Loading...

นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลระดับเอเชีย International Humanitarian Law Moot 2020

 

นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง การแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก International Humanitarian Law Moot 2020

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ.2563

  

          คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยและประเทศไทยอีกครั้ง โดยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งในการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก International Humanitarian Law Moot (2020) ซึ่งเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์ทีมมูทคอร์ทชาติไทย โดยได้รับถ้วยรางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัลจำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ

          การแข่งขัน International Humanitarian Law Moot (2020) เป็นการแข่งขันการว่าความศาลจำลองในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ จัดโดยคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศประจำเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม ถึง 27 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจำนวน 23 ทีม จาก 20 ประเทศ โดยมีตัวแทนประเทศไทยจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นางสาวรวลิน สัจจเดช นางสาวสุพิชญา พูลลาภ และนางสาวพราวรวี มัญชุศรี นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) (LLB) ชั้นปีที่ 2

          นางสาวพราวรวี มัญชุศรี เปิดเผยว่า เพื่อนทั้งสองได้ชวนให้ไปเป็น Researcher ในวินาทีสุดท้ายก่อนที่จะปิดรับสมัคร หลังจากนั้นพวกเราจึงได้เขียน Memorial เตรียมสคริปต์ ซ้อมการพูด เพื่อแข่งขันในระดับประเทศและนานาชาติ แต่เนื่องจากขณะนั้นพวกเราไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย หรือ Moot Court มาก่อน เพราะพวกเราเพิ่งเข้าศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ ได้เพียงสองสัปดาห์ พวกเราเลยต้องปรึกษากับรุ่นพี่ที่เคยแข่งขันรายการนี้ในปีก่อน ๆ ว่ามีวิธีการแข่งขัน แนวทาง และแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการเขียน Memorial อย่างไรบ้าง

          นางสาวรวลิน สัจจเดช กล่าวเสริมว่า พวกเราได้ฝึกซ้อมการแข่งขัน Moot Court ทุกวัน และแบ่งเวลาพักผ่อนกับเวลาซ้อมให้เหมาะสม ในเวลาที่พวกเราคิดงานไม่ออกก็จะหาอย่างอื่นทำเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เมื่อกลับมาฝึกซ้อมการแข่งขันต่อจะได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ก่อนหน้านี้พวกเราไม่คิดว่าจะไปได้ไกลถึงจุดที่ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ พวกเราจึงมองว่าการได้รางวัลเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ได้รับจากการแข่งขัน แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดคือ มิตรภาพและแรงบันดาลใจที่รับจากอาจารย์ รุ่นพี่ และเพื่อน ๆ ที่คอยให้กำลังใจ ซึ่งสำหรับพวกเราแล้วมันเป็นมากกว่าการแข่งขัน เพราะมันคือความทรงจำที่ดีที่สุดที่ได้รับระหว่างทาง นางสาวสุพิชญา พูลลาภ กล่าวปิดท้าย

          การแข่งขันในครั้งนี้ จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 โดยรอบแรก (Preliminary Round) ทีมนักศึกษาธรรมศาสตร์ตัวแทนประเทศไทยได้เขียน memorial จำนวน 8,000 คำ โดยมีโจทย์การแข่งขันเกี่ยวกับข้อหาทางกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ 3 ข้อหา ได้แก่ 1. การกระทำอันฝ่าฝืนกฎหมายสงครามอย่างร้ายแรงโดยการทำลายหรือเข้ายึดทรัพย์สินของศัตรู 2. การกระทำอันฝ่าฝืนกฎหมายสงครามอย่างร้ายแรงโดยการเจตนาโจมตีโดยทราบก่อนว่าการโจมตีนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของพลเรือน และ 3. การก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติโดยการจับผู้คนไปเป็นทาส ซึ่ง 3 ข้อหานี้ เกิดจากความขัดแย้งในการแย่งชิงแหล่งน้ำมันของสองอาณาจักรสมมติในโจทย์ ส่วนในการแข่งขันรอบ 4 ทีมสุดท้าย ทีมนักศึกษาธรรมศาสตร์ ได้แข่งขันกับทีมตัวแทนจากประเทศอินเดีย โดยการเขียนโต้ฝั่งตรงข้าม (response) จำนวน 1,000 คำ ภายในเวลา 48 ชั่วโมง