Loading...

จากติวเตอร์สอนศิลปะ สู่บทบาทอาจารย์หัตถอุตสาหกรรม ผู้ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างยั่งยืน

ความตั้งใจที่ “อาจารย์กัมพล แสงเอี้ยม” ต้องการจะถ่ายทอดความรู้ด้านศิลปะอุตสาหกรรม ต่อยอดสู่การพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนอย่างยั่งยืน

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

  

          “จริง ๆ แล้วผมมีความตั้งใจที่อยากจะถ่ายทอดความรู้จากที่เรียนจบมาและจากประสบการณ์การทำงานด้านการออกแบบ และได้มีโอกาสสอนพิเศษเด็ก ๆ ด้านศิลปะและออกแบบ ไปพร้อมกับการทำงานด้านออกแบบอุตสาหกรรม จนได้เข้ามาเป็นอาจารย์ในสาขาออกแบบหัตถอุตสาหกรรม ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางมาสอนอย่างเต็มตัว...”

          วันนี้เราจะชวนทุกคนขึ้นเหนือกันเจ้า.... พูดคุยทำความรู้จักกับ อาจารย์กัมพล แสงเอี้ยม สาขาออกแบบหัตถอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ด้วยประสบการณ์ในวงการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมากว่า 6 ปี และยังเป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมกำหนดทิศทางองค์กรและสร้างสรรค์ผลงานออกสู่ตลาด สู่การก้าวเข้ามาเป็นอาจารย์ประจำอย่างเต็มตัว ล่าสุดอาจารย์ได้รับรางวัล “นักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับคณะ” จากวันนักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2562 ด้วย

­­

จุดเริ่มต้นความสนใจการสร้างสรรค์งานหัตถอุสาหกรรม

          ต้องบอกว่าได้มีโอกาสลงชุมชนท้องถิ่นในอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดลำปาง ได้เห็นภูมิปัญญา สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วัฒนธรรม (ล้านนา) ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความหลากหลายทั้งผลิตภัณฑ์ชุมชนและงานหัตถศิลป์ต่าง ๆ แถมยังมีวัตถุดิบท้องถิ่นที่มีให้เลือกใช้มากมาย ทำให้ผมสนใจสร้างสรรค์ผลงานจากภูมิปัญญากรรมวิธีการผลิตและวัสดุพื้นถิ่น รวมเข้ากับประสบการณ์ของตนเองในสายออกแบบอุตสาหกรรม ผสมผสานงานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้ากับระบบอุตสาหกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในยุคปัจจุบัน ทั้งทางด้านสุนทรียศาสตร์ (Aesthetic) และด้านประโยชน์ใช้สอย (Functional)

พูดถึงการยกระดับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าพื้นบ้าน

         เราต้องเข้าใจธรรมชาติและวิถีของชุมชนในการผลิตสินค้าหรือสร้างสรรค์ผลงานก่อน และทำความเข้าใจกับความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนด้วย ขอยกตัวอย่างผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับภูมิปัญญา เป็นกระบวนการทางภูมิปัญญาหัตถศิลป์ล้านนา ด้านกระบวนการจักสานไผ่ การทำเครื่องเขิน และการกลึงไม้ ผสมผสานกระบวนการสร้างงานจากภูมิปัญญาหัตถศิลป์ล้านนา แล้วสร้างสรรค์ผลงานที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมในปัจจุบันที่มีการผสมผสานภูมิปัญญาหัตถศิลป์ท้องถิ่นจากอดีตสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมสมัย ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัตน์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกมิติ รวมถึงมิติของเวลาท่ามกลางโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันเป็นวัฒนธรรมที่สร้างสรรค์แบบข้ามแดน เพื่อให้สอดคล้องกันกับบริบทภายนอกชุมชนและบริบทภายในชุมชน

แนวทางการส่งเสริมให้ชุมชนหันมาปรับรูปแบบของผลิตภัณฑ์

          ผมได้ทำวิจัยเรื่องการพัฒนาศักยภาพชุมชน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้าทอท้องถิ่นจังหวัดลำปาง โดยประยุกต์แนวคิดชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC: Professional Learning Community) เป็นการหาแนวทางของการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งของกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ด้วยศักยภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของกลุ่มชุมชนตนเอง ที่เน้นความสำคัญของการรวมตัว ร่วมใจ ร่วมพลัง ร่วมทำและร่วมเรียนรู้ร่วมกัน บนพื้นฐานวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร สู่การเรียนรู้และพัฒนาวิชาชีพเปลี่ยนแปลงคุณภาพในกลุ่มชุมชนผ้าทอท้องถิ่น เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงรูปแบบและแนวทางของผลิตภัณฑ์ให้เกิดอัตลักษณ์ของกลุ่มชุมชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

ในการวิจัยครั้งนี้ผมได้แนวคิดใหม่ที่ผมเรียกว่า MCDIN (แมกดิน)” เป็นกระบวนการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชุมชนร่วมกันเป็นทีม แบ่งได้ 5 ขั้นตอนด้วยกัน 1) พันธกิจร่วม (Mission) 2) สร้างสรรค์ร่วม (Creativity) 3) การพัฒนาร่วม (Development) 4) การทำให้สำเร็จร่วม (Implementation) 5) เครือข่ายร่วม (Network)

