Loading...

อย่าเหมาว่าเราเป็นซึมเศร้า! เพียงแค่ทำแบบทดสอบออนไลน์

คุณเคยทำแบบทดสอบหรือประเมินตนเองเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าบ้างหรือไม่? อาจารย์บุรชัย อัศวทวีบุญ จะมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงโรคซึมเศร้ากับสื่อออนไลน์ด้วย

วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ.2562

  

          คุณเคยทำแบบทดสอบหรือประเมินตนเองเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าบ้างหรือไม่? เชื่อเลยว่าต้องมีหลายคนแน่ ๆ ที่เคยเข้าไปทำแบบประเมินเรื่องนี้ แต่เดี๋ยวก่อน! เห็นผลคะแนนออกมาสูงโดดอย่าเพิ่งตกใจ มันเป็นเพียงแค่แบบคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น โดย อาจารย์บุรชัย อัศวทวีบุญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนักศึกษา และอาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ รวมถึงโรคซึมเศร้ากับสื่อออนไลน์ที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในปัจจุบันด้วย

แบบประเมินใช้คัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น

          แบบทดสอบประเมินว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ เป็นเพียงแค่การคัดกรองเบื้องต้น แต่ไม่ใช่แบบที่วินิจฉัยว่าเราเป็นอะไร ซึ่งแบบทดสอบนี้มีหลายระดับ แต่โดยปกติที่เผยแพร่ทั่วไปจะเป็นแบบคัดกรอง เพราะฉะนั้น ถ้าใครได้ลองประเมินแล้วได้ผลออกมาว่าเราอยู่ในระดับแย่ สิ่งที่ควรทำคือปรึกษากับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา หรือผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ ส่วนตัวแล้วผมเคยเจอคนที่ทำแบบทดสอบแล้วผลออกมาในระดับสูงสุด แต่พอได้มาคุยกันแล้วก็ทำให้รู้ว่าการใช้ชีวิตของเขามันเป็นปกติ แต่พื้นฐานความคิดของเขานั้นค่อนข้างแย่ ซึ่งมันเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว มันอาจจะไม่มีความสุขเป็นบางครั้ง ไม่ใช่ไม่มีเลย ทางที่ดีควรไปปรึกษาแพทย์จะแน่นอนที่สุด

          "ผมมองว่ามันเป็นแบบคัดกรองเบื้องต้นของโรคซึมเศร้าเบื้องต้น ไม่ได้แปลว่าเราเป็นเลย เป็นเพราะเราตีตราตัวเราเองว่าเราเป็นซึมเศร้า แท้จริงแล้วมันเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์" อาจารย์บุรชัย กล่าว

โลกออนไลน์กับโรคซึมเศร้า

          ผมมองว่าสื่อออนไลน์มันมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย ข้อดี คือ ทำให้เราได้ตระหนักถึงภัยของโรคซึมเศร้า เข้าถึงข้อมูลต่างๆได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น ซึ่งทันทีที่เราได้ข้อมูลเรื่องดังกล่าวมาแล้ว หากเราขาดความตระหนักรู้ เช่น การที่เราอ่านเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า แล้วบังเอิญว่าเราไปตรงเกณฑ์บางอย่างก็ไม่ได้แปลว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป ซึ่งความรู้เราอาจไม่ได้มากพอ เราก็มักด่วนสรุปไปก่อนว่าเราเป็น

          ส่วนข้อเสียนั้น สำหรับคนมีอาการของโรคซึมเศร้า เวลาที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร เช่น คนที่เป็นซึมเศร้าฆ่าตัวตาย มันอาจยิ่งกระตุ้นเขามากขึ้น หลายคนเชื่อว่ามันเป็นการเลียนแบบถ้าเสพสื่อแบบนี้เยอะ แต่สำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องของการเลียนแบบ พฤติกรรมแบบเดียวกัน อาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันก็ได้ แต่เมื่อเสพสื่อมากเข้า จะถูกกระตุ้นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว คือ เขามีความรู้สึกว่าไม่อยากอยู่เป็นตัวตั้งต้นอยู่แล้ว แต่มันถูกกระตุ้นให้ทำอะไรบางอย่าง ผมเคยเจอเคสที่เพื่อนเป็นโรคซึมเศร้า แล้วเพื่อนเพิ่งตัดสินใจฆ่าตัวตาย ตัวเขาเองเขาก็รู้สึกว่าอยากจะทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้หมายถึงทำเลียนแบบเพื่อน แต่การตัดสินใจของเพื่อนมันไปกระตุ้นเขาให้รู้สึกไม่อยากอยู่ จรรยาบรรณของสื่อที่นำเสนอเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน และข้อเสียอีกอย่างคือ เราไม่รู้ว่าเมื่อไรใครจะถูกกระตุ้นแบบไหน สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมคือ การรับข่าวสารในปริมาณมากที่ค่อนข้างลบ อาจเป็นเหตุให้เกิดการสะสมของความรู้สึกไม่อยากอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว มันสร้างรู้สึกแย่ๆ  ให้แม้แต่คนที่ไม่ได้เป็นซึมเศร้า แต่หลายครั้งการฆ่าตัวตายของคนที่เป็นซึมเศร้าอาจไม่ได้มาจากการกระตุ้นเรื่องการฆ่าตัวตายของสื่อก็ได้ จะโทษสื่อทั้งหมดคงไม่ได้

ความคิดเห็นเชิงลบในโลกออนไลน์กระตุ้นให้คนที่เป็นซึมเศร้าดิ่งไปในอารมณ์ลบ

          คนซึมเศร้าผมมองตั้งแต่ต้นแล้วว่ามันคือ "อารมณ์ทางลบ" เราไม่มีความสุขกับมัน แต่เวลาที่เรามีอารมณ์แบบไหน เราจะเปิดรับข้อมูลแบบเดียวกัน พอเราอารมณ์ทางลบแล้วไปอ่านข้อมูลการแสดงความคิดเห็นสื่อออนไลน์ในเชิงลบอีก ถึงแม้ตัวเราตอนนี้เราเป็นคนมีความสุขดี แต่พอเราเสพความคิดเห็นต่าง ๆ หรือข่าวแล้วมันเป็นไปในเชิงลบทั้งหมด ตัวเรามันก็จะถูกกระตุ้นด้วยความลบ มันจะกดตัวเรา หลายคนใช้คำว่า "เหมือนมันดิ่ง" ดิ่งไปในอารมณ์ลบ หรือมันจมไปกับอารมณ์นั้น แล้วมันถอนตัวออกมาไม่ได้ ถ้าเราเสพสิ่งนั้นมากในอารมณ์ลบ มันก็ยิ่งทำให้เราแย่ อาการก็จะหนักขึ้น มันเหนี่ยวนำความรู้สึกเดียวกัน เราเปิดรับสิ่งที่ตรงกับตัวเราได้ง่าย เหมือนตอนนี้เรามีความสุขดี เรื่องราวที่มีความสุขมันก็เข้าถึงเราง่าย แต่ถ้าเรารู้สึกแย่ เราก็จะเปิดรับเรื่องแย่ได้ง่าย คนที่เป็นซึมเศร้าจะเลือกใส่ใจสิ่งที่เป็นด้านลบอยู่แล้ว คำแนะนำสำหรับคนที่เป็นซึมเศร้า คือ ต้องอย่าไปเสพความคิดเห็นหรือข่าวในเชิงลบเยอะ เพราะถ้าเสพเยอะมันจะกระตุ้นตัวเราเอง

คำแนะนำเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้า

          นอกจากเรื่องของการไม่เสพความคิดเห็นในเชิงลบแล้ว ต้องรู้จักเลือกที่จะใส่ใจในสิ่งที่มันเป็นบวกบ้าง ข้อดีอีกอย่างของสื่อออนไลน์ อาจจะเป็นเรื่องของการได้ระบายความรู้สึก และการรับความคิดเห็นสนับสนุนหรือได้รับกำลังใจจากคนรอบข้าง ซึ่งผมมองว่าสำคัญมากในการให้คนที่เป็นซึมเศร้าได้รับรู้มุมมองอื่นนอกจากสิ่งที่ตนเองคิด เพราะกระบวนการคิดของเขาจะทำงานได้น้อยลง อารมณ์มีแรงเพิ่มมากขึ้น อารมณ์ที่ลบทำให้มองเหตุการณ์ต่าง ๆ แย่ไปหมด การได้ตรวจสอบสิ่งที่ตนเองคิด สิ่งที่ตนเองรู้สึกกับคนรอบข้างจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพียงแต่คนที่เป็นซึมเศร้าส่วนใหญ่จะแชร์ข้อมูลได้น้อยลง สื่อออนไลน์ก็อาจเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้สื่อสารกับคนอื่นมากขึ้นได้ แต่ก็ต้องระวังเพราะเนื้อหาด้านลบมันเยอะจริง ๆ

          หากยกตัวอย่างกรณีที่ทำให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น คนที่เป็นซึมเศร้าหลังคลอด หรือซึมเศร้าก่อนมีประจำเดือน ซึ่งความรู้สึกลบเป็นผลจากโรคโดยตรง ปกติคนเหล่านี้อาจจะมีชีวิตที่สดใส แต่พอเป็นโรค ความสุขในชีวิตหายไปไหนไม่รู้ พยายามจะคิดบวกก็คิดไม่ได้ อยู่ดีดีน้ำตาก็ไหล ก็ต้องให้ยอมรับตนเองก่อนว่าไม่สบาย ไปหาหมอ ซึ่งกรณีนี้ต้องหาหมอเพราะเป็นผลจากการทำงานของร่างกายที่เปลี่ยนไปโดยตรง หลังจากนั้นพยายามทำตามกิจวัตรประจำวันที่ทำประจำ แม้ว่าอารมณ์จะบอกเราว่าไม่อยากทำ ก็ต้องทำตามแผนไม่ทำตามอารมณ์ หาเพื่อนสนิทมาคอยดึงเรา ให้ออกไปทำงานไปเรียนตามปกติ ออกกำลังกาย สื่อสารกับคนอื่นให้มากขึ้น หากต้องกินยา ก็กินให้ครบตามที่แพทย์สั่งยาให้ ไม่ใช่กินแล้วดีขึ้นก็หยุดทันที สุดท้ายคือติดเบอร์ฉุกเฉินไว้หลาย ๆ เบอร์ เมื่อรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ให้โทรทันที ถ้าติดต่อไม่ได้ให้รอการติดต่อกลับ บางครั้งเบอร์ฉุกเฉินเวลาฉุกเฉินมันจะใช้ไม่ค่อยได้ ก็หาคนใกล้ ๆ มาอยู่ด้วยก่อน

สำหรับนักศึกษาธรรมศาสตร์เท่านั้นที่สามารถปรึกษาได้