Loading...

Thammasat for People: 8 นโยบายเร่งด่วนเพื่อสังคม ฝ่าวิกฤต COVID-19

 

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมได้ทำหน้าที่ในการช่วยเหลือสังคมอย่างเต็มกำลังเพื่อ “ประชาชน”

วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2563

          จากสถานการณ์วิกฤตของโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีมาตรการและนโยบายเร่งด่วน ในการช่วยเหลือประชาคมธรรมศาสตร์ และร่วมกันแก้ไขปัญหาประเทศชาติ โดยเริ่มจาก 1. ระดับมหาวิทยาลัย คือการดูแลนักศึกษาและบุคลากรให้ดีที่สุดในทุก ๆ ด้าน 2. ระดับพื้นที่ โดยดูแลและสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งก็คือ จ.ปทุมธานี และพื้นที่ใกล้เคียง และสุดท้าย 3. ระดับประเทศชาติ ธรรมศาสตร์จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแบ่งเบาภาระของประเทศชาติให้ได้มากที่สุด

เป้าหมายทั้ง 3 ระดับนี้ สะท้อนความเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน” ได้อย่างแท้จริงผ่านผลงานที่สามารถตอบโจทย์ในการช่วยเหลือสังคมได้ มีดังนี้

1. THAMMASK หน้ากากอนามัยสะท้อนน้ำ

          เป้าหมายในการคิดค้นและพัฒนา “THAMMASK  หน้ากากสะท้อนน้ำ” เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายหรือติดเชื้อไวรัส และลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single - Use) โดยศึกษาวิจัยคุณสมบัติผ้า จนได้ผ้าที่เหมาะสมสำหรับใช้ในทางการแพทย์” นั่นคือ “ผ้าฝ้ายผสมโพลิเอสเตอร์” (Cotton-Silk) ซึ่งมีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะจะเป็นหน้ากากผ้าทางเลือก สามารถสะท้อนน้ำได้ดี ไม่ดูดซับความชื้น ช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อ และสามารถนำไปซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 30 ครั้ง

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://tu.ac.th/thammasat-news-02-covid-19-mask-cotton-blend-polyester

2. โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลต้นแบบที่ดีที่สุด

          โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ (Thammasat University Field Hospital for COVID-19) ขนาด 308 เตียง เป็นความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และภาคีเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ 5 สถาบัน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี และคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ในการเปิดโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์นั้น เป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะต้องดูแลรับใช้สังคมไทย เพื่อรองรับผู้ป่วยที่เกินกว่าศักยภาพของเตียงในโรงพยาบาลรัฐ เพื่อลดภาระหรือแบ่งเบาภาระจากโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์ในเครือข่าย โรงพยาบาลสนามฯ มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์ พยาบาล อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ การบริหารจัดการห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://tu.ac.th/thammasat-university-field-hospital-covid-19-model-thailand

3. THAM-Robot หุ่นยนต์จัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์

          “Tham-Robot หุ่นยนต์จัดส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์” โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คิดค้นรถเข็นอัจฉริยะเพื่อการจัดส่งยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต่อการรักษาถึงมือผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย COVID-19 โดยตรง สามารถกำหนดทิศทางรถเข็นด้วยรีโมทคอนโทรลจากห้องทำงาน โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังห้องพักของผู้ป่วย ซึ่งใช้เวลาในการพัฒนาเพียงแค่ 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://tu.ac.th/thammasat-tse-tham-robot-covid-19

4. “น้องยูงทอง” ผู้ช่วยคนใหม่ของแพทย์ และพยาบาล

          “น้องยูงทอง” เป็นหุ่นยนต์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ไอแอพพ์ เทคโนโลยี จำกัด “น้องยูงทอง” มาพร้อมระบบ Chat Bot พูดคุยและโต้ตอบเป็นภาษาไทยได้ เพียงแค่เรียกชื่อของหุ่นยนต์ว่า “น้องยูงทอง” ก็สามารถเริ่มต้นส่งคำสั่งหรือส่งคำสนทนา  และยังสามารถเดินทางส่งอาหาร ยา​ หรือสิ่งของ เครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ ในห้องกักกันเชื้อได้โดยไม่ต้องใช้รีโมทคอนโทรล แต่ใช้เทคโนโลยี LIDAR สแกนสภาพภายในห้องพักของผู้ป่วยโดยอัตโนมัติและจดจำตำแหน่งของเตียงผู้ป่วยไว้แทน หุ่นยนต์จะสามารถเดินทางไปส่งยาระหว่างช่องจ่ายยาและเตียงผู้ป่วยได้โดยอัตโนมัติ และยังสามารถวัดไข้ของผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยอีกด้วย

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://tu.ac.th/thammasat-siit-iapp-nong-yoongthong-robot

5. Tham-UV Clean ตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยด้วย UV-C

          “Tham – UV Clean” ตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยด้วยรังสียูวีซี (UV-C) ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อไวรัสได้ 100 % ภายใน 5 นาที เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของของโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) ในประเทศไทย ทำให้หน้ากากอนามัยมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงได้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมตู้อบฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยที่สามารถกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย ซึ่งคิดค้นและพัฒนา โดย ผศ.ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.วรดา สโมสรสุข คณะสหเวชศาสตร์ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยสามารถนำหน้ากากกลับมาใช้ได้ทันทีหลังอบเสร็จ และใช้ซ้ำได้ 5 - 10 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพและประเภทของหน้ากากอนามัย

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://tu.ac.th/thammasat-tse-tham-uv-clean-covid-19

6. ห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อ COVID-19

          ห้องปฏิบัติการของศูนย์ตรวจวินิจฉัยระดับโมเลกุล ศูนย์บริการสุขภาพ คณะสหเวชศาสตร์ ได้รับการรับรองความชำนาญทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำหรับตรวจวินิจฉัยเชื้อ COVID-19  สามารถตรวจยืนยันผล COVID-19 ในห้องปฏิบัติการได้ภายใน 6 - 12 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และโรงพยาบาลใกล้เคียงในพื้นที่รังสิต-ปทุมธานี โดยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยเทคนิค Realtime RT-PCR ภายใต้การดูแลของนักเทคนิคการแพทย์ และคณาจารย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://tu.ac.th/thammasat-2020-allied-laboratory-covid-19

7. TU Pandemic Legal Aid Centre ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

          ผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ธุรกิจจำนวนมากที่ประกาศลดชั่วโมงการจ้างงานเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย บางแห่งตัดสินใจเลิกจ้างพนักงาน หรือถึงขั้นปิดกิจการถาวรก็มีให้เห็นไม่น้อย ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเป็นลูกโซ่เหล่านั้นมักจะตามมาด้วยข้อพิพาททางกฎหมาย

          คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดตั้ง ศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU Pandemic Legal Aid Centre) ภารกิจของศูนย์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายแห่งนี้ คือ ให้คำปรึกษาและให้ความเห็นทางกฎหมาย โดยไม่รวมถึงการว่าความ และให้ความรู้ทางกฎหมายในแง่มุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ COVID-19 โดยจะให้คำปรึกษาผ่านทางออนไลน์ ช่องทางหลักคือ Facebook Page และ E-mail โดยมีคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขากฎหมายต่าง ๆ เป็นผู้ให้ความเห็น และมีบัณฑิตจบใหม่รวมถึงนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ของคณะนิติศาสตร์ เป็นผู้รับเรื่องจากเคสทางออนไลน์

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://tu.ac.th/thammasat-lawtu-tu-pandemic-legal-aid-centre-covid-19

8. Line Official Account: TU COVID-19

          ด้วยความห่วงใยต่อนักศึกษาและบุคลากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ออกแบบโปรแกรมเฝ้าระวังและติดตามอาการของนักศึกษาและบุคลากรธรรมศาสตร์ที่อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 บน Line Official Account ในชื่อว่า TU COVID-19 ที่ช่วยสนับสนุนการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีและครอบคลุมคนจำนวนมาก

          TU COVID-19 (เพิ่มเพื่อนที่ @tucovid19 และลงทะเบียนยืนยันตัวตน) ให้บริการตั้งแต่ข้อมูลสถานการณ์ประจำวัน การคัดกรองและประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น ไปจนถึงการบันทึกข้อมูลสุขภาพ ตำแหน่งการเดินทาง และการรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

รายละเอียดเพิ่มเติม: https://tu.ac.th/thammasat-line-chat-bot-tu-covid-19

          สิ่งหนึ่งที่ธรรมศาสตร์ยึดมั่นถือมั่นมาโดยตลอด คือ การเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน Thammasat for People” และวันนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเพียงใด “เรา” ยังเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ของประชาชน และพร้อมจะอยู่เคียงข้างและช่วยเหลือสังคมตลอดไป