Loading...

TU Hybrid Operating Room ห้องผ่าตัดอัจฉริยะที่มีประสิทธิภาพที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดตัวห้องผ่าตัดอัจฉริยะ TU Hybrid Operating Room ชนิด Biplane มีประสิทธิภาพที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2563

          รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วย ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผศ.นพ.ดิลก ตันทองทิพย์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวห้องผ่าตัดอัจฉริยะ Hybrid Operation Room ชนิด Biplane ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพที่สุดในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

          รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า ห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นที่แรกในอาเซียนที่มีการติดตั้งเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดคุณภาพสูง แบบ 2 ระนาบในห้องผ่าตัด ทำให้สามารถรักษาโรคหลอดเลือดที่มีความซับซ้อนและขดเคี้ยวได้ โดยเฉพาะหลอดเลือดสมองหรือโรคหลอดเลือดอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อนทางกายวิภาค อีกทั้งยังมีการติดตั้งเตียงผ่าตัด อุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกันทั้งหมดด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อสามารถรองรับการรักษาทั้งการผ่าตัดและการรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดในทุกส่วนของร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดไขสันหลัง หลอดเลือดช่องท้องและหัวใจ เป็นต้น

          ห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (TU Hybrid Operating Room) ได้มีการออกแบบเพื่อรองรับให้สามารถทำการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดได้ทุกประเภท โดยมีการออกแบบให้ห้องมีขนาดใหญ่มีที่ว่างสำหรับอุปกรณ์ผ่าตัดหลอดเลือด หลอดเลือดสมอง และการผ่าตัดหัวใจ เช่น กล้องผ่าตัดจุลทรรศน์ เครื่องผ่าตัดนำวิถี เครื่องปอดและหัวใจเทียม เป็นต้น อีกทั้งอุปกรณ์เครื่องเอกซเรย์หลอด เลือดคุณภาพสูง แบบ 2 ระนาบช่วยให้เห็นภาพเอกซเรย์ที่มีความคมชัดสูงถึง 16 บิท (มีรายละเอียดความแตก ต่างของสีเทาถึง 65,000 ระดับ) ในปริมาณรังสีที่ต่ำที่สุด และเห็นภาพ 2 ระนาบในครั้งเดียว หรือแม้แต่เป็นภาพ 4 มิติ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสารทึบรังสีที่น้อยที่สุด เครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดที่ติดตั้งในห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรตินั้นยังได้มีเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ระบบดิจิทัล เพื่อช่วยในการวิเคราะห์โรคหลอดเลือดต่าง ๆ เช่น ระบบวิเคราะห์หลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm analysis) ระบบการวัดปริมาณเลือดในเนื้อสมอง (Neuro parenchymal blood volume) การจำลองการใส่ขด ลวดค้ำยันในหลอดเลือด (Stent implantation) ระบบนำวิถีในการรักษาหลอดเลือดโป่งพองในช่อง ท้อง (EVAR guidance) และระบบนำวิถีในการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวนหลอดเลือด (TAVI guidance) เป็นต้น

          ห้องผ่าตัดไฮบริดโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เหมาะกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดทุกส่วนของร่ายกาย ซึ่งสามารถรักษาได้ทั้ง 3 แบบดังนี้ คือ

     1. การผ่าตัดโดยใช้ภาพถ่ายเอกซเรย์หลอดเลือดในการประเมินหลังการผ่าตัด

     2. การรักษาผ่านสายสวนหลอดเลือดซึ่งเป็นการรักษาที่ไม่ต้องมีแผลผ่าตัดใหญ่ และสามารถแก้ไข ภาวะแทรกซ้อนได้ทันทีในกรณีผู้ป่วยต้องการแก้ไขโดยการผ่าตัด

     3. การรักษาแบบผสมผสาน (combine treatment)

          ซึ่งประสิทธิภาพของการรักษาโดยใช้ห้องผ่าตัดไฮบริดที่เพิ่มขึ้นนั้น สามารถทำการประเมินการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดและแก้ไขได้ทันที ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สามารถเลือกวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและกระทบต่อร่างกายน้อยที่สุด ทำให้ระยะเวลาการผ่าตัดลดลง ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น ระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลสั้นลง เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาโรคหลอดเลือดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจในการพัฒนาการดูแลรักษาของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