Loading...

เปิดศึกประชันวิสัยทัศน์นักศึกษา เสนอนโยบายเพื่อ ‘ประชาชน-ความยั่งยืน’

 

เวทีปราศรัยประชันวิสัยทัศน์ “นโยบายเพื่อประชาชนและความยั่งยืน TU Resolution Talk” ในงาน Thammasat Open House 2019

วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2562

  

          เสียงปรบมือเกรียวกราวต้อนรับนักศึกษา 5 คนสุดท้าย จากผู้สมัครกว่า 300 คน ที่กำลังจะขึ้นเวทีปราศรัยประชันวิสัยทัศน์ “นโยบายเพื่อประชาชนและความยั่งยืน TU Resolution Talk” ยิ่งทำให้งาน Thammasat Open House Freedom & Sustainability 2019 คึกคักสุดขีด

          สาเหตุที่ทำให้ผู้เข้าร่วมงานให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมนี้เป็นการจำลองบทบาทให้นักศึกษา “หาเสียง” ผ่านนโยบายที่จะทำทันทีหากได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

          นโยบายการจ้างงานผู้กระทำความผิด ที่เสนอโดย นายศักดินนท์ จงภักดี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 คือนโยบายที่รับคะแนนโหวตให้เป็นผู้ชนะการประกวดในครั้งนี้ โดยเขามองว่า ทุกวันนี้จำนวนผู้ต้องขังในทัณฑสถานมีมากขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากผู้กระทำความผิดซ้ำ จึงอยากเสนอนโยบาย “การจ้างงานผู้กระทำความผิด” เพื่อสร้างงาน สร้างโอกาส ให้ผู้เคยกระทำผิดกลับมามีที่ยืนในสังคม

          ศักดินนท์ ยังบอกอีกว่า นโยบายนี้จะสำเร็จได้ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมกันสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงคนกลุ่มนี้เข้าสู่การทำงาน โดยนโยบายจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ผู้ต้องขังอยู่ในทัณฑสถาน มีการพัฒนาศักยภาพและฝึกอบรมที่ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงาน มีการรับประกันมาตรฐานฝีมือเพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการ ขณะที่ภาครัฐจะสนับสนุนการสร้างแรงจูงใจแก่ผู้ประกอบการ โดยไม่ใช่เป็นการบังคับ อาจจะเป็นการลดภาษี หรือการให้สิทธิประโยชน์บางรายการ

          สำหรับอีก 4 นโยบายก็มีความน่าสนใจไม่น้อย เริ่มจาก นโยบาย Solar For All ซึ่งนำเสนอโดย        น.ส.ณัฐฐินันท์ สุทเสน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ที่สำรวจข้อมูลพบว่าปริมาณแสงแดดของประเทศไทยเพียงพอที่จะผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับคนทั่วประเทศได้ จึงเสนอ “นโยบาย Solar For All” ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์แบบผลึกที่มีอายุการใช้งาน 20 ปี ในส่วนกลางเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อย ๆ กระจายไฟฟ้าไปยังครัวเรือนตามหมู่บ้านต่าง ๆ

          ณัฐฐินันท์ เชื่อว่า นโยบาย Solar For All จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมาก ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านทรัพยากร แก้ปัญหาหมู่บ้านที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจากการซื้อไฟฟ้า และสร้างรายได้ให้กับประชาชน เกิดอาชีพ และที่สำคัญคือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย

          ถัดมาคือมุมมองของ น.ส.สัณห์พิชา แสงมาลา นักศึกษาคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ที่เสนอ นโยบายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงาน เพราะเธอเห็นปัญหาสังคมผู้สูงอายุในอีก 11 ข้างหน้า ที่สัดส่วนผู้สูงอายุจะมีมากถึง 26.9% ของประชากรทั้งหมด และพบว่าปัจจุบันมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่จำเป็นต้องหารายได้ และผันตัวเองไปเป็นแรงงานนอกระบบ

          “เมื่อผู้สูงอายุออกไปหางานทำ ส่วนใหญ่ก็จะไปเป็นแรงงานนอกระบบ ไม่มีสวัสดิการ ได้รับค่าจ้างต่ำ   เมื่อบาดเจ็บจากการทำงานก็ไม่มีคนดูแล ฉะนั้นดิฉันเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างระบบให้ทั้งภาครัฐและเอกชนรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน ซึ่งจะทำให้เขาได้เป็น “แรงงานในระบบ” ที่มีคนดูแล เพิ่มสวัสดิการ และสร้างงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ” สัณห์พิชา ระบุ

          อีกหนึ่งนโยบายก็เฉียบแหลมและเท่าทันยุคไม่แพ้กัน นั่นคือ นโยบาย Community hall for people ที่เสนอโดย นายธรรมสรณ์ ญาณะณิสสร คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 โดยเขาต้องการที่จะสร้างศูนย์กลางชุมชนให้คนทุกเพศ-ทุกวัย สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ส่งผลให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน สร้างเศรษฐกิจ และสร้างความยั่งยืนด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และใช้ทรัพยากรร่วมกัน

          ธรรมสรณ์ บอกว่า เพื่อให้นโยบายเกิดขึ้นจริง จำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลักๆ คือ 1. Co-working Space 2. พื้นที่สีเขียว 3. เวทีการแสดง 4. ร้านค้า โดยทั้ง 4 องค์ประกอบจะช่วยให้พื้นที่มีชีวิต ไม่ร้าง อย่างไรก็ตามด้วยท้องถิ่นในแต่ละท้องที่มีความแตกต่างกัน จึงสามารถเพิ่มเติมองค์ประกอบอื่น ๆ เข้ามาได้อีก

          สุดท้ายคือข้อเสนอที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนและอยู่ในกระแสมากที่สุด นั่นก็คือ นโยบายการจัดการและควบคุมขยะพลาสติกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ของ นายกฤษฏิ์ วณิชวิชากรกิจ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ที่แสดงความกังวลว่าการรณรงค์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมประชาชนได้จริง

          ฉะนั้นจึงควรแก้ไขด้วยการออกกฎหมายในเฟสแรก เพื่อควบคุมไม่ให้ร้านค้าปลีกแถมถุงพลาสติกให้กับลูกค้าฟรี ๆ รวมทั้งห้ามไม่ให้ร้านอาหารใช้หลอดพลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง จากนั้นในเฟสต่อมาต้องมีการควบคุมพลาสติกในเชิงธุรกิจ ลดหย่อนภาษีให้ธุรกิจขนาดเล็กเพื่อสนับสนุนให้เปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้ใช้พืชเศรษฐกิจต่าง ๆ มาทดแทนการใช้พลาสติก และเฟสสุดท้ายคือการสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยว ด้วยการสนับสนุนให้สตรีทฟู้ดเลิกใช้ถุงพลาสติก

         ทั้งหมดนี้คือภาพเล็ก ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจ-ความใส่ใจ และประเด็นปัญหาที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญ