั้น ที่ทำเพราะเราทำให้ลูก ทำเพื่อลูก มันเป็นความสุข แต่เขาบอกกลับมาว่า ...คุณสามารถทำวิจัยได้ทุกที่ และให้คนเอาไปใช้โดยไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาอ้างอิง… มันก็ทำให้เรารู้ว่า ความลับจริง ๆ คือ ความสุข”

          เราโชคดีที่เราเข้าไปถึงความลับของความสำเร็จได้แล้ว เพียงแค่เราได้สร้างประโยชน์ คงมาตรฐานที่มีคุณภาพ สุดท้ายความสำเร็จจะมาเอง เหมือนดังพระราชดำริของ "พระราชบิดา" สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพราะเราไม่ได้ยึดความสำเร็จเป็นหลัก แต่เรายึดประโยชน์ที่จะตกกับคนเป็นที่ตั้ง มันเป็นรางวัลแก่สังคมที่เราให้เขา และมันจะย้อนกลับมาเป็นรางวัลให้กับเรา นั่นคือ “ความสุข” แบบไม่มีที่สิ้นสุด ศ.นพ.อนุชา กล่าว

          “การได้ออกความคิดท้าทาย ออกความคิดใหม่ ๆ เหมือนกับเด็กคนหนึ่งที่เล่นเกมเข้าไปในด่านต่าง ๆ ผมก็เหมือนเด็กคนนั้น แต่มีอยู่บางอย่างที่ต่างกับเด็กคนนั้น นอกจากความมุ่งมั่นที่จะเข้าไปในด่านสุดท้าย ก็คือ เรามีความสุขมาล้อมรอบด้วยว่า "ประโยชน์ที่เกิดจากงานของเรา" พอมีความสุขมาหล่อเลี้ยง ต่อให้ทำงานไปมากเท่าใดก็เลยไม่รู้สึกเหนื่อยมาก สามารถทำต่อไปได้เรื่อย ๆ”

          ศ.นพ.อนุชา มีความมุ่งมั่นในการทำงานวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับการติดเชื้อในโรงพยาบาล เช่น การป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลหลังผ่าตัด การป้องกันการติดเชื้อดื้อยา การพัฒนาคุณภาพอากาศในโรงพยาบาล โดยคุณหมอมองว่า สิ่งเหล่านี้มันสำคัญมาก ซึ่งจะสามารถช่วยป้องกันคนไข้ไม่ให้ติดเชื้อในโรงพยาบาลได้ "เมื่อคนไข้เข้ามาอยู่ในโรงพยาบาลแล้วต้องปลอดภัย"

          ตลอดระยะเวลาในแวดวงทางการแพทย์ คุณหมอได้ทำงานวิจัยต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกมากมายเกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ เมื่อปี 2554 ในขณะนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต รวมไปถึงโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้รับผลกระทบด้วย ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่มีงานวิจัยรองรับมากนัก โดยคุณหมอได้ทำรายงานข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ จนมีโรงพยาบาลหลายแห่งได้อ้างอิงผลงานของคุณหมอไปใช้ หนึ่งในนั้นเป็นโรงพยาบาลบางแห่งในสหรัฐอเมริกาที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกัน