Loading...

Thammasat Open House 2019 ค้นหาตัวตน ค้นพบจุดหมาย สู่มหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพ

ธรรมศาสตร์เปิดบ้าน Freedom & Sustainability ประกาศเดินหน้าสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ใช้ดิจิตอลไวร์เลสเทคโนโลยี - Active Learning เตรียมพร้อมสู่ยุคปัญญาประดิษฐ์

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

  

 

          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเปิดบ้านวิชาการ “ค้นหาตัวตน ค้นพบจุดหมาย สู่มหาวิทยาลัยแห่งเสรีภาพและความยั่งยืน”: Thammasat Open House Freedom & Sustainability ประจำปี 2562 ขึ้นเมื่อวันที่ 6 - 7 พฤศจิกายน 2562 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิด ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีนักเรียนระดับชั้นมัธยมและผู้ปกครองให้ความสนใจและเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

          บรรยากาศการจัดงานเป็นไปอย่างคึกคัก นักเรียนและผู้ปกครองเนืองแน่นศูนย์ประชุมฯ เพื่อเยี่ยมชมบูธนิทรรศการแนะแนวการศึกษาจากคณาจารย์และรุ่นพี่คณะต่าง ๆ ตลอดจนให้ความสำคัญกับกิจกรรมหลักและเวทีเสวนาวิชาการตลอดทั้งวัน

          รองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับเข้าสู่งานตอนหนึ่งว่า งาน Thammasat Open House ปีนี้มีชื่อคอนเซ็ปต์ว่า Freedom & Sustainability โดย Freedom หรือเสรีภาพ นับเป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทุกยุคทุกสมัย เพราะสติปัญญาไม่มีทางเกิดได้ถ้าไม่มีเสรีภาพทางความคิด และนวัตกรรมทั้งหลายที่ขับเคลื่อนสังคมและมนุษยชาติก็เกิดได้แต่โดยการคิดและลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ทั้งสิ้น

          สำหรับ Sustainability หรือความยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาที่สำคัญในปัจจุบัน และมหาวิทยาลัยก็ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังมาโดยตลอด อาทิ โครงการโซลาร์รูฟท็อปที่ใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชีย การยกเลิกใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

          “สิ่งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังทำและต้องทำให้มากยิ่งขึ้น คือเรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 4 โดยในยุคที่ทักษะในการหาความรู้และแก้ปัญหาสำคัญกว่าตัวความรู้ ในยุคสมัยที่ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาแทนที่ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนมาเป็น Active Learning การเรียนข้ามสาขา การปรับตัวเองไปสู่มหาวิทยาลัย 4.0 ที่ใช้ดิจิตอลไวร์เลสเทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่นักเรียนจะได้เข้ามาสัมผัสในมหาวิทยาลัยแห่งนี้” รองศาสตราจารย์เกศินี กล่าว

          สำหรับ กิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก คือการเปิดปราศรัย “นโยบายเพื่อประชาชนและความยั่งยืน TU Resolution Talk” จำนวน 5 นโยบาย โดยผู้ผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย จากผู้สมัครทั้งหมดกว่า 300 ราย ซึ่งนโยบายดังกล่าวเป็นการจำลองนโยบายที่สามารถทำได้ทันที หากนักศึกษาเหล่านั้นได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย นโยบาย Solar For All นโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงาน นโยบาย Community Hall for People นโยบายการจัดการและควบคุมขยะพลาสติก และนโยบายจ้างงานผู้เคยทำความผิด

         ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการโหวตให้ชนะเลิศได้แก่ นายศักดิ์นนท์ จงภักดี นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ซึ่งเสนอนโยบาย “จ้างงานผู้เคยกระทำความผิด” โดยมีสาระสำคัญตอนหนึ่งคือ ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยตัวเลขปี 2551 พบว่ามีกว่า 200,000 ราย และเพิ่มเป็นกว่า 300,000 ราย ในปัจจุบัน

          “ตัวเลขที่เพิ่มสูงขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการทำความผิดซ้ำ ฉะนั้นรัฐและเอกชนควรร่วมกันสร้างแรงจูงใจเพื่อที่จะสร้างงาน สร้างโอกาส ให้แก่ผู้ที่เคยผ่านการคุมขัง เพื่อให้เขาเหล่านั้นที่ยืนในสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยแก้ปัญหาการกระทำผิดซ้ำได้” นายศักดิ์นนท์ กล่าว

          นายศักดิ์นนท์ กล่าวอีกว่า หากจะทำให้นโยบายนี้สำเร็จ จำเป็นต้องเริ่มต้นตั้งแต่ในระดับทัณฑสถาน โดยการจัดการอบรม ฝีกอาชีพ ที่ต้องตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน ซึ่งจะช่วยเป็นทุนให้กับผู้ต้องขังหลังจากพ้นโทษ ขณะเดียวกันภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน หามาตรการจูงใจที่ไม่ใช่การบังคับ อาทิ การลดภาษี การเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางธุรกิจให้กับภาคเอกชนที่รับอดีตผู้ต้องขังเข้าทำงาน

          นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ เสวนาการเตรียมความพร้อมสำหรับ TCAS เสวนา Freedom to Speak แฟชั่นโชว์ Mission No Emission พันธกิจไร้มลพิษ กิจกรรม CPR Workshop โดยนักศึกษาจากคณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ และกิจกรรมสนุก ๆ รวมถึงการแสดงจากรุ่นพี่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวัน