Loading...

‘สหวิชาชีพ’ ธรรมศาสตร์ สร้างนวัตกรรมใหม่ ‘ดวงตาประดิษฐ์ จาก 3D Printer’

จักษุแพทย์ ทันตแพทย์ และวิศวกร ธรรมศาสตร์ รวมตัวสร้างนวัตกรรม ‘ดวงตาประดิษฐ์ ผ่าน 3D Printer’ มีความคล้ายตาจริง และได้รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีเด่น 2563

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ.2563

  

          หลายคนบอกว่า ‘ดวงตา’ เป็นหน้าต่างของหัวใจ... แต่ ‘ดวงตา’ มีความสำคัญมากกว่านั้น เพียงแค่เราตื่นขึ้นมาก็ต้องลืมตาก่อนแล้ว เพื่อลุกออกจากเตียงนอนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ‘ดวงตา’ จึงมีความสำคัญ เพราะช่วยในการมองเห็น และช่วยให้มนุษย์รับรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

          แต่สำหรับผู้ที่สูญเสียดวงตา เช่น ผู้พิการแต่กำเนิด หรือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุ นอกจากพวกเขาจะมองไม่เห็น ก็ยังเกิดปัญหาในเรื่องของภาพลักษณ์ของตัวบุคคล การเข้าสังคม รวมถึงโอกาสต่าง ๆ ในสังคม  

          ที่ ‘ศูนย์ดวงตาประดิษฐ์’ ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ริเริ่มโครงการทำตาปลอมให้กับผู้สูญเสียดวงตา โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด อันเป็นนโยบายของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและบริหาร และเป็นรักษาการแทนคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2558 ด้วยทุนเริ่มต้นจากธนาคารกรุงเทพ จำนวน 600,000 บาท ร่วมกับการสนับสนุนจาก ศ.ทพ.ดร.​สิทธิ​ชัย​ ขุนทองแก้ว​ และ รศ.พญ.คุณหญิง​อัมพร​ สุคนธมาน โดยปัจจุบันศูนย์ดวงตาประดิษฐ์ยังคงให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเรื่อยมา

          “ปัจจุบันศูนย์ดวงตาประดิษฐ์ ได้นำ ‘สหวิชาชีพ’ คือ จักษุแพทย์ ทันตแพทย์ และวิศวกร มาปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่คือ ‘ดวงตาประดิษฐ์ ผ่าน 3D Printer’ ที่มีความคล้ายกับตาจริงอีกข้างและประหยัดเวลา เนื่องจากการทำตาปลอมถาวรจะต้องใช้เวลาในการทำค่อนข้างนาน เพราะต้องวาดตาขาวตาดำให้เหมือนกับตาอีกข้างที่เหลืออยู่” ศ.วุฒิคุณ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

          การทำ ‘ดวงตาประดิษฐ์’ จะใช้วัสดุเดียวกับการทำฟันปลอมและนำมาหล่อขึ้นรูป​และปรับแต่งเป็นตาขาว พร้อมทั้งสร้างส่วนของตาดำ จึงต้องให้ทันตแพทย์เข้ามาดูแล ส่วนจักษุแพทย์ จะเป็นผู้ประเมินว่าดวงตานี้ต้องใช้ตาปลอมอย่างไร ในขณะที่วิศวกร จะเป็นผู้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้คือ การใช้ 3D Printer โดยเริ่มจากการสแกนดวงตาข้างจริง เพราะสีของตาดำและลักษณะเส้นเลือดบริเวณตาขาวของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่ง 3D Printer นี้จะสามารถปรับให้สีใกล้เคียงตาจริงได้ หลังจากนั้นจะผลิตดวงตาประดิษฐ์ขึ้นมา เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็จะได้ดวงตาประดิษฐ์ให้ผู้ป่วยนำไปใช้ในระหว่างที่รอตาปลอมถาวรได้ ซึ่งแพทย์จะไม่ได้ทำตาปลอมด้วยเทคนิค​ 3D​ Printer​ ให้กับทุกรายแต่จะดูเป็นรายกรณีไป

          ดวงตาปลอมชั่วคราว หรือ ดวงตาประดิษฐ์ ไม่ได้มีผลเสียแต่อย่างใด สามารถใส่เป็นเวลานานได้ และถอดออกมาทำความสะอาดได้ เหมือนกับการใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งผู้ที่จะได้รับดวงตาประดิษฐ์จะเป็นผู้ที่กำลังรอคิวในขั้นสุดท้ายก่อนเปลี่ยนเป็นดวงตาถาวรแล้ว

          ล่าสุด ‘นวัตกรรมสหสาขาศูนย์ดวงตาประดิษฐ์ธรรมศาสตร์ ของศูนย์ตาธรรมศาสตร์’ ยังได้รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีเด่น ประจำปี 2563 ประเภทนวัตกรรมการบริการ จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2563 ซึ่งศูนย์ตาธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลนี้ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยในปี 2562 ได้รับรางวัลจากผลงาน ‘ดนตรีบำบัดในการสลายต้อกระจก’ ของศูนย์ต้อกระจกธรรมศาสตร์  

          “ศูนย์ดวงตาประดิษฐ์ ได้เริ่มทำ 3D Printer มาได้ 1 ปีแล้ว และรางวัลนี้เราได้จากการร่วมแรงร่วมใจของสหวิชาชีพในการนำนวัตกรรม 3D Printer มาทำตาปลอมชั่วคราว และในวันข้างหน้า เราคาดหวังว่าเมื่อมีการพัฒนาต่อยอด ตาปลอมชั่วคราวหรือดวงตาประดิษฐ์ จะมีความคงทนและสามารถใช้เป็นตาปลอมถาวรให้กับผู้ป่วยต่อไปได้” หัวหน้าศูนย์ตาธรรมศาสตร์ กล่าว

          ทั้งนี้ ศูนย์ตาธรรมศาสตร์ จัดตั้งขึ้นในปี 2547 เพื่อมุ่งสู่การเป็น Excellence Center ของประเทศและภูมิภาค และเพิ่มคุณภาพทั้งการให้บริการ และงานวิชาการ เนื่องจากในปีดังกล่าว สาขาจักษุวิทยาได้เริ่มมีการพัฒนาระบบบริการและมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยทางตา ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการที่งานจักษุวิทยาเพิ่มมากขึ้น

­­