Loading...

รับมือไวรัส RSV อาการป่วยคล้ายหวัด ระบาดหนักในเด็กเล็ก

เชื้อไวรัส RSV มักระบาดหนักในช่วงปลายฝนต้นหนาว แม้ว่าจะมีอาการป่วยคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดา แต่อันตรายยิ่งกว่า แพทย์ธรรมศาสตร์แนะวิธีป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

  

     ปลายฝนต้นหนาวอย่างนี้ บุตรหลานของผู้ปกครองหลายท่านอาจจะเป็นไข้หวัดไม่สบายกันบ่อย ทว่าอยากให้พึงระวังกันอีกสักนิด เพราะนั่นอาจจะไม่ใช่แค่ไข้หวัดธรรมดาที่เป็นแล้วจะหายได้เองเหมือนปกติทั่วไป เพราะช่วงนี้เชื้อไวรัส RSV ที่มีลักษณะอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดากำลังระบาดหนักในเด็กเล็ก ซึ่งสามารถเป็นต้นเหตุคร่าชีวิตบุตรหลานท่านได้

     รศ.พญ.พรอำภา บรรจงมณี ภาควิชากุมารศาสตร์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เชื้อไวรัส Respiratory Syncytial Virus หรือที่เราเรียกว่า ‘ไวรัส RSV’ พบการระบาดในประเทศไทยมานานหลายสิบปี เนื่องจากไวรัสชนิดนี้จะแพร่กระจายได้ดีในสภาวะอากาศชื้น ดังนั้นประเทศไทยจึงพบการระบาดหนักช่วงฤดูฝนจนถึงเริ่มเข้าฤดูหนาว คือช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม แต่ว่าในปี 2563 นี้ หน้าฝนมาช้ากว่าปกติจึงทำให้พบการระบาดของเชื้อไวรัสในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย

     ‘ไวรัส RSV’ เป็นไวรัสชนิดที่มีเปลือกหุ้ม มี 2 สายพันธุ์ คือ A และ B ในแต่ละสายพันธุ์จะมีสายพันธุ์แยกย่อยออกไปอีก ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์นี้มีลักษณะของการก่อโรคไม่ต่างกัน แต่คนที่ติดเชื้อไวรัส RSV เป็นครั้งแรกส่วนใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งในเด็กและผู้ใหญ่ก็มีสามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้เหมือนกัน หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรงอาการป่วยจะหายได้เอง แต่อาการจะรุนแรงต่อเมื่อเกิดในเด็กเล็ก เด็กที่คลอดก่อนกําหนด และกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจําตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ ซึ่งผู้ใหญ่ที่เคยเป็นในตอนเด็กก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกในตอนโต

     เนื่องจากการติดเชื้อไวรัส RSV ระยะเริ่มต้นนั้นใช้เวลาในการฝักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยแล้วก็จะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นานขึ้นอีกประมาณ 3-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากการมีน้ำมูก จาม ไอ ทําให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองรู้ตัวช้า ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการของลูกหลานอย่างใกล้ชิด และต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มด้วย เช่น อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ไอ จาม มีเสมหะจํานวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ

     เชื้อไวรัสนี้ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก เสมหะของผู้ป่วย เป็นต้น สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอจามของผู้ป่วย ดังนั้นการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ RSV มีดังนี้

  1. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพราะการล้างมือนอกจากจะลดเชื้อ RSV และเชื้ออื่น ๆ ที่ติดอาจติดมากับมือได้

  2. ใช้แอลกอฮอล์เจลถูมือ

  3. หลีกเลี่ยงการพาเด็ก ๆ ทั้งสบายดีหรือป่วยไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด

  4. ทําความสะอาดบ้าน รวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจํา

  5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ทารกที่สูดดมควันบุหรี่เข้าไปมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส RSV และพบอาการที่รุนแรงได้มากกว่า

  6. ควรรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำมาก ๆ และให้เด็กพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลา

  7.เมื่อบุตรหลานมีอาการป่วยเป็นไข้หวัด ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ

     “เบื้องต้นไวรัส RSV ยังไม่มีวัคซีนสําหรับป้องกัน ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีการรักษาไปตามอาการ รักษา ประคับประคอง ไม่ว่าจะเป็นการให้ยาลดไข้ หรือในเด็กบางรายที่มีลักษณะของหลอดลมตีบ ก็อาจจะมีการให้ ยาพ่นเพิ่มเพื่อขยายหลอดลม รวมถึงการเคาะปอดและดูดเสมหะ” รศ.พญ.พรอำภา กล่าวทิ้งท้าย