Loading...

ตื่นตัว! รวมพลังนักศึกษาธรรมศาสตร์ “ปักหมุดจุดเผือก” ค้นหาพื้นที่จุดเสี่ยง “คุกคามทางเพศ”

 

ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเราไม่ควรตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เสี่ยงต่ออันตรายหรือการถูกคุกคามไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม 

วันอังคารที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

  

          ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นับว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะนอกจากเราทุกคนควรได้รับความปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว เราไม่ควรตกอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เสี่ยงต่ออันตราย หรือการถูกคุกคามไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม 

          วิชาเอกการสร้างเสริมสุขภาพ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำหลักในการทำงาน ร่วมกับแผนงานสุขภาวะผู้หญิง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมบูรณาการกับรายวิชา HP481 เมืองสุขภาวะ (Healthy City) ในลักษณะ Project Based Learning ได้ทำการประยุกต์รูปแบบการเรียนที่ไม่ได้เรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่เป็นการเรียนแบบ Active Learning กระตุ้นการคิด การวิเคราะห์ การปฏิบัติอย่างสร้างสรรค์ รวมไปถึงการสร้างกลยุทธ์ในการสร้างเครือข่ายนักศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วยกันเอง อาทิ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษากลุ่ม Thammasat Social Changemakers และอื่น ๆ ในมหาวิทยาลัย นำไปสู่การเกิด Social Movement หรือ "การเคลื่อนไหวทางสังคม" ในการขับเคลื่อนพลังของกลุ่มนักศึกษา สร้างความตระหนักในเรื่องของความปลอดภัย และทำประโยชน์ให้แก่สาธารณชน จึงก่อเกิด “กิจกรรมปักหมุดจุดเผือก” นำโดย เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง ประกอบด้วย องค์การ แอ็คชั่นเอด ประเทศไทย (ActionAid) แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เครือข่ายสลัมสี่ภาค สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายสถาปนิก นักผังเมือง เครือข่ายคนเมือง Shma SoEn พร้อมด้วย Big Trees, Urban Creature มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เพื่อรณรงค์กระตุ้นให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยทางเพศที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะ และร่วมกันสอดส่องดูแลเพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

          เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ทางเครือข่ายได้จัดงานแถลงข่าวเปิดข้อมูลพื้นที่จุดเสี่ยงต่อการถูกคุกคามทางเพศในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ภายใต้ แคมเปญ First Pin “ปักหมุดจุดเผือก” โดยเปิดให้ประชาชนร่วมปักหมุดผ่าน โปรแกรมแจ้งเหตุ Chat bot ทีมเผือกในแอปพลิเคชันไลน์ @Traffyfondue ซึ่งระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา มีการปักหมุดจุดเผือก มากกว่า 611 หมุดทั่วกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต จำนวน 288 หมุด เขตลุมพินี สะพานเขียว ซอยร่วมฤดี ซอยโปโล จำนวน 114 หมุด เขตราชเทวี-พญาไท บริเวณเพชรบุรีซอย 5 เพชรบุรีซอย 7 จำนวน 75 หมุด และอื่น ๆตามลำดับ

          ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้รับการแจ้งเตือนปักหมุดมากที่สุด ซึ่งไม่ได้หมายความว่า มีความเสี่ยงมากที่สุด แต่เป็นพื้นที่มีความตื่นตัวมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มนักศึกษา จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ และกลุ่ม Thammasat Social Changemakers ช่วยกันระดมนักศึกษาสำรวจจุดเสี่ยง โดยมหาวิทยาลัยรับข้อมูลนำไปปรับปรุงพื้นที่ในส่วนกายภาพและสร้างความตระหนักกับนักศึกษาต่อไป

          ลักษณะพื้นที่ที่มีคนปักหมุดจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุด คือ ทางเดินและซอย 39% สะพาน 16% และอื่น ๆ ตามลำดับ

          นอกจากนี้ พบ 7 อันดับจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศมากที่สุดดังนี้ 1. จุดที่ขาดการบำรุงรักษา 23% ไฟสว่างไม่เพียงพอ 23% จุดอับสายตา 15% ทางเปลี่ยว 14% ทางแคบทางตัน 13% ไม่มีป้ายบอกทาง 9% ไกลจากป้ายรถเมล์ วิน สถานี 3%

          จากบทสัมภาษณ์ทาง bangkokbiznews.com ผศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การร่วมสำรวจของพื้นที่ มธ. ได้รับความร่วมมือจาก นักศึกษากลุ่ม TU Changemaker และนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ ราว 50 คน ร่วมปักหมุดรายงานจุดเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศในพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ได้กว่า 288 จุด ซึ่งถือเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและคนในพื้นที่ ที่ผ่านมา ธรรมศาสตร์มีการทำแผนส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศ รวมถึงแบ่งพื้นที่เสี่ยงออกเป็น 4 สี 4 ระดับ คือ สีเขียว ไม่มีความเสี่ยง เหลือง จุดเฝ้าระวัง ส้ม จุดเสี่ยง และแดง จุดอันตราย มีการตรวจตรา ติดตั้งไฟ และจะติดตั้งกล้องวงจรปิดให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ให้มีจุดบอด หรือ จุดลับสายตาผู้คน

          “นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของนักศึกษา มีระบบการดำเนินงานในกรณีก่อนเกิดเหตุ ช่วงเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก พัฒนาระบบไอทีในการแจ้งขอความช่วยเหลือ มีสายด่วน เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน และดูแลทั้งสภาพร่างกาย จิตใจ และคดีความ” ผศ.ดร.ชุมเขต กล่าว

          เพราะทุกพื้นที่ในธรรมศาสตร์มีสิทธิและเสรีภาพ แต่สิทธิและเสรีภาพต้องไปไม่ละเมิด หรือคุกคามคนอื่นในพื้นที่มหาวิทยาลัยนี้ ในเบื้องต้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญปัญหาด้านความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและสร้างความเข้าใจทางเพศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อป้องกันการคุกคามและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ โดยให้คำนึงถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศโดยให้ครอบคลุมนักศึกษาและบุคลากรทุกหน่วยงาน รวมถึงกำหนดผู้ที่มาติดต่อและดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาคมธรรมศาสตร์

ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook เมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง safe cities for women Thailand