Loading...

คณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมกิจกรรมพายเรือเพื่อเจ้าพระยา ปีที่ 2

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผลักดันการอนุรักษ์แม่น้ำลำคลองอย่างยั่งยืน จัดกิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา : เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ” ปีที่ 2

 

วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2562

  

          ขยะนับว่าเป็นปัญหาของสังคมสมัยใหม่ ทั้งที่เป็นสังคมเมืองและสังคมอุตสาหกรรม นอกจากขยะจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อระบบนิเวศน์ และสุขภาพอนามัยที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วย โดยเฉพาะขยะพลาสติกซึ่งใช้เวลาในการย่อยสลายนับพันปี ดังเช่นโศกนาฏกรรมของมาเรียม ลูกพะยูนกำพร้าแม่ที่เสียชีวิตจากเศษพลาสติกขวางลำไส้จนมีอาการอุดตันบางส่วนและอักเสบ ทำให้มีแก๊สสะสมเต็มทางเดินอาหาร จนมีการติดเชื้อในกระแสเลือด 

          รายงานจากองค์กรอนุรักษ์ท้องทะเล (Ocean Conservancy) ระบุว่า หลายประเทศในอาเซียนทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากสุดในโลก ในขณะที่ทีมวิจัยจาก Helmholtz Center for Environmental Research ประเทศเยอรมนี ทำวิจัยเรื่องขยะในท้องทะเล พบว่า แต่ละปีมีขยะไหลลงสู่ท้องทะเลและมหาสมุทรประมาณ 8 ล้านตัน และราว 88 - 95% มาจากแม่น้ำ 10 สาย แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ 8 ใน 10 สายเป็นแม่น้ำในทวีปเอเชีย และอีกสองสายอยู่ในทวีปแอฟริกา 

          และจากการสำรวจของทีมวิจัยซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย นำโดยเจนนา แจมเบ็ค นักวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ได้สำรวจปริมาณขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นในโลก พบว่าประเทศที่สร้างขยะมากที่สุดในโลกคือ ประเทศจีน ในขณะที่ประเทศไทยขึ้นแท่นอยู่ที่อันดับ 7 ของโลก สร้างขยะสูงถึง 1 ล้านตัน และกลายมาเป็นขยะในท้องทะเล 0.41 ล้านตัน

          ตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และองค์กรภาคเอกชนต่าง ๆ ได้ร่วมจัดกิจกรรม “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา : เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ” ปีที่ 2 เก็บขยะ 10 จังหวัด เส้นทางจากปากน้ำโพ ถึงสมุทรปราการ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนทั่วไปได้หวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ อีกทั้งรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง ซึ่งได้รับความร่วมมือและสร้างความตื่นตัวในเรื่องได้เป็นอย่างดี

          ด้าน รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ พร้อมด้วยทีมวิจัยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แก่ ผศ.ดร.นิตย์ตะยา ผาสุขพันธุ์ และ อ.ดร.มนพร วงศ์สุนทรชัย ได้ทำการศึกษาเบื้องต้นการวิเคราะห์ไมโครพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยาในสัตว์น้ำ (ปลาและกุ้ง) ในการเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตบริเวณรอยต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและอ่าวไทย ในจังหวัดสมุทรปราการ (ปากอ่าวไทย) โดยตัวอย่างสัตว์น้ำที่นำมาศึกษาในครั้งนี้ มีจำนวน 4 ชนิดพันธุ์ คือ ปลาจวดแดง ปลาจวดคอม้า ปลาดุกทะเล และกุ้งแชบ๊วย โดยวิธีการวิเคราะห์ไมโครพลาสติกนี้เป็นการศึกษาตาม Guidelines for the monitoring and assessment of plastic litter in the ocean1 (GESAMP, 2019) และรายงานผลการศึกษาต่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ส่วนผลการวิจัยสมบูรณ์ จะนำเสนอในระยะต่อไป

          ผลการศึกษาเบื้องต้น “การวิเคราะห์ไมโครพลาสติกในแม่น้ำ” ในครั้งนี้ สามารถจะสรุปเบื้องต้นได้ว่า สามารถพบชิ้นส่วนที่คาดว่าจะเป็นไมโครพลาสติกส่วนใหญ่จะพบในปลามากกว่าในกุ้ง และพบว่าชิ้นส่วนเหล่านี้สะสมอยู่ในเครื่องในปลา ประมาณร้อยละ 74 ซึ่งมากกว่าในเนื้อปลา โดยชิ้นส่วนที่พบในเครื่องในปลานั้นจะพบชิ้นส่วนทุกรูปร่างคือ รูปร่างกลม รูปร่างเส้นใย ชิ้นส่วนไร้รูปแบบ และชิ้นส่วนไร้รูปแบบประเภทโฟม ส่วนในเนื้อปลาจะพบลักษณะเด่นคือรูปร่างเส้นใย สำหรับในกุ้งนั้นจะพบเป็นชิ้นส่วนไร้รูปแบบ (ร้อยละ 100) ซึ่งพบทั้งในเนื้อกุ้ง และเปลือกกุ้ง

          เมื่อวันอังคารที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.เสาวนีย์ หน่อแก้ว พร้อมด้วยตัวแทนเจ้าหน้าที่ และนักศึกษาคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรม "พายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ" กิจกรรมประกอบไปด้วยการคัดแยกขยะ ชั่งขยะ และให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ในการจัดการขยะอย่างถูกต้อง ณ วัดบางเดื่อ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชนในพื้นที่ และตอบโจทย์การทำจิตอาสาเพื่อประชาชนเป็นอย่างดี

          ด้าน รศ.ดร.สสิธร ย้ำชัดว่า กิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะกระตุ้นกระแสสังคมในการกันรณรงค์การเก็บขยะบริเวณแม่น้ำลำคลองแล้ว สร้างความตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของการอนุรักษ์แม่น้ำลำคลอง รวมถึงการให้ผู้บริหารระดับประเทศกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ มีมาตรการในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการในการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่และปัญหาขยะในแม่น้ำได้อย่างยั่งยืนต่อไป