Loading...

ทำความเข้าใจ “โรคซึมเศร้า” ในมุมของนักจิตวิทยา

หลายต่อหลายครั้งที่เราพบเจอกับข่าวสลดจากภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า เราเลยจะไปพูดคุยกับนักจิตวิทยาที่จะมาช่วยให้เราเข้าใจที่มาของโรคซึมเศร้าได้ชัดเจนขึ้น

วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562

  

          หลายต่อหลายครั้งที่เราพบเจอกับข่าวสลดจากภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า หากมองย้อนมาที่ตัวเราเอง เรามีความรู้มากพอกับโรคนี้แล้วหรือยัง วันนี้เราไปพูดคุยกับ อาจารย์บุรชัย อัศวทวีบุญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนักศึกษา และอาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะมาช่วยให้เราเข้าใจที่มาของโรคซึมเศร้าในมุมของนักจิตวิทยาดีขึ้น

ปัจจัยพื้นฐานที่ใช้ทำความเข้าใจคน

          เวลาเรามองโรคทางจิตเวช เรามักจะมองใน 3 ปัจจัยใหญ่ ได้แก่ 1.) ปัจจัยทางชีวภาพ คือเรื่องของพันธุกรรม สารสื่อประสาทในสมอง เช่น คนเป็นโรคซึมเศร้า เขาอาจมียีน (Gene) บางตัวที่ทำให้มีความเซนซิทีฟ (Sensitive) มากกว่าคนอื่น หรือมีสารสื่อประสาทในสมองที่ผิดปกติกว่าคนทั่วไป 2.) ปัจจัยทางจิตวิทยา คือเรื่องของบุคลิกภาพ การปรับตัว หรือการรับรู้การมองโลกของคน เช่น แต่ละคนจะมีการตีความเหตุการณ์เดียวกันที่แตกต่างกัน เวลาแต่ละคนตีความแตกต่างกันก็จะส่งผลต่างกัน 3.) สังคมที่อาศัยอยู่ หรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตัวกระตุ้น หรือสร้างการรับรู้ให้คิดไปในแง่มุมไหน โดยทุกโรคนั้น เราสามารถมองด้วย 3 ปัจจัยดังกล่าวได้ ไม่ใช่เพียงแค่โรคซึมเศร้าอย่างเดียวเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็น "ปัจจัยพื้นฐานที่เอาไว้ทำความเข้าใจคน" ก็ว่าได้

อาการของโรคซึมเศร้าแบบเข้าใจง่าย

          อธิบายง่าย ๆ "ซึมเศร้า" อารมณ์มันจะเศร้า มีอารมณ์ทางลบเกิดขึ้น พอมีอารมณ์ทางลบมันก็จะไม่ค่อยมีความสุข พอไม่มีความสุขมันก็ส่งผลหลายอย่าง เช่น เริ่มไม่ค่อยสนใจสิ่งรอบตัว สิ่งไหนที่เขาเคยมีความสุขกับมัน ก็จะเริ่มไม่ค่อยมีความสุขกับมันแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีเรื่องอื่นตามมา เช่น ความวิตกกังวลที่มากเกินไป ทำให้ขาดสมาธิ และไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ ท้ายสุดก็จะเริ่มไม่อยากเข้าสังคม ไม่อยากอยู่กับใคร รู้สึกว่าตัวเองแย่ อยู่ในอารมณ์ที่ไม่อยากคุยกับใคร พอถอยห่างจากคนอื่นไปเรื่อย ๆ มันก็จะมีอาการที่ว่าตัวเองไร้ค่า พัฒนาไปสู่ความสิ้นหวัง นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการกินที่ผิดปกติ ในบางครั้งเราจะพบว่ากินน้อยลง หรือกินเยอะขึ้น หรือการนอนไม่หลับ นอนหลับยากขึ้น หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ มันก็เป็นอาการของซึมเศร้าด้วย ซึ่งถ้าพบกว่าตนเองมีอาการต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์ แต่ถ้ามีเหตุการณ์ ณ ขณะนั้น เช่น คนรักเสียชีวิต ซึ่งผมมองว่าคนเราเศร้าได้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเศร้าแล้วเสียฟังก์ชันของชีวิต อาจต้องขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

โรคทางกายกับโรคทางใจมันมีอะไรที่เหมือนกันอยู่

          เปรียบเทียบง่าย ๆ ถ้าเราเป็นหวัดเราหายขาดจากหวัดได้หรือไม่? ถ้าร่างกายเราอ่อนแอ เราก็เป็นโรคทางกายได้ ซึ่งซึมเศร้ามันเป็นโรคทางใจ บางครั้งด้วยหลาย ๆ ปัจจัย อาจจะทำให้เรากลายเป็นโรคทางใจได้ เมื่อเป็นซึมเศร้า เมื่อทานยาก็อาจทำให้รู้สึกดีขึ้น หรือบางครั้งเมื่อระยะเวลาผ่านไป เราเปลี่ยนกระบวนการคิด อาการมันก็อาจจะดีขึ้น และเมื่อเราหายแล้ว ประกอบกับระยะเวลาผ่านไปนาน ๆ มันไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าเราจะเจอเหตุการณ์รุนแรงหรืออะไรบางอย่างมากระตุ้นให้เรากลับไปเป็นอาการนั้นซ้ำอีกหรือไม่ เพราะฉะนั้นมันตอบยากว่าหายขาด  แต่ใช้คำว่ามันหายได้ เราใช้ชีวิตปกติได้ แต่เราไม่อาจรู้ได้ว่าในอนาคตมันจะมีเหตุการณ์ไหนที่เรารับมือกับมันไม่ได้หรือเปล่า เพราะมันมีโอกาสเป็นอีกเหมือนโรคหวัด

          แต่ถ้าบางอย่างมันไม่ได้มาจากร่างกาย แต่มันมาจากระบบการคิดของเรา การเปลี่ยนความคิดก็อาจจะตรงกว่า หรือมาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมก็อาจจะตรงกว่า ดังนั้นเราเลยต้องหาว่าอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญ

คำแนะนำสำหรับคนที่อยู่กับคนเป็นซึมเศร้า

          ที่ผมเจอพบบ่อย คือ พอเพื่อนเป็นซึมเศร้า แล้วเราไปดูแลเพื่อน เราอาจจะเป็นซึมเศร้าตาม ตามความเป็นจริง ผมใช้ว่าคนทั่วไป พอรู้ว่าอีกคนเป็นโรคซึมเศร้าก็จะปฏิบัติตัวไม่ถูก ไม่รู้จะพูดอย่างไร เอาตัวเองไปอยู่ตรงไหน ซึ่งเราควรปฏิบัติตัวตามปกติ เพื่อไม่ให้มันเกร็งไป แต่ให้เราระวังเรื่องคำพูดเวลาจะว่าอะไร คิดสักนิดว่าคำพูดนี้รุนแรงหรือไม่ เวลาไม่ดีเราสามารถบอกได้นะว่าแบบนี้มันไม่โอเค แต่อย่าไปว่าว่าทำไมเป็นคนแบบนี้ สามารถพูดในสิ่งที่เป็นหลักฐานที่เรามองเห็นได้ ไม่ใช่การโจมตีตัวเขาโดยตรง เพราะโดยสึก ๆ แล้วคนที่เป็นซึมเศร้า เขาจะโทษตัวเขาเองอยู่แล้ว และในท้ายที่สุด คนเป็นโรคซึมเศร้า หรือเป็นโรคอื่น ๆ ก็ต้องปรับตัวเข้าหาสังคม

           โดย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังมีศูนย์บริการทางจิตวิทยาและการปรึกษา หรือ TCAPS Center ซึ่งอยู่ในภาควิชาจิตวิทยา ให้บริการการปรึกษา/บำบัดทางจิตวิทยา การตรวจประเมิน การฝึกอบรมให้ความรู้ การวางแผนด้านอาชีพ ฯลฯ ในรูปแบบส่วนบุคคล แบบกลุ่ม แบบเป็นคู่ หรือครอบครัว ให้บริการโดยนักศึกษาฝึกงานระดับปริญญาโท โดยมีอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเป็นที่ปรึกษา โดยขณะนี้เปิดให้บริการเฉพาะนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น