ผลงานที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว

          ผลงานของผมได้รับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ 2 ผลงาน เป็นผลงานการออกแบบเครื่องเรือน (เก้าอี้) ได้แก่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ “เก้าอี้” เลขที่สิทธิบัตร 62846 แนวคิดการออกแบบเป็นการศึกษากระบวนการออกแบบเครื่องเรือนที่ขับเคลื่อนด้วยวัสดุ ตามแนวคิดการออกแบบเชิงอารมณ์ เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุกับรูปทรง (Form Follows Material) เพื่อสื่อความหมายและตอบสนองความรู้สึกทางอารมณ์ของผู้ใช้งานตามแนวคิดการออกแบบเชิงอารมณ์ (Emotional Design) การออกแบบที่ขับเคลื่อนด้วยวัสดุมีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดรูปทรงเพื่อสะท้อนความรู้สึกและอารมณ์ของผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อผู้ใช้งาน มีผลต่อการตัดสินใจ การเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักออกแบบกับผลิตภัณฑ์ และผู้ใช้งานหรือผู้บริโภค รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัสดุกับรูปทรง เป็นการบูรณาการของความสัมพันธ์ในกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสิ่งเร้าผ่านรูปทรงของผลิตภัณฑ์จากการขับเคลื่อนด้วยวัสดุที่สนองตอบความต้องการและอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค

          การออกแบบผลิตภัณฑ์ “เก้าอี้” เลขที่สิทธิบัตร 68828 แนวคิดการออกแบบเป็นการศึกษาและทดลองด้านวัสดุเศษไม้กลึงที่มีจำนวนมากเหลือจากอุตสาหกรรมกลึงไม้จังหวัดลำปาง จากการทดลองและออกแบบเก้าอี้ที่ใช้วัสดุผสมระหว่างเศษไม้กลึงกับเรซิน โดยการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทภายนอกชุมชนการของความเปลี่ยนแปลง และการแข่งขันทางการตลาดกับคู่แข่งขัน การเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงและกระแสนิยม ส่วนบริบทภายในชุมชนเรื่องกระบวนการและกรรมวิธีการผลิตผลิตรวมถึงต้นทางของวัสดุด้วย จากการผสมผสานทางวัฒนธรรมสู่การยกระดับของรูปแบบงานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกระแสนิยมในปัจจุบัน ภายใต้บริบททางวัฒนธรรมร่วมสมัยอย่างลงตัว

แรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน

          ผมจะใช้กระบวนการคิดเชิงการออกแบบ (Design Thinking Process) โดยจะเริ่มต้นจากขั้นตอน Empathize คือการทำความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายหรือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” และลงพื้นที่จริงพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด บางครั้งเราก็ต้องใช้เวลามากในการลงชุมชนหลายรอบ รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกลุ่มเป้าหมาย ส่วนใหญ่แล้วผมได้ประเด็นจากการพื้นที่ต่าง ๆ และอีกกระบวนการที่สำคัญสำหรับผมในการสร้างสรรค์ผลงาน (แนวคิดผมเอง) ผมจะใช้ “4i” ขั้นตอนแรกคือ “I” คือทำความเข้าใจกับตัวเราเองและคนรอบข้าง ขั้นตอนที่สองคือ “Inspiration” คือการค้นหาแรงบันดาลใจต่าง ๆ ขั้นที่สามคือ “Imagination” คือการสร้างภาพจิตนาการในอนาคต และขั้นตอนสุดท้ายคือ “Innovation” คือการสร้างผลงานให้สำเร็จและส่งมอบประสบการณ์ใหม่ ๆ

สุดท้าย มุมมองวงการหัตถอุตสาหกรรมไทยควรไปในทิศทางใด

          จากประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชนมาประมาณ 4 ปี จะเห็นได้ว่ามีโครงการจากภาครัฐจำนวนมากที่ลงมาพัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) แต่ในปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังคงเผชิญกับปัญหาสำคัญด้านการสร้างนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์และธุรกิจ ขาดการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้เอื้อต่อความต้องการตามกระแสแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน จากประเด็นดังกล่าวเราควรกำหนดทิศทางการพัฒนาจากโครงสร้างหลักในกลุ่มผู้ประกอบการ (OTOP) เน้นความสำคัญของการรวมตัว ร่วมใจ ร่วมพลัง ร่วมทำและร่วมเรียนรู้ร่วมกัน บนพื้นฐานวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบกัลยาณมิตร คือการพัฒนาที่ตัวบุคลากรของกลุ่มเพื่อยกระดับและการร่วมมือกันในกลุ่ม การพัฒนาศักยภาพทางวิชาชีพของตน ในด้านแนวคิด ด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ด้านกระบวนการผลิต ด้านรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับยุคปัจจุบัน รวมถึงการสร้างเอกลักษณ์ของกลุ่มชุมชนให้มีเสน่ห์และสร้างอัตลักษณ์จุดเด่นของกลุ่มชุมชนจากรากแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นของตน เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ยั่งยืน

          จากความสนใจของ อาจารย์กัมพล แสงเอี้ยม ในด้านนวัตกรรมภูมิปัญญา การแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต และการใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อลดปัญหา รวมถึงแนวคิด SEE คือ Social (สังคม) เราสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร Economic (เศรษฐกิจ) เราสามารถสร้างองค์ความรู้ร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ Environmental (สิ่งแวดล้อม) เราสามารถสร้างสรรค์และเลือกใช้วัสดุท้องถิ่นที่ไม่มีผลต่อระบบนิเวศชุมชนได้อย่างไร ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ผลงานสร้างสรรค์ใหม่ ๆ รวมถึงผลงานวิจัยที่จะช่วยต่อยอดไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และยังยกระดับสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ก้าวไปสู่ตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็งด้วย