Loading...

MBA ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลลำดับที่ 3 การแข่งขัน OpsSimCom 2019

 

MBA ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลลำดับที่ 3 การแข่งขัน OpsSimCom 2019

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2562

  

          ทีม TBStbk นักศึกษาปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TBS) คว้ารางวัลลำดับ 3 ได้รับเงินรางวัล $1,000 จากการแข่งขัน MIT Sloan’s 15th Annual Operations Simulation Competition 2019 (OpsSimCom 2019) จัดขึ้นโดย MIT Sloan School of Management ซึ่งมีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 90 ทีม จาก 30 มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก อาทิ Nanyang Technological University, University of California – Berkeley, Yale School of Management และ Massachusetts Institute of Technology เป็นต้น โดยสมาชิกในทีม TBStbk ประกอบด้วย นายสืบวิศว์ สาทรสัมฤทธ์ผล (บุ้ค) นายศุภพัฒน์ นิลอนันต์ (ไตเติ้ล) และนายจิรายุส จินตนาศานติ์ (กฤษณ์) ซึ่งในปี 2019 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 4 ทีม

         OpsSimCom 2019 เป็นการแข่งขันด้านการบริหารปฏิบัติการ โดยใช้เกมจำลองบริหารโรงงาน Littlefield Technology ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท Responsive Technologies ผู้เข้าแข่งขันในแต่ละทีมจะถูกสมมติว่าเป็นผู้จัดการโรงงานที่จะต้องบริหารกิจการให้สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าที่มีความผันผวนสูง โดยอาศัยความรู้จากการศึกษาในหลักสูตร เช่น การพยากรณ์ยอดขาย การวางแผนกำลังการผลิต การจัดลำดับงาน การบริหารแถวคอย การจัดการสินค้าคงคลัง และตัดสินใจรับคำสั่งซื้อที่เหมาะสมที่สุดจากลูกค้าเพื่อให้ได้รายได้สูงที่สุด ผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้คือผู้ที่มีเงินสดสูงสุดจากการบริหารโรงงานในช่วงเวลา 48 ชั่วโมง (2 วัน) ในการแข่งขัน และมีรางวัลสำหรับผู้ที่ได้ลำดับ 1 – 3

          เกมจำลอง Littlefield Technology นี้ พัฒนาโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย Stanford คือ Sunil Kumar และ Samuel Wood เพื่อใช้ในการเรียนการสอนในขณะนั้นและในปัจจุบัน เกมนี้ได้แพร่หลายไปยังหลักสูตรบริหารธุรกิจชั้นนำของโลกมากมาย ส่วน MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้ใช้เกมนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร โดยจัดการสอนในรายวิชา การจัดการปฏิบัติการ (Operations Management) มาตั้งแต่ปี 2552

เตรียมตัวก่อนแข่งขันอย่างไร

          กฤษณ์: ก่อนการแข่งขัน สมาชิกในทีมจะมีการปรึกษาพูดคุยเกี่ยวกับวิธีการเล่น และมีการวางแผนว่าใครจะเป็นคนคำนวณ ใครจะเป็นคนปรับค่า Parameters ต่าง ๆ ในเกม หรือใครจะเฝ้าโรงงานในช่วงไหน แต่สุดท้ายก็จะมีการช่วยกันดู และตัดสินใจร่วมกันในทีม โดยนำความรู้ในรายวิชา Operation Management (การจัดการปฏิบัติการ) มาปรับใช้ในส่วนต่าง ๆ ของการแข่งขัน เช่น การเตรียมรับมือกับความต้องการของลูกค้าที่มีความผันผวนสูงโดยใช้ Demand Forecasting การวางแผนสินค้าคงคลัง โดยใช้ขนาดการสั่งซื้อที่ประหยัด คำนวณจุดสั่งซื้อสินค้า และการคิดเปรียบเทียบทางเลือกต่าง ๆ ในการแข่งขันเพื่อให้ได้กำไรสูงที่สุด

เกมจำลองบริหารโรงงานเล่นอย่างไร

          ไตเติ้ล: ก่อนการแข่งขัน 1 วัน กรรมการจะส่งโจทย์ที่ใช้แข่งขันให้กับทุกทีม โดยในช่วงเวลา 1 วันจะเป็นเวลาที่เราวางแผน และคาดการณ์เหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมทั้งวิธีรับมือให้ได้ครอบคลุมที่สุด เพราะตอนเล่นจริงการตัดสินใจช้าไปนาทีเดียวก็มีความหมาย และก่อนเริ่มเกม 1 ชั่วโมง กรรมการจะเปิดให้เราเข้าไปดูสถานการณ์ตอนเริ่มเกมเพื่อเตรียมตัวเล่นจริง ซึ่งเราต้องสรุปให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมงนี้ว่าเราจะเล่นยังไง ตอนเล่นจริงก็จะเป็นการทำตามแผนที่วางไว้ ปรับตัวตามสถานการณ์และสังเกตทีมอื่นเพื่อวัดผลว่าวิธีที่เราทำอยู่นั้นถูกหรือไม่ หลังจากนั้นเมื่อผ่านไปสองวันเกมก็จะจบ และทีมที่มียอดเงินคงเหลือมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

เจอปัญหาและอุปสรรคในการแข่งขันบ้างหรือไม่

          บุ้ค: ในระหว่างการแข่งขัน ก็จะมีอุปสรรคต่าง ๆ เช่น ตอนเริ่มเกม จำนวนเครื่องจักร เงิน ที่ให้มาไม่ตรงตามแผนที่คิดไว้ ก็รีบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งการสั่งซื้อเครื่องจักร Inventory ต่าง ๆ และในท้ายเกมซึ่งเป็นจุดตัดสินว่าจะได้ลำดับที่เท่าไหร่ จะมีเรื่องของสินค้าคงคลัง ซึ่งมี Lead Time ในการสั่งนานมาก จึงต้องสั่งให้พอดีที่สุด แต่ความต้องการที่ผันผวนสูง จึงทำให้ในตอนท้ายเกมก็มีปัญหาเรื่องของ Inventory ไม่เพียงพอ

คิดว่าสิ่งใดที่ทำให้ทีมคว้ารางวัลนี้มาได้

          กฤษณ์: สิ่งที่ทำให้ได้รางวัลนี้มาคือ “ความร่วมมือของสมาชิกในทีม” เพราะต้องใช้ความรู้ความสามารถที่หลากหลายและการวางแผน วางกลยุทธ์ต่าง ๆ หาจุดผิดพลาด แต่ละคนก็จะช่วย cross-check ซึ่งกันและกันเพื่อลดความผิดพลาด โดยทีมของเราตั้งขึ้นโดยเลือกจากคนที่สนิทกันอยู่แล้ว ทำให้รู้ดีว่าใครถนัดอะไร และทำให้ทุกคนสามารถออกความเห็นได้อย่างเต็มที่

          บุ้ค: การทำงานร่วมกันเป็นทีม การนำความรู้จากในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในการแข่งขันด้วยเช่นกันที่ทำให้ทีมคว้ารางวัลมาได้ นอกจากนี้ ยังได้รู้จักเพื่อน ๆ เพิ่มมากขึ้น และได้รู้ถึงความผันผวนความต้องการของลูกค้า ว่าจริง ๆ แล้ว อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่คาดคิดไว้เสมอ

          โดย “บุ้ค” กล่าวทิ้งท้ายว่า การแข่งครั้งนี้มีความท้าทาย ซึ่งทำให้เราได้พัฒนาความสามารถ ทำให้เราได้เห็นจุดอ่อนของตัวเองในเรื่องของการบริหาร Safety Stock ซึ่งเราจะนำไปปรับปรุงในการทำงาน และในส่วนของปีหน้าถ้ามีโอกาสก็อาจจะรวมทีมกันแล้วคว้าที่ 1 มาให้ได้ และขอขอบคุณทุกคนที่เป็นกำลังใจให้กับทีม TBSbtk ในการแข่งขันครั้งนี้