Loading...

มองนโยบายเศรษฐกิจลดความเหลื่อมล้ำ-การแพทย์ระดับโลก ผ่านกีรตยาจารย์แห่งธรรมศาสตร์

เปิดเวทีปาฐกถาวิชาการของกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์-สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีที่ 85

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2562

  

            “กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” นับเป็นรางวัลอันทรงคุณค่าที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบให้ในทุกปี เพื่อเชิดชูเกียรติแห่งความเป็นครูผู้มีคุณธรรม ความรู้ความสามารถ เสียสละและยอมอุทิศตนให้แก่การสอน ควบคู่กับงานวิจัยและบริการทางวิชาการตอบแทนสังคม นับเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ทุกภาคส่วน

          งาน “วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบปีที่ 85” เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ได้มีการมอบรางวัลกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติให้แก่อาจารย์ 2 ท่าน ประกอบด้วย กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ได้แก่ ศ.ดร.อารยะ ปรีเมตตา จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้แก่ ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          เวทีปาฐกถาทางวิชาการ ศ.ดร.อารยะ ปรีชาเมตตา กีรตยาจารย์สาขาสังคมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ “ดุลยภาพที่เหลื่อมล้ำ” สะท้อนให้เห็นทิศทางของประเทศไทยในอนาคตที่มุ่งสู่ “ดุลยภาพที่ไม่มีเสถียรภาพ” โดยนำบทเรียนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบันมาเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้กำหนดนโยบายระวัง ไม่เช่นนั้นปัญหาความเหลื่อมล้ำมีแต่ขยายวงกว้างมากขึ้น

          “โลกแห่งเทคโนโลยีกำลังส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงประเทศ เกิดเป็นดุลยภาพใหม่ขึ้นมา แต่ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็จะตามมาเช่นเดียวกัน แล้วประเทศไทยจะไปทางไหน จะสร้างความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกับความเหลื่อมล้ำนี้อย่างไร”

          ศ.ดร.อารยะ มองว่า เรามีอุปสรรคในการแก้ปัญหาทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน อาทิ การปฏิวัติเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยผู้ควบคุมเทคโนโลยีมีอำนาจทางการตลาดสูงมาก ต้นทุนก็จะถูกลง จึงไม่แปลกที่สหรัฐฯประกาศสงครามการค้ากับหัวเหว่ย เพราะผู้ได้ประโยชน์จากการค้าเสรีก็คือจีน สงครามที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ควบคู่กับปัญหาราคาสินค้าเกษตรโลกตกต่ำ และการย้ายฐานการลงทุนไปยังคู่แข่งสำคัญคือเวียดนาม

          นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีปัญหา ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างเดิมในหลากหลายมิติ อาทิ เรื่องค่าจ้างแรงงาน ความยุติธรรม คมนาคม สาธารณสุข เพศสภาพ ถึงเวลาสังคมต้องจัดลำดับความสำคัญและหาทางออกเพื่อไม่ให้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

          “นโยบายรัฐบาลที่ประกาศจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นเรื่องดี แต่ก็ยากที่จะบรรลุผล ความเป็นไปได้คือทิ้งไว้ให้เหลือน้อยที่สุด ทำให้ความเหลื่อมล้ำในระบบลดลง” 

          ข้อเสนอ “การปฏิรูปภาษี” ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่รัฐบาลควรทำให้ผู้มีฐานะได้เปรียบทางสังคมหรือบริษัทเอกชน ซึ่งได้ประโยชน์จากทรัพยากรรัฐ เห็นความจำเป็นของการนำกำไรมากระจายความก้าวหน้าอย่างเป็นธรรมและเหมาะสม ให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เมื่อรัฐเก็บภาษีได้แล้วนำมาอุดหนุนช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจที่ไม่แข็งแรง ไม่ใช่มุ่งจะทำให้ฝ่ายหนึ่งต้องสูญเสีย (Zero-sum Game) เสมอไป

          “กรณีประเทศไทย ทุนใหญ่ได้เปรียบแค่ไหนสุดท้ายก็สู้ทุนต่างชาติที่คุมเทคโนโลยีไม่ได้ ดังนั้นเมื่อถึงจุดหนึ่งทุกคนจะเห็นร่วมกันว่า เราควรเสียภาษีมากขึ้นเหมือนช่วยกันดึงเส้นเชือกเพื่อให้ระบบนี้อยู่ได้”

          ด้าน.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ ทมทิตชงค์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปาฐกถาในหัวข้อ “การผสมผสานงานสอนเข้ากับงานวิจัยเพื่อใช้เปลี่ยนแปลงโลก” โดยให้ความสำคัญกับความรู้ที่ได้จากการทดลองวิจัย สร้างความก้าวหน้าทางการแพทย์ แม้ผลศึกษาที่ได้จะแตกต่างจากความเชื่อเดิม ๆ แต่ก็ต้องอาศัยหลักการทำให้สังคมยอมรับและก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ

          “งานวิจัยต้องพัฒนาให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกและขยายวงกว้าง เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางการรักษา ที่สำคัญคือต้องทำร่วมกับคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องอายุอย่างเดียว อาจเป็นคนรุ่นเดียวกันแต่มีความคิดทันสมัย จะทำให้งานวิจัยเกิดความยั่งยืน”

          ศ.ดร.นพ.ประกิตพันธุ์ ปัจจุบันเป็นรองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ส่วนตัวแล้ว งานวิจัยเป็นยิ่งกว่าชีวิต ผู้ร่วมงานเปรียบเสมือนครอบครัว ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาเชื้อแบคทีเรียว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารด้วย แต่ก็มีวิธีป้องกันดูแลและรักษาโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทีมวิจัยค้นพบคำตอบ “นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ทั่วโลก”

          ประสบการณ์และความสำเร็จที่ได้สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการสร้างเครือข่ายการวิจัย จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ เกิด “คอนเนคชัน” ที่ดี และส่งต่อความรู้กันทั้งในและต่างประเทศ

          ปัจจุบัน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ มีคนไข้ปีละกว่า 1 ล้านคน และมีแพทย์ผ่าตัดที่เป็นคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาการทำงานร่วมกันเป็นทีม การเก็บข้อมูลคนไข้ การวิจัยติดตามผล การทดลองใหม่ ๆ การแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างแดน และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          มุมมองที่กลั่นกรองจากประสบการณ์ของ 2 กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือต้นแบบ...เป็นเบ้าหลอมให้คนรุ่นใหม่และสังคมไทยได้จุดประกายความคิดดีๆ และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยองค์ความรู้อย่างแท้จริง