Loading...

ธรรมศาสตร์ คว้า “นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ” ปี 63 แนะมหาวิทยาลัยเปิดกว้างแหล่งทุน ตปท.-เอกชน

 

รองอธิการบดีคว้านักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา ระบุเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือทำเลทองสำหรับขอทุนวิจัย แนะมหาวิทยาลัยผนึกกำลังต่างชาติ-เอกชน ร่วมแก้ปัญหาประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

  

           สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดพิธีประกาศเชิดชูเกียรติและมอบรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2563 ให้แก่นักวิจัย 5 สาขา รวมทั้งสิ้น 9 ราย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 โดยผู้ที่ได้รับรางวัลในสาขาการศึกษาคือ ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

          ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ เปิดเผยว่า ประโยชน์สูงสุดของงานวิจัย คือการนำไปใช้แก้ปัญหาประเทศ ทั้งปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการคำตอบอย่างทันทีทันใด และปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนซึ่งต้องใช้งานวิจัยหลายชิ้นมาประกอบกันจนเกิดเป็นภาพใหญ่

          สำหรับงานวิจัยที่จะประสบผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจาก 4 ภาคส่วน ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัย ในฐานะแหล่งรวมองค์ความรู้และบุคลากร 2. รัฐบาล ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณและผู้กำหนดโจทย์การวิจัยจากปัญหาของประเทศ 3. ภาคธุรกิจเอกชน ในฐานะผู้ที่จะนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปต่อยอด 4. ภาคชุมชน ในฐานะผู้ที่สะท้อนรากฐานของปัญหาได้ชัดเจนที่สุด

          ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อพูดถึงงานวิจัย สังคมมักจะตั้งความหวังไว้ที่มหาวิทยาลัยมากที่สุด และเพื่อที่จะได้งานวิจัยที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องมีความพร้อมทั้งงบประมาณและกำลังคน แต่ในสถานการณ์ที่รัฐบาลมีงบประมาณที่จำกัด มหาวิทยาลัยอาจต้องปรับตัวมาเป็นผู้หาทุนวิจัยเอง ซึ่งปัจจุบันมีความเปิดกว้างไม่ว่าจะเป็น Co-funding กับภาคเอกชน หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับแหล่งทุนต่างประเทศ

          “ในมุมมองของนักวิจัยนานาชาติ เห็นตรงกันว่าพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสำคัญในระดับโลก เต็มไปด้วยความท้าทาย มีความหลากหลาย มีโจทย์การวิจัยจำนวนมาก ที่ตั้งของประเทศไทยก็อยู่ในที่ที่เหมาะสม นี่จึงเป็นโอกาสดีของทุกมหาวิทยาลัย” ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ กล่าว

          นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติรายนี้ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการทำงานร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ทุน Bualuang ASEAN Chair Professorship ที่ให้ในลักษณะ Co-funding ระหว่างธนาคารกรุงเทพกับธรรมศาสตร์ โดยจะมอบให้กับนักวิจัยระดับโลกจำนวน 30 ราย เข้ามาทำงานร่วมกับนักวิจัยของไทย นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะมีงานวิจัยใหม่ ๆ อีกไม่ต่ำกว่า 30 ประเด็น เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาชาติ และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพของนักวิจัยไทยไปพร้อมกันด้วย

          อนึ่ง ภายในงานเดียวกันยังมีการมอบรางวัลอื่น ๆ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 15 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการศึกษา 1 รางวัล รางวัลผลงานวิจัย 8 รางวัล รางวัลวิทยานิพนธ์ 1 รางวัล รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น 4 รางวัล และรางวัลผลงานวิจัยอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ร่วมวิจัย 1 รางวัล ดังนี้

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 1 รางวัล

          1. ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ จากคณะทันตแพทยศาสตร์ (สาขาการศึกษา)

รางวัลผลงานวิจัย จำนวน 8 รางวัล

          *รางวัลระดับดี

          1. ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาชุดน้ำยาตรวจจีโนไทป์ของหมูเลือดระบบ Diego เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิด Alloimmunization ของประชากรไทย” โดย ศ.พิเศษ พลตรีหญิง ดร.อ้อยทิพย์ ณ ถลาง จากคณะสหเวชศาสตร์

          2. ผลงานวิจัยเรื่อง “สัญลักษณ์พระราหูในงานศิลปะ : การสืบทอด การสร้างสรรค์และความสำคัญด้านคติความเชื่อในสังคมไทย” โดย ผศ.ดร.ประเสริฐ รุนรา จากคณะศิลปศาสตร์

          3. ผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการพัฒนาระบบสอบสวนในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบและคดีค้ามนุษย์ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับระบบไต่สวนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559” โดย ศ.ณรงค์ ใจหาญ จากคณะนิติศาสตร์

          4. ผลงานวิจัยเรื่อง “โครงการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศเพื่อจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยการรับรองเพศ” โดย ผศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล ออรุ่งโรจน์ จากคณะนิติศาสตร์

          5. ผลงานวิจัยเรื่อง “กลยุทธ์คลัสเตอร์กับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม” โดย ศ.ดร.จารุณี วงศ์ลิมปิยะรัตน์ จากวิทยาลัยนวัตกรรม

          6. ผลงานวิจัยเรื่อง “จากรักโรแมนติกสู่การต่อสู้ทางชนชั้น : อ่าน “ส่งชู้สอนสาว” วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไตดำในเวียดนาม โดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

          7. ผลงานวิจัยเรื่อง “จากนาข้าวเป็นสวนยางพารา : การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพและความั่นคงทางอาหารของครัวเรือนริมแม่น้ำโขง จังหวัดบึงกาฬ” โดย ผศ.ทรงชัย ทองปาน จากคณะศิลปศาสตร์

          8. ผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบการสอนเขียนบทความวิจัยภาษาอังกฤษสายวิทยาศาสตร์” โดย ผศ.ดร.เสน่ห์ ทองรินทร์ จากคณะศิลปศาสตร์

รางวัลวิทยานิพนธ์ จำนวน 1 รางวัล

          *รางวัลระดับดี

          1. วิทยานิพนธ์เรื่อง “การปริวรรตคำศัพท์ในสังคมโลกให้เป็นท้องถิ่น : ผลกระทบต่อการกำหนดและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย” โดย ดร.สรสิช สว่างศิลป์ จากคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จำนวน 4 รางวัล

           *รางวัลระดับดี

          1. ผลงานเรื่อง “แอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์บนสมาร์ตโฟนเพื่อระบุยี่ห้อปืนที่ใช้ก่อเหตุอย่างอัตโนมัติโดยอาศัยร่องเกลียว สันเกลียวที่ปรากฏบนหัวกระสุนที่เก็บได้ในที่เกิดเหตุ” โดย รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต จากคณะวิศวกรรมศาสตร์

          *รางวัลประกาศเกียรติคุณ

          1. ผลงานเรื่อง “เครื่องวัดแสงหกเหลี่ยมสำหรับการวิเคราะห์มัลติคัลเลอริเมทรีแบบประหยัดสาร” โดย รศ.ดร.นภาพร ยังวิเศษ จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

          2. ผลงานเรื่อง “อาษาเฟรมเวิร์ค” โดย ผศ.ดร.อาษา ตั้งจิตสมคิด จากวิทยาลัยนวัตกรรม

          3. ผลงานเรื่อง “นวัตกรรมส่งเสริมความสำเร็จในการให้นมแม่และตรวจวัดปริมาณน้ำนม” โดย อาจารย์สุภาวดี ทับกล่ำ จากคณะพยาบาลศาสตร์

          และรางวัลผลงานวิจัยที่อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้ร่วมวิจัยคือ รางวัลระดับดีมาก จำนวน 1 รางวัล ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “แนวทางการปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและวิเคราะห์การกระจายรายได้ของผู้มีเงินได้พึงประเมิน” โดย ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ (ผู้ร่วมวิจัย) และ ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ (ผู้ร่วมวิจัย)