Loading...

ธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกเป็น Award Winner ประจำปี 2020 แห่งแรกในประเทศไทย จาก ISCN

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกเป็น Award Winner ประจำปี 2020 ด้าน Cultural Change for Sustainability จากการรณรงค์การใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ.2563

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเลือกจาก International Sustainable Campus Network (ISCN) หรือเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ ให้เป็น Award Winner ประจำปี 2020 ด้าน Cultural Change for Sustainability จากการรณรงค์สร้างวิถีชีวิตที่ปลอดจากการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง (No More Single Use Plastics) นับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยไทยได้รางวัลจาก ISCN อีกทั้งรางวัล Award Winners จะมีเพียงปีละ 4 ด้านรวม 4 รางวัลเท่านั้น

          รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า หนึ่งในนโยบายที่สำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน “Best Sustainable and Smart University” โดยมุ่งสู่ความมั่นคงและยั่งยืนด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย อีกทั้งยังให้ความสำคัญและใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม และคน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน” ซึ่งมหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และได้ริเริ่มโครงการลดใช้พลาสติกในหลากรูปแบบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยเริ่มแจกถุงผ้าให้กับนักศึกษาใหม่เพื่อเป็นทางเลือกแทนการรับถุงพลาสติกจากร้านสะดวกซื้อ ต่อเนื่องมาถึงปี พ.ศ. 2558 ได้เพิ่มมาตรการเพื่อมุ่งเน้นให้ลดการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งหลายชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติก ขวดน้ำ ช้อนส้อมพลาสติก และหลอดพลาสติก โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านค้าในมหาวิทยาลัยในการลดใช้ภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เปลี่ยนมาเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ง่ายแทน ผลลัพธ์คือเราสามารถลดขยะจากการใช้ครั้งเดียวทิ้งได้กว่า 30% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และนับเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของชาวธรรมศาสตร์ที่โครงการดังกล่าว ได้รับเลือกเป็น Award Winners ด้านการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสู่ความยั่งยืน จากเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติในปีนี้

          ด้าน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต กล่าวเสริมอีกว่า  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีประชากรโดยประมาณ 40,000 คน การเปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคนไม่ใช่เรื่องง่ายจึงต้องทำอย่างเข้าใจและตั้งใจ เรามีอัตราการใช้ถุงพลาสติกจากเฉพาะร้านสะดวกซื้อจากภายในมหาวิทยาลัยในปี 2559 มีการใช้ไปโดยประมาณ 6,500,000 ใบ และหลังจากได้ดำเนินโครงการ “ลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในร้านสะดวกซื้อ” (Say no to single-use plastic 2560) ปรากฎว่าในปี 2560 มีการใช้ถุงพลาสติกไปประมาณ 4,700,000 ใบ แต่ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ดังนั้น โครงการ “เลิกขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในร้านสะดวกซื้อ” (No more single-use plastic 2561) จึงเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการลงนามในสัญญาความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคเอกชน และสมาชิกเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันปรับปรุงและพัฒนาโครงการลดขยะพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งในร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศไทย ซึ่งความร่วมมือจากผู้ประกอบการร้านค้า  นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างความเปลี่ยนต่อวิถีชีวิตสู่การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และปลูกฝั่งค่านิยมในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้เพื่อลดปัญหาขยะล้นโลกในอนาคต

          นอกจากนี้ ธรรมศาสตร์ยังมีมาตรการอื่น ๆ ที่ส่งเสริมค่านิยมการเลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งอีกมากมาย อาทิ การใช้ระบบ “ถุงผ้าให้ยืม” การยกเลิกการขายน้ำดื่มขวดที่มีพลาสติกหุ้มฝาขวด (Cap seals) เลิกใช้ขวดพลาสติก  ยังมีการรณรงค์ใช้แก้วน้ำส่วนบุคคล หลอด อุปกรณ์ จาน ช้อน ส้อม หรือชาม ที่สามารถล้างแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่ ในการจัดประชุม อบรม และกิจกรรมพิเศษอื่น ๆ  ล่าสุด ธรรมศาสตร์ได้ริเริ่มโครงการร้านเติมเต็ม (Thammasat Refill Shoppe) ให้บริการแบบ Bulk Store คือผู้ใช้บริการจะต้องพกพาบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่สินค้ามาเอง ภายใต้เป้าหมาย Zero Waste ลดขยะให้เหลือศูนย์

          การสร้างความร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วนนั้นเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธรรมศาสตร์ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)” ที่มุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาที่ตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต ควบคู่กับการสร้างความมั่นคงและยั่งยืน ด้วยการบริหารจัดการที่ทันสมัย (Best Sustainable and Smart University) สร้าง “ความมีส่วนร่วม” ดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในทุกมิติ เชื่อมโยงวิถีชีวิตทุก ๆ คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแห่งนี้มากกว่า 40,000 คน ให้หันมาใส่ใจเรื่องการใช้ทรัพยากรแบบหมุนเวียน หรือ “Circular Living”  ปลูกจิตสำนึกแก่คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร  ได้ขับเคลื่อนการรณรงค์เรื่องนี้ร่วมกัน ส่งผลให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็น ‘โมเดล’ ที่ดีให้แก่ทุกภาคีในสังคมไทย รศ.เกศินี กล่าวทิ้งท้าย